คอลัมนิสต์

'45 ปี' ความตายชาวนา ควันกระสุนไม่เคยจาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 23-24 พ.ย. 62

 

 

***************************

 

กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม”

 

เพลงนี้มีมานานแล้ว แต่จนถึงวันนี้ใครเรืองอำนาจไม่รู้ รู้แต่เกษตรกรชาวนาไทยทำไมยังหนังหุ้มกระดูก ก้มหน้าตากแดดบนที่ดินเช่าเขาทำทั้งปีทั้งชาติ!

 

พูดแล้วก็ชวนให้นึกถึง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ที่เคยกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในประเด็นเหล่านี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เคยชนะเลย

 

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

 

 

ตอนนี้สหพันธ์ชาวชาวชาวไร่แห่งประเทศไทยกำลังถูกพูดถึงอีกครั้งเนื่องในโอกาสครบ “45 ปี” ของการกำเนิดสหพันธ์ชาวนาฯ กับงาน “มหกรรมที่ดินคือชีวิต” ครั้งที่ 2 จากการผนึกกำลังของสถาบันทางวิชาการ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

 

หากวันนี้ท่ามกลางกระแสที่ผู้มีอำนาจ ออกลีลาแอ็กชั่นว่ากำลัง “สอบกราวรูด” นักการเมืองที่ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. อย่างไม่ถูกกฎหมาย หลังข่าวฟาร์มไก่ 1,700 ไร่ถูกละเลงความจริง

 

เราจักมีความหวังได้หรือไม่ว่าที่สุดเจตนาของการก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ที่กลุ่มคนชุดแรกได้ล้มหายตายจากไปนานแล้ว แต่ชาวนาไทยรุ่นหลังจะไม่ต้องแบกรับมรดกแห่งความทุกข์ยาก อยุติธรรมอีกต่อไป

 

หรือที่สุดแล้ว...นี่ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำสีจางๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

 

 

 

ปฐมบทแห่งทุกข์

 

อย่างที่คนไทยรู้กันดีว่าเหตุการณ์ “ตุลาวิปโยค” หรือ “6 ตุลา 2519” นั้น มีความรุนแรงและมีสาเหตุมาจากอะไรแต่ใครจะรู้บ้างว่าระหว่างนั้นยังมีความเคลื่อนไหวของมวลชนในกลุ่มต่างๆ อย่างมากมาย

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

 

 

 

กลุ่มหนึ่งที่คนรุ่นใหม่เราๆ อาจนึกไม่ถึงคือ “กลุ่มชาวไร่ชาวนา” ที่พูดได้ว่าเริ่มตื่นตัวมาก่อนตั้งแต่ช่วงปี 2516 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาความทุกข์ยากที่มีมาช้านาน เนื่องจากโครงสร้างหลักของประเทศยังเป็นภาคชนบท เกษตรกรที่เป็นชาวนาชาวไร่มีมากถึง 80% ของประชากร

 

พูดง่ายๆ ว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากแค้น จากปัญหาหลักคือ “ไม่มีที่นาทำกิน” เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีดและฉ้อโกงเอาไป

 

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

 

 

ดังนั้นเมื่อเกิดการต่อสู้ในกรณี 14 ตุลาฯ ซึ่งถือเป็นประกายไฟแรก แล้วฝ่ายนักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะ ก็ได้สร้างผลสะเทือนแก่ชนชั้นชาวนาอย่างมาก ว่าพวกเขาอาจจะมีโอกาสได้รับชัยชนะบ้าง จากนั้นกระบวนการร้องทุกข์ต่อสู้ของชาวนาจึงค่อยๆ ก่อตัวและเพิ่มทวีขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่

 

จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2517 ชาวไร่ชาวนาหลายพันคนจากจังหวัดในภาคกลาง เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สระบุรี ฯลฯ ตัดสินใจเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหา โดยชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาล

 

สาระสำคัญบางส่วนของขอเรียกร้อง คือ ให้รัฐบาลจัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ให้ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว ควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านาที่ว่ากันว่ามีนัยสำคัญมากที่สุดที่ส่งผลให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อให้เกิดการแก้ไข

 

 

 

 

ทวง “สัญญา” ปลายฝน

 

ข้อมูลจาก “บันทึก 6 ตุลา https://doct6.com” เล่าว่า ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ สัญญา ธรรมศักดิ์” ได้ออกปากรับข้อเสนอและสัญญาว่าจะหาทางแก้ไข ชาวนาจึงกลับบ้านไปด้วยความหวัง

 

แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอของชาวนาจะยังไม่ได้รับการตอบสนองจนต้องทิ้งเคียว ทิ้งนา ออกเดินทางมาประท้วงอีกครั้งเป็นหนสองในช่วงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน

 

ที่สุดวันที่ 4 มิถุนายน 2517 รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน (ก.ส.ส.) แต่ที่สุดก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

สัญลักษณ์ของกลุ่ม

 

 

เหมือนไฟกำลังโหม ที่สุดวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ชาวนาจำนวนมากจากจังหวัดต่างๆ ก็ได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ อีกครั้ง และก็ได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเช่นเคย

 

และคราวนี้ชาวนาไทยต้องกลืนเลือดพูด พวกเขาร้องเรียนต่อรัฐบาลว่าการมาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจะคืนบัตรประชาชนและลาออกจากการเป็นคนไทย

 

วันที่ 2 กันยายน 2517 ตัวแทนของชาวนาย้ำว่าถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะคืนบัตรประชาชน และจะประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเอง ห้ามราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

เวลานั้นรัฐบาลได้ออกประกาศว่าถ้าชาวนาทำเช่นนั้นจะโดนข้อหา “กบฏ” แต่กระนั้นตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนมากกว่า 2,000 ใบเพื่อคืนให้แก่รัฐบาล

 

และเพื่อให้การรวมตัวดูทรงพลัง ต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 ชาวนาจึงได้ตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พวกเขามีคำขวัญของกลุ่มว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” มี ใช่ วังตะกู” ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานคนแรก

 

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

ใช่ วังตะกู

 

 

 

 

 

 

คันไถรวมพลัง

 

หลังมี “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” กลุ่มชาวนายังคงจัดการชุมนุมต่อเนื่องที่ท้องสนามหลวง โดยร่วมมือกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร ซึ่งรู้จักกันในนาม “ขบวนการสามประสาน”

 

ที่สุดก็มีการยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ชาวนาได้วางยุทธศาสตร์ว่าจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับแรก และถ้าไม่ได้ผลจะถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่วันนั้นรัฐบาลได้รับข้อเสนอ 6 ข้อ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจังจึงทำให้เกิดการเดินขบวนใหญ่ของชาวนาในวันที่ 29 พฤศจิกายน อีกครั้ง

 

ที่สุดดูเหมือนว่ากลุ่มชาวนาชาวไร่จะทำ (เกือบๆ) สำเร็จ โดยรอยต่อช่วงนี้นับจากรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มาสู่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากพรรคกิจสังคม นั้นได้เกิดการปรับปรุงนโยบายหลายประการ

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

ภาพจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

 

 

 

เช่น การตราพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านาฉบับใหม่ พ.ศ.2517 การจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  พ.ศ. 2518 เป็นต้น

 

แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมามาตรการเหล่านี้ก็กลายเป็นเพียงมาตรการในการผ่อนปัญหา ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถแก้ปัญหาให้ชาวนาได้อย่างแท้จริงเลย และที่สุด การเคลื่อนไหวของชาวนาที่ดูแข็งแรงจริงจัง ก็เหมือนว่าจะสร้างความวิตกกังวลไปยังชนชั้น กลุ่มอนุรักษนิยม ไปจนถึงผู้นำระดับท้องถิ่น จนเป็นที่มาของการตอบโต้ที่น่ากลัวยิ่ง นั่นคือ “การลอบสังหารชาวนา”!!

 

ว่ากันว่าขบวนการล่าสังหารชาวนาไม่ใช่กลุ่มไหนเลยนอกจากขบวนการที่เรียกกันว่า ขวาพิฆาตซ้าย”

 

 

 

ความตายของชาวนา

 

จากบทสัมภาษณ์ของ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์” ผู้ริเริ่ม “โครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” กล่าวในรายการ “ใต้โต๊ะนักข่าว” ของเว็บไซต์ประชาไทย ถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยกับการลอบสังหารไว้ว่า นี่คือ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม” ที่อยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมไทย

 

“...การต่อสู้เรื่องค่าเช่านาทำให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงกับนายทุนเจ้าของที่ดิน ซึ่งร่วมมือกับกลไกรัฐท้องถิ่น ในขณะเดียวกันภาคนโยบายส่วนบนก็ดูเหมือนกับหลิ่วตาให้ความรุนแรง หรือการไม่แก้ไขปัญหาเหล่านั้นแม้ว่าจะมีพ.ร.บ.ค่าเช่านาแล้วก็ตาม แต่คิดว่าปัญหาใจกลางคือการรับไม่ได้ต่อการลุกขึ้นสู้ของชาวนาชาวไร่...”

 

อย่างไรก็ดีในฉากหลังภายใต้เงามืดขบวนการชาวนาเริ่มถูกปรามปรามเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2517-2522 มีผู้นำชาวนาเสียชีวิต 33 ราย และหายสาบสูญ 3 ราย เฉพาะในปี 2518 มีชาวนาถูกลอบสังหาร 28 ราย!

 

 

 

'45 ปี' ความตายชาวนา  ควันกระสุนไม่เคยจาง

จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ คนสุดท้าย

 

 

 

หากแต่ข้อมูลจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ มีจำนวนชาวนาชาวไร่ทั้งระดับแกนนำและประชาชนรวมแล้วถูกสังหารถึง 46 ราย! เมื่อชาวนาถูกตอบโต้ถึงขั้นกุดหัว ไม่เห็นหัว สิ่งนี้ก็เป็นชนวนความรุนแรงต่อเนื่อง ผนวกกับฝ่ายการเมืองก็เกิดความวุ่นวายจึงนำไปสู่การสบช่องของฝ่ายทหารเข้ามายึดอำนาจ (รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์)  จนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 ประชาชนนักต่อสู้ นักศึกษาต้องหลบหนีเข้าป่า

 

ขณะเดียวกันสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยก็ต้องลดบทบาทลงมาและจบลงอย่างสิ้นเชิงนับแต่การลอบสังหาร จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ คนสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ “45 ปี" ยังน้อยไป เพราะปัญหาระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่เกษตรกรชาวไร่ชาวนา ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ไร้ที่ทำกินทั้งที่ผืนดินเดียวกัน มันมีมานานกว่านั้น

 

*****************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ