ข่าว

ถ้าศาลเชื่อ ธนาธร จะเกิดอะไรตามมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถ้าศาลเชื่อ ธนาธร จะเกิดอะไรตามมา

 

 

          มีควันหลงจากคดีถือครองหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายธนาธรยังถือหุ้นสื่ออยู่ ณ วันสมัครรับเลือกตั้ง จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ต้องพ้นจากสมาชิกภาพการเป็นส.ส.นั้น เจ้าตัวก็ออกมาโต้ทันที 3-4 ข้อตามที่เป็นข่าวไปแล้ว

 

อ่านข่าว...  เปิด 3 แนววินิจฉัยร้อน ธนาธร รอด-ไม่รอด 

 

 

          ประเด็นหลักๆ ที่นายธนาธรออกมาตอบโต้ ซึ่งก็เคยพูดมาแล้วหลายครั้ง ก็เช่น การโอนหุ้นสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ปี 2562 แล้ว ส่วนการจดแจ้งรายการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 ล่าช้านั้น เป็นเรื่องปกติ ในอดีตก็เคยทำ


          ขณะที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย ก็ปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานไปหมดแล้ว ไม่ได้ตีพิมพ์นิตยสารแล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีสภาพเป็นสื่อแม้จะยังไม่ได้จดแจ้ง “ยกเลิกการพิมพ์” ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ก็ตาม


          เหตุผลลักษณะนี้ฟังเผินๆ ก็คงเคลิ้ม คล้ายๆ กับการไม่รีบนำเช็คไปขึ้นเงิน เพราะไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ภรรยานำเช็คไปขึ้นช้า ไม่ใช้คนอื่นไปขึ้นแทน ก็เป็นเรื่องในครอบครัวผม (ศาลยุ่งอะไร? ทำนองนั้น)


          จากประเด็นตอบโต้ของนายธนาธร มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ถ้าศาลเชื่อนายธนาธร จะเกิดอะไรขึ้นตามมา


          ข้อแรก สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ คดีที่บรรดา ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านถูกร้องว่าถือครองหุ้นสื่อ ศาลไม่ต้องรับพิจารณาหรือตัดสินเลย เพราะทุกคนจะสามารถทำเอกสารการโอนหุ้นย้อนหลัง ว่าได้โอนหุ้นไปหมดแล้วตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง มีเช็คสั่งจ่ายเป็นค่าหุ้นด้วยแต่ยังไม่นำไปขึ้นเงินเพราะยังไม่ว่างและไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน


          ข้อสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 ซึ่งรับรองว่าการโอนหุ้นนั้น แค่ทำบันทึกโอนกัน มีการลงนามระหว่างผู้โอน ผู้รับโอน และพยาน ก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว แต่ใช้อ้างยันกับบุคคลภายนอกไม่ได้ กฎหมายมาตรานี้จะไม่มีผลอะไรเลย เพราะหากโอนหุ้นแบบรู้กัน 2 คน หรือ 3 คนรวมพยาน แล้วอ้างยันกับบุคคลภายนอกได้ ก็ไม่ต้องมีกฎหมายมาตรานี้




          แต่คำถามคือทางการ หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากไหน อย่างไร ที่สำคัญการสมัครรับเลือกตั้งต้องการใช้ “เอกสารมหาชน” คือหลักฐานที่ต้องอ้างยันกับคนภายนอกได้ มิฉะนั้น กกต.จะใช้มาตรฐานอะไรในการตรวจสอบ


          ด้วยเหตุนี้ถ้าศาลเชื่อนายธนาธรว่าการโอนหุ้นมีผลทันทีเมื่อโอนตามที่อ้าง คือวันที่ 8 มกราคม ปี 2562 โดยไม่จำเป็นต้องไปจดแจ้ง หรือไม่ต้องมีหลักฐานทางราชการตรวจสอบ ต่อไปก็ไม่ต้องมีเงื่อนไขหรือลักษณะต้องห้ามเรื่องนี้ในการสมัครรับเลือกตั้ง เพราะกกต.ไม่รู้จะตรวจสอบจากอะไร หากสงสัย และถามไปยังผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครก็อาจไปทำเอกสารย้อนหลังได้ว่าโอนแล้วตั้งแต่วันนั้นวันนี้


          ข้อสังเกตในทางกฎหมายเพื่ออธิบายเรื่องนี้ก็คือใบหุ้น คือ “สิทธิเรียกร้อง” เป็นบุคคลสิทธิ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รับรองว่าแค่ทำบันทึกโอนกันก็สมบูรณ์แล้วก็จริง แต่เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ใช้อ้างยันกับคนนอกไม่ได้ ฉะนั้นการจะไปอ้างยันกับคนนอกต้องใช้ “เอกสารมหาชน” เท่านั้น


          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการตรวจสอบของทางราชการ หรือหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ต้องใช้มาตรฐานหรือกติกาตามที่กำหนดไว้ ถ้าอ้างเหตุผลเรื่องความชอบ-ไม่ชอบ หรือรสนิยมการลงทุน แล้วนำมาอ้าง เหมือนที่นายธนาธรพูด หน่วยงานตรวจสอบย่อมไม่มีหลักในการตรวจสอบ


          สมมุติง่ายๆ กฎหมายห้ามขับรถฝ่าไฟแดง ถ้าตำรวจต้องฟังเหตุผลคนที่ขับฝ่าไฟแดงทุกคนก่อนถึงจะลงโทษปรับได้ สุดท้ายก็จะไม่มีทางลงโทษปรับใครได้เลย เพราะทุกคนก็จะมีเหตุผลร้อยแปดในการกระทำผิดกฎหมาย หรือละเมิดกฎหมาย


          แต่แน่นอนว่า “ข้อยกเว้น” บางประการก็ต้องมี เช่น รถพยาบาล สามารถฝ่าไฟแดงได้ขณะพาผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาล แต่นั่นต้องเป็น “กติกา” ที่ตกลงร่วมกัน และทุกคนรับรู้ตรงกันก่อน ไม่ใช่รู้กันแค่ 2 คน หรือคนในครอบครัว แล้วจะนำมาอ้างกับบุคคลอื่น
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ