ข่าว

กทม.เพิ่มความสูงคันหินทางเท้ารถเข้าออกบ้านไม่ได้ใครรับผิดชอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.เพิ่มความสูงคันหินทางเท้า...รถยนต์เข้า-ออกบ้านไม่ได้ ใคร...รับผิดชอบ คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          เรื่องน่ารู้กับคดีปกครอง ... วันนี้ น่าสนใจครับ


          แม้ว่าจะเป็นข้อพิพาทในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ก็ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลถนนหนทางเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนอีกจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ ที่มีบ้านอยู่อาศัยหรือมีสถานประกอบการตั้งอยู่ริมถนน

 

อ่านข่าว...  ถูกสั่งเป็นผู้ทิ้งงาน : เพราะก่อสร้างไม่เสร็จโดยไม่มีเหตุอันสมควร 
 

 

 

          ข้อพิพาทในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของสถานประกอบการ ตั้งศูนย์ล้อรถยนต์ ประกอบกิจการมานานกว่า 26 ปีมาแล้ว และไม่เคยมีปัญหาในการเข้าออกระหว่างอาคารกับถนน เพราะได้ลดระดับคันหินทางเท้าเพื่อเป็นทางลาดหน้าอาคารสำหรับการเข้าออกของรถยนต์มาโดยตลอด (ซึ่งไม่ขัดหรือฝ่าฝืนระเบียบฉบับ พ.ศ.2522 และเป็นการใช้สอยทรัพย์สินเพื่อประกอบอาชีพตามมาตรา 1336 ปพพ.)


          ต่อมาปี 2541 กทม.ได้ปรับปรุงยกระดับผิวจราจรความยาวประมาณ 700 เมตร เพื่อให้สภาพทางกายภาพสอดคล้องกับสะพานข้ามแยก ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง และแก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมทั้งยกระดับทางเท้าเดิม (ซึ่งถือเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน) ที่อยู่ระหว่างอาคารกับถนนให้มีขอบคันหินสูงขึ้นอีก 25-30 เซนติเมตร โดยไม่ได้ลดระดับคันหินทางเท้าเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีใช้เป็นทางผ่านของรถยนต์เข้าออกภายในอาคารตามที่เคยใช้มาตลอด ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกบริเวณบ้านหรือสถานประกอบการได้


          ปัญหาคือ ในช่วงเวลานั้น กทม.ได้ออกระเบียบฉบับใหม่แตกต่างกับระเบียบฉบับ พ.ศ.2522 คือระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการขออนุญาตตัดคันหินทางเท้า ลดระดับคันหินทางเท้า และทำทางเชื่อมในที่สาธารณะ พ.ศ.2531 ซึ่งห้ามมิให้ลดคันหินทางเท้าเพิ่มเติม และผลจากการบังคับใช้ระเบียบฉบับ พ.ศ.2531 นี้ กทม.จึงไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการลดคันหินทางเท้าเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารได้เหมือนแต่ก่อน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ กทม. ลดระดับคันหินทางเท้าหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดีให้สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารได้ 

 

 




          ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ กทม. ปรับระดับทางเท้าหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดีให้สูงขึ้นตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกโดยมิได้ลดระดับคันหินทางเท้าเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีใช้เป็นทางผ่านของรถยนต์เข้าออกภายในอาคารตามที่เคยใช้มาตลอด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กทม.จึงต้องแก้ไขเยียวยาด้วยการลดระดับคันหินทางเท้าหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้รถยนต์ใช้เป็นทางผ่านเข้าออกอาคารได้ดังเดิม


          โดยศาลท่านให้เหตุผลว่าเพราะผู้ฟ้องคดีได้ใช้วิธีการลดคันหินทางเท้าเพื่อให้รถยนต์ผ่านทางเข้าไปในอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวของตนมาอยู่ก่อนแล้ว ระเบียบที่ออกมาภายหลังไม่อาจมีผลใช้บังคับให้เป็นการกระทบสิทธิการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดีที่มีมาก่อนหน้านั้นได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.598/2562)


          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ เป็นการวางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ถึงแม้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม แต่หน่วยงานของรัฐก็ไม่อาจใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ จะต้องใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสัมฤทธิ์ผล 


          และหากการใช้อำนาจนั้นล่วงละเมิดต่อสิทธิของปัจเจกชนที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้แล้ว หน่วยงานของรัฐย่อมมีหน้าที่ต้องแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย และจะนำกฎระเบียบที่ออกมาภายหลังมาใช้บังคับทำให้กระทบต่อสิทธิที่มีอยู่แล้วนั้นไม่ได้ 


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ