ข่าว

บุกหมู่บ้านตระกูลหลำโสะ ชาวบ้านถึงกับโอ๊ะ เก่งเหนือมนุษย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บุกหมู่บ้านตระกูลหลำโสะ ชาวบ้านถึงกับโอ๊ะ เก่งเหนือมนุษย์

 

 


          ควันหลงจากเหตุโจมตีป้อมจุดตรวจ ชรบ. ใน ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 ศพนั้น คือข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้กอเหตุ ข้อมูลจากตำรวจภูธรภาค 9 ระบุว่า คนร้ายที่ปฏิบัติการโหดฆ่าหมู่เป็นทีมผสมที่สนธิกำลังจาก “ทีมปัตตานี” กับ “ทีมยะลา”

 

อ่านข่าว...  ไฟใต้ที่ไม่จินตนาการ
 

 

 

          ที่น่าสนใจคือ “ทีมปัตตานี” ที่มี นายบูคอรี หลำโสะ ปรากฏชื่อเป็นแกนนำคนสำคัญ และน่าตกใจมากกว่านั้น เมื่อข้อมูลจากตำรวจเองก็ชี้ชัดว่า “ทีมปัตตานี” ซึ่งรวมถึง บูคอรี หลำโสะ และน้องชายของเขาอีก 2 คน นายรอซาลี หลำโสะ และ


          นายซอบรี หลำโสะ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงหลายรูปแบบ หลายคดี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางคดีอาจร่วมแค่บางคน แต่บางคดีก็ร่วมทั้ง 3
คน


          คดีดังๆ ที่เชื่อมโยงกับทีมปฏิบัติการทีมนี้ก็เช่น คาร์บอมบ์หน้าห้าง “บิ๊กซี ปัตตานี” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560, คดีปล้นรถกระบะ 6 คันจากเต็นท์รถ “วังโต้ คาร์เซ็นเตอร์” ใน อ.นาทวี จ.สงขลา นำไปทำคาร์บอมบ์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมปีเดียวกัน


          ในปี 2562 ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุชัดว่า “ทีมปัตตานี” ที่มีพี่น้องตระกูลหลำโสะเอี่ยวด้วย ก่อเหตุรุนแรงแบบถี่ยิบ เริ่มจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ใกล้


          หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อช่วงเช้ามืดวันอังคารที่ 8 มกราคม เป็นคาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 2562


          นอกจากนั้นยังมีคดีโจมตีจุดตรวจ ชคต.บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 (หลังเกิดกรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกจับและหมดสติในค่ายทหารเพียง 3 วัน) คดีปล้นร้านทองใน อ.นาทวี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน, คดีซุ่มยิง อส.ชุดคุ้มครองตำบลนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 16 กันยายน และล่าสุดก็คือเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ที่ลำพะยา เมื่อ 5 พฤศจิกายน

 

 

 

 


          จากข้อมูลของตำรวจระบุว่าเหตุปล้นร้านทองที่ อ.นาทวี น่าจะมี 3 พี่น้องตระกูลหลำโสะร่วมก่อเหตุพร้อมกัน ข้อมูลจากแฟ้มประวัติของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า บูคอรี เป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบคนสำคัญที่เคลื่อนไหวในอำเภอรอยต่อของ จ.สงขลากับปัตตานี


          ภูมิลำเนาที่แท้จริงอยู่ที่บ้านควนหรัน ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มีประวัติก่อเหตุรุนแรงครั้งแรกเมื่อปี 2548 โดยร่วมกับพวกใช้ท่อนไม้ทุบตีครูในพื้นที่บ้านควนหรันจนได้รับบาดเจ็บ โดยขณะก่อเหตุยังอยู่ในวัยหนุ่มรุ่นกระทง


          จากนั้นบูคอรีถูกจับกุมโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และเจ้าตัวยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายครูจริงๆ แต่ประวัติหลังจากนั้นไม่แน่ชัดว่าถูกดำเนินคดีหรือไม่ หรือว่าโดนดำเนินคดีแล้วพ้นโทษออกมา เพราะในช่วงสิบกว่าปีมานี้มีคดีความมั่นคงหลายคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี จ.สงขลา รวมถึง อ.โคกโพธิ์ กับอำเภอใกล้เคียง และ อ.เมืองปัตตานี ที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นฝีมือของบูคอรีและพวกอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันหันหลังให้ขบวนการแล้ว แต่ยังพำนักอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอมรับว่าเขารู้จัก “บูคอรี หลำโสะ” พี่ใหญ่ของครอบครัวหลำโสะที่มีข่าวจากทางการว่ามีส่วนร่วมในการก่อเหตุรุนแรงมากมายหลายเหตุการณ์


          “บูคอรี หลำโสะ อดีตเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไป ไม่ได้เก่งกาจสามารถ หรือทำอะไรได้มากตามที่เป็นข่าว แรกๆ เจ้าหน้าที่แค่สงสัยในตัวเขา แล้วมีหมายเชิญตัวเขา โดยให้ไปมอบตัว ช่วงนั้นก็มีบางคนเชียร์ให้เขาออกไป (หมายถึงออกไปมอบตัว) และก็มีบางคนบอกให้ถอย (หมายถึงไม่ต้องมอบตัว แต่ให้หนี) เขาเลือกถอย เพราะเห็นมาเยอะแล้ว ไม่ได้ทำอะไรแต่สุดท้ายต้องรับในสิ่งที่ไม่ได้ทำ”


          “เมื่อเขาหนี เขาเลยกลายเป็นผู้ต้องหา ทีนี้ในช่วงหลังมาไม่ว่าเหตุการณ์ไหน บูคอรีคือพระเอกของเรื่องทุกครั้ง ทั้งๆ ที่มนุษย์คนหนึ่งไม่มีทางที่จะมีความสามารถขนาดนั้นได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เขาก็เลยหนี ส่วนไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครรู้เลย” อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น กล่าว


          “ทีมข่าว” เดินทางลงพื้นที่บ้านควนหรัน หมู่ 2 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นภูมิลำเนาของบูคอรี หลำโสะ และน้องๆ โดย อ.สะบ้าย้อย เป็น 1 ใน 4 อำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง


          บรรยากาศในหมู่บ้านควนหรันและบริเวณโดยรอบค่อนข้างเงียบเหงา หมู่บ้านแห่งนี้มีถนนสายหลักตัดผ่าน 1 สาย เป็นสายที่เชื่อมระหว่างสะบ้าย้อย (สงขลา) โคกโพธิ์ (ปัตตานี) และยะหา (ยะลา) ทั้งยังมีถนนสายรองแยกย่อยไปได้หลายพื้นที่ บนถนนสายหลักมีแผงเหล็กกั้นชะลอความเร็ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่


          นายสุรียา บอซู ผู้ใหญ่บ้านควนหรัน ยอมรับว่าบูคอรีและน้องๆ เคยเป็นลูกบ้านของตนจริง แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว “ใช่...นายบูคอรี หลำโสะ นายซอบรี หลำโสะ และนายรอซาลี หลำโสะ เป็นพี่น้องกัน เขาเคยเป็นลูกบ้าน แต่หลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามตัวเขา พวกเขาก็หนี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อีกเลย ในหมู่บ้านมีเพียงพี่น้องเขาอีก 2 คนที่ยังอยู่ ส่วนพ่อแม่ของเขาก็ย้ายออกจากพื้นที่ไปนานแล้ว ทราบว่าไปทำสวนที่อื่น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ไหน” ผู้ใหญ่บ้าน บอก


          เมื่อทีมข่าวพยายามขอไปเยี่ยมบ้านพี่น้องตระกูลหลำโสะ กลับได้รับการปฏิเสธจากคนในครอบครัว เพราะไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูลใดๆ แก่ผู้สื่อข่าว ขณะที่นายมะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า ครอบครัวของบูคอรีเคยขายของเปิดร้านที่ตลาดวันเสาร์ที่โคกโพธิ์ (อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี) คือ ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กับ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ติดกัน ครอบครัวของบูคอรีก็เหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ คือหาเช้ากินค่ำ บูคอรีก็ช่วยเหลือครอบครัว ไม่ได้มีความสามารถเหนือกว่าคนทั่วไป


          “แต่จากข่าวของบูคอรี และพี่น้อง 3 คนตอนนี้ดังมาก เขาสามารถก่อเหตุแบบอัจฉริยะได้ เก่งมาก แต่ชาวบ้านไม่เชื่อว่าเขาจะเก่งขนาดนั้น ทุกครั้งที่ก่อเหตุจะต้องมีเขาเป็นแกนนำในทีม แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไม่เคยจับหรือเจอเขาเลย ก็น่าแปลกอยู่เหมือนกัน” นายมะ กล่าว


          ความสงสัยของชาวบ้านได้รับการอธิบายจาก พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ที่บอกว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มที่มีการออกหมายจับ


          เอาไว้ในคดีอื่นแล้วหลบหนี เป็นคนร้ายที่ติดตามจับกุมจากคดีเก่าๆ มาโดยตลอด “รู้ว่าเป็นใคร แต่หาตัวไม่เจอ เนื่องจากกลุ่มนี้จะอยู่ในพื้นที่ป่าเขา”


          แต่จากการเก็บข้อมูลของ “ทีมข่าว” พบว่าความเป็นไปได้ของการหลบหนีหลังก่อเหตุแบบหายเข้ากลีบเมฆ มีด้วยกันอย่างน้อยๆ 4 วิธี คือ

          1.หลบอยู่ในบ้านเครือข่ายแนวร่วม หรือบ้านคนในครอบครัว โดยดัดแปลงสภาพบ้านให้มีที่หลบภัย เช่น ห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา วิธีการนี้เป็นข้อมูลที่ยืนยันจาก “บิ๊กเดฟ” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4


          2.หลบเข้าหมู่บ้านแนวร่วมที่เรียกว่า support site วิธีการจะคล้ายๆ วิธีแรก แต่อาจไม่จำเป็นต้องดัดแปลงบ้าน เพราะหมู่บ้านลักษณะนี้จะคอยช่วยดูแลผู้ก่อความไม่สงบในฐานะ “นักรบ” อยู่แล้ว


          3.หนีขึ้นภูเขา เป็นวิธีการที่ใช้บ่อยของกลุ่มที่เคลื่อนไหวใน จ.นราธิวาส เพราะมีภูเขาหลายลูก และสามารถเดินข้ามฝั่งไปประเทศเพื่อนบ้านได้ นอกจากนั้นบนภูเขาก็ยังมีฐานพักซ่อนอยู่ มีแนวร่วมจากพื้นราบคอยส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหารและน้ำ


          4.หนีลงเรือ โดยหลังก่อเหตุก็นัดแนะไปลงเรือออกไปลอยลำกลางทะเล เมื่อเรื่องเงียบค่อยกลับเข้าฝั่ง


          ถึงที่สุดแล้วคงย่อมหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องเป็นฝ่ายตอบว่าคนเหล่านี้หลบหนีไปอยู่ที่ไหน ด้วยวิธีอะไร และที่สำคัญคือพวกเขาเป็นผู้ก่อเหตุทั้งหมดตามที่อ้างนี้จริงหรือไม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และถ้ากระทำผิดจริงก็ต้องจับกุมดำเนินคดีให้ได้ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ