คอลัมนิสต์

นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 

          หลังจากมีการก่อตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อปี 2560 ประเทศไทยเริ่มมีหน่วยงานควบคุมและเป็นหน่วยงานกลางที่จะเชื่อมบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน พร้อมกันนี้ก็มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) ซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนการทำงาน แต่ยังคงต้องอาศัยภาคีด้านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อน

 

อ่านข่าว...  2ปีสทนช.กับเป้าหมายบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

 

 

          “สิ่งที่เราต้องการคือ นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเข้ามาช่วยเหลือ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพราะต้องการให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง ถ่ายทอดลงสู่ภาคปฏิบัติหรือในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ได้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในงานประชุม “Water Diplomacy: where Local Wisdom meets International Excellence” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องบริหารจัดการน้ำ โดยนำผลงานวิจัยของจุฬาฯ และบทเรียนจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้สำหรับการจัดการแหล่งน้ำในประเทศไทย


          ผศ.ดร.อักษรา พฤทธิวิทยา จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่าง สทนช. กับจุฬาฯ ถือเป็นความก้าวหน้าทางวงการวิชาการ เพราะเดิมการบริหารจัดการเรื่องน้ำจะถูกแยกส่วนกัน ไม่ได้บูรณาการกันอย่างที่ควรจะเป็น


          “การทำงานร่วมกับ สทนช. ซึ่งเป็นองค์กรดูแลน้ำในภาพรวมทั้งหมดทำให้งานวิจัยของเราได้ใช้ประโยชน์ตรงจุด เพราะในทางวิชาการน้ำบริเวณผิวดินและน้ำใต้ดินเราจะแยกกันไม่ได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าต่างคนต่างทำ การมี สทนช.ทำให้งานวิจัยเราตอบโจทย์การบริการจัดการในภาพรวม วางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” อาจารย์อักษรากล่าว

 



          เพื่อตอบรับนโยบายการพัฒนานวัตกรรมการบริหารทรัพยากรน้ำ จุฬาฯ จึงทำแบบจำลองแนวทางการจัดการน้ำและนำนวัตกรรมที่สร้างมาจากงานวิจัยมาใช้พัฒนาแหล่งน้ำและชุมชน โดยเน้นตอบโจทย์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความมั่นคงด้านน้ำ 2.การนำไปใช้เพื่อการอุปโภคและการบริโภค และ 3.การดูแลคุณภาพน้ำ


          ตัวอย่างนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง ได้แก่ แผนที่แสดงความเสี่ยงการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำ จากน้ำผิวดินลงสู่น้ำใต้ดิน ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพน้ำ “คำถามของเราตั้งต้นที่ว่า คลองในประเทศไทยทำไมเราไม่ใสสะอาดเหมือนในต่างประเทศ เพราะว่าของเราปนเปื้อนน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียบนดินเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อแหล่งน้ำใต้ดิน เมื่อแหล่งน้ำใต้ดินมีการปนเปื้อน ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของประเทศไทย”


          เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจากจุฬาฯ จึงริเริ่มโครงการแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) ซึ่งชี้ให้เห็นจุดเปราะบาง หรือแหล่งน้ำในสถานที่ที่ต้องการการแก้ไขหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษกว่าจุดอื่นๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้พื้นที่เสี่ยงในการน้ำมาใช้ในเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการวางผังเมือง


          นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการประมาณการปริมาณน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ และนำมาประมวลเป็นภาพใหญ่ ซึ่งสามารถช่วยวิเคราะห์ปริมาณแหล่งน้ำทั้งใต้ดินและบนดิน เป็นการช่วยเฝ้าระวังและวางแผนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็สามารถรายงานสถานการณ์ปัญหาของในพื้นที่ไปยังหน่วยงานส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ


          แต่ความท้าทายหลักที่จะต้องตอบโจทย์ในขณะนี้ คือการบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทานเรื่องน้ำให้สมดุล เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญกับความเจริญเติบโตของเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทำให้ยากต่อการจัดการ


          “ตัวอย่างเช่น เขื่อนที่สร้างมาปัจจุบันนี้ตอบโจทย์ปริมาณฝนที่เกิดขึ้น ณ เวลาในอดีต แต่ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนไปตกจุดอื่น เช่นไปตกท้ายเขื่อนแทน ดังนั้นปริมาณน้ำก็จะไม่เท่าเดิม เราพยายามสร้างวิธีการรับมือบริหารจัดการน้ำที่ต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลง ณ ตรงนี้”


          ประเด็นสำคัญที่สุดคือภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ประเทศจะต้องเตรียมรับมือกับความต้องการใช้น้ำของสังคมในปัจจุบัน ทั้งส่วนการผลิตและการอุปโภคบริโภคอย่างไร


          “ต้องเข้าใจถึงความต้องการน้ำของประเทศเรา ทั้งการใช้เพื่อยังชีพและการผลิต โดยศึกษาว่าภาคส่วนไหนใช้น้ำมากน้อยเพียงใด เพราะทุกวันนี้เราขับเคลื่อนประเทศด้วยน้ำ เรามีภาคเศรษฐกิจน้ำ แต่เราตระหนักคุณค่าส่วนนี้น้อยมาก และยังปล่อยให้น้ำมีการปนเปื้อนก่อนปล่อยคืนสู่แหล่งธรรมชาติ ตรงจุดนี้คือความท้าทายอันใกล้ และเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องช่วยกัน” อาจารย์อักษรากล่าวทิ้งท้าย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ