คอลัมนิสต์

นำเข้าเสรีแทรกเตอร์มือสองกับวิกฤตควันพิษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอบรรจบ แพทย์ทางเลือก ออกบทความ ทิศทางสุขภาพไทยวิกฤตควันพิษจากรถยนต์กับมติอนุญาตนำเข้าเสรีแทรกเตอร์มือสอง ระบุมลภาวะในอากาศได้คร่าชีวิตประชากรโลกปีละ 7 ล้านคน

         นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เขียนบทความ ทิศทางสุขภาพไทยวิกฤตควันพิษจากรถยนต์กับมติอนุญาตนำเข้าเสรีแทรกเตอร์มือสอง  ระบุว่า  ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5แพร่ระบาดในกทม.และจังหวัดภาคเหนือตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลต่อเรื่องนี้เกือบทั้งหมดเป็นกระบวนการตั้งรับแทบทั้งสิ้น เช่น การตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยจาก PM2.5ที่เข้ารักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ,การแจกหน้ากากป้องกันฝุ่น ,การฉีดพ่นละอองน้ำในที่สาธารณะ ,การทำฝนหลวง ,การระดมดับไฟที่ลุกไหม้ขึ้นในป่าภาคเหนือทั้งจากความร้อนของธรรมชาติและความตั้งใจของมนุษย์, การตรวจรถเมล์ควันดำที่กระทำอยู่เพียงไม่กี่วันในจังหวะที่มีฝุ่นพิษในกทม. เป็นต้น ซึ่งมาตรการต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดดังกล่าว ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น 

     

        อย่างไรก็ตามมีอยู่มาตรการเดียวที่รัฐบาลมีการกระทำในเชิงรุกและมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของการแก้ปัญหามลภาวะในอากาศสำหรับประเทศไทย นั่นคือ ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ประกาศเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 โดยมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้โดยระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อป้องกันปัญหามลพิษสร้างความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้ถนน และการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุม โดยได้ย้ำด้วยว่าเป็นการบริหารงานที่สอดคล้องกับมติครม.ที่กำหนดให้การแก้ปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ

นำเข้าเสรีแทรกเตอร์มือสองกับวิกฤตควันพิษ

      นส.ชุติมา บุณยประภัศร รมต.พาณิชย์เปิดเผยด้วยว่า “การนำเข้ารถยนต์มือสองอยู่ภายใต้การควบคุมกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2496 มี 9 ประเภท ซึ่งระเบียบที่แก้ไขใหม่จะห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วเพื่อเฉพาะตัวหรือรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนใหญ่เป็นรถหรู ขณะที่รถอื่นอีก 8 ประเภทจะถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่นอนุญาตการนำเข้า” แสดงว่ามาตรการดังกล่าวส่วนที่จะเกิดประโยชน์ในการช่วยควบคุมมลภาวะ จะได้แก่กลุ่มรถบรรทุกและรถแทรกเตอร์เท่านั้น

     ภายหลังจากประกาศดังกล่าว เกิดมีความเคลื่อนไหวใน 2 ด้านคือ:

    1)กลุ่มผู้นำเข้ารถเก๋งและรถบรรทุกเก่าซึ่งระแคะระคายเรื่องนี้แห่กันนำเข้ารถมือสองภายใน 7 เดือนยอดพุ่งถึง 7,000 ล้านบาท

     2)กลุ่มผู้นำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองและกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยก็ออกมาเรียกร้องให้พิจารณาทบทวน โดยอ้างเหตุผลว่า การห้ามนำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 500,000 คน และผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์มือสองไม่ต่ำกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจถึงกับต้องปิดกิจการลง

     นายบุญช่วย ศรีเดช ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “การห้ามรถแทรกเตอร์มือสองทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น” 

    นส.พัชรินทร์ ชำนาญจักร์ ตัวแทนผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์มือสองเรียกร้องว่าที่ผ่านมา ผู้มีส่วนได้เสียไม่มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ ทั้งนี้ตัวแทนจำนวน 100 คนได้เดินทางไปกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เพื่อยื่นข้อเสนอ จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งรับปากว่าให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาทบทวนประกาศฉบับนี้

นำเข้าเสรีแทรกเตอร์มือสองกับวิกฤตควันพิษ

       สุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมครม.ให้ประเทศไทยสามารถนำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองได้อย่างเสรี ทั้งนี้ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมว่า รถแทรกเตอร์มือสองมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยเพราะใช้ปีละไม่กี่วัน การเปิดนำเข้าเสรีช่วยลดต้นทุนเกษตรกร เพิ่มทางเลือกในการซื้อเครื่องจักรกลทางเกษตร และส่งเสริมให้เกิดอาชีพช่างในชุมชนด้วย

     รายนามประเทศกับมาตรการห้ามนำเข้ารถมือสอง

  จากบทความ What countries have import restriction on used car import, K International transport company ตีพิมพ์ในนิวยอร์คไทม์ กค. 27, 2012 เผยว่า:

   1.โบลิเวีย รถใช้แล้วห้ามนำเข้าเด็ดขาด

   2.จีน นำเข้าได้แต่รถใหม่เท่านั้น และสำหรับเซี่ยงไฮ้ผู้นำเข้าจะต้องมีเคยมีใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์แล้วเท่านั้น

   3.อียิปต์ (ดาเมียลตาและอเล็กซานเดรีย) รถใหม่เท่านั้น (ปอร์ดเซด)รถใช้ไม่เกิน 1 ปี รถอายุเกิน 10 ปีห้ามนำมาแล่นบนถนน

   4.ไฮติ ห้ามรถยนต์ทุกชนิด

   5.อิรัก ห้ามรถอายุเกิน 2 ปี

   6.คูเวต ห้ามรถอายุเกิน 5 ปี คนแต่ละคนห้ามนำเข้ารถยนต์เกิน 1 คัน ถ้านำเข้ามากกว่า 1 คัน ต้องเป็นในนามของบริษัท

  7.ลิเบีย (บังกาซี มิซูราลาและเอลคอมส์) ห้ามใช้พาหนะทุกชนิดอายุเกิน 5 ปี (รถ พาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ มอเตอร์ไซด์ เรือสกี)

   8.เลบานอน ห้ามรถอายุเกิน 8 ปี รถบรรทุกใช้นำมันได้ แต่ถ้าใช้ดีเซลห้ามใช้เกิน 5 ปี และบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 3.5 ตัน

   9.ปากีสถาน ห้ามรถอายุเกิน 3 ปี แต่ถ้ามีใบเขียนว่าส่งไปแอฟกานิสถานจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุรถ

   10.ปารากวัย ห้ามรถอายุเกิน 10 ปี

  11.รัสเซีย (ทากันรอก) ห้ามรถทุกชนิด

   12.ซาอุดิอาราเบีย (เจดดาห์ ดามมัน ริยาท ยัมบู) รถใช้ทั่วไป รถประจำทาง รถบรรทุกเล็กต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี รถบรรทุกขนาดใหญ่อายุต้องไม่เกิน 10 ปี ขณะเดียวกันรถแท็กซีและรถตำรวจห้ามใช้รถที่ชำรุด มีตำหนิ เสื่อมสภาพมาใช้ในกิจการเด็ดขาด

  13.ซีเรีย ห้ามรถทุกชนิด

  14.ตูนิเซีย (ตูนิสและสแต็ก) ห้ามรถทุกชนิด นอกจากรถที่ใช้ทางการทูต

   15.เยเมน ห้ามรถอายุเกิน 7 ปี และห้ามใช้รถที่ชำรุดเด็ดขาด

   เอกสาร Used vehicle Global Overview ของ Unece แห่งสหประชาชาติ[24]เปิดเผยว่า :

    การห้ามนำเข้ารถใช้แล้ว บางประเทศได้สั่งห้ามนำเข้ารถใช้แล้วเด็ดขาด ได้แก่ อินโดนีเซีย ชิลี ตุรกี แอฟริกาใต้ อีกบางประเทศใช้การควบคุมด้านเทคโนโลยี เช่นศรีลังกานำมาอันดับต้นๆในเครื่องยนต์ไฮบริด การตั้งภาษีอย่างเข้มงวดรุนแรงและลดภาษีให้กับเครื่องไฮบริดและเครื่องยนต์ไฟฟ้าเกิดผลในกรณีนี้ ยูเครนห้ามนำเข้ารถที่ให้พลังงานต่ำกว่าระดับยูโร 3 อีมิสชั่นสแตนดาร์ดตั้งแต่ 2013

     จำกัดที่อายุ บางประเทศใช้การควบคุมที่อายุของรถ เคนยากำหนดอายุรถไม่ให้เกิน 8 ปี และถือที่ระดับยูโร 4 อีมิสชั่นสแตนดาร์ด การกำหนดอายุของรถเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญของประเทศฝ่ายนำเข้า

    ควบคุมด้วยภาษี ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกใช้วิธีนี้เช่น มอลโดวาเพิ่มภาษีกับรถเกิน 3 ปีและห้ามนำเข้ารถอายุเกิน 10 ปี

    การตรวจสภาพ การตรวจสภาพรถอย่างเข้มงวดถูกนำมาใช้ประกอบ แซมเบียไม่ได้กำหนดอายุรถแต่จะตรวจสภาพรถอย่างเข้มงวดมากก่อนส่งออกมาจากญี่ปุ่น รวมทั้งจากสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้

   เอกสารกล่าวว่าขณะนี้ทั่วโลกเหลือเพียง โบลิเวีย เปรู และปารากวัยเท่านั้นที่อนุญาตการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว แต่ก็ยังมีเงื่อนไขเรื่องอายุของเครื่องยนต์

   สำหรับประเทศไทย น่าจะกลายเป็นประเทศที่ตกสำรวจขององค์การสหประชาชาติ เพราะนอกจากยอมให้นำเข้ารถแทรกเตอร์ใช้แล้ว ยังเป็นการนำเข้าโดยเสรีอีกด้วย

     บทความของ นพ.บรรจบ ยังระบุว่า องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อมกราคม ค.ศ. 2019 ว่า 9 ใน 10 ของประชากรโลกกำลังสูดอากาศที่มีความปนเปื้อนสูง มลภาวะในอากาศได้คร่าชีวิตประชากรโลกปีละ 7 ล้านคน พบว่า 24% ของอุบัติเหตุเส้นเลือดสมอง สัมพันธ์สืบเนื่องจากมลภาวะอากาศ นับจำนวนตายได้ 1.4 ล้านคนในทุกปี สำหรับโรคหัวใจ 25% ของการตายด้วยโรคหัวใจมีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับมลภาวะอากาศ โรคนี้คร่าชีวิตไป 2.4 ล้านคนในทุกๆปี ส่วนโรคปอดนั้น 43% ของโรคปอดและมะเร็งปอดสัมพันธ์สืบเนื่องจากมลภาวะอากาศ ก่อให้เกิดการตาย 1.8 ล้านคนในทุกๆปีเช่นกัน

       มลภาวะอากาศยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ชักนำโรคไม่ติดเชื้อต่างๆตามมา ปัจจุบันประชากรในเมือง 80% ของโลกกำลังดำรงชีพอยู่ท่ามกลางมลภาวะอากาศทั้งนอกบ้านและในบ้านที่สูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ โดยประเทศที่มีรายได้ระดับกลางและระดับต่ำกำลังผจญปัญหานี้มากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง

     สำหรับประเทศไทยปัญหามลภาวะในอากาศปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลในปลายสัปดาห์แรก ของเดือนมกราคม 2562 ต่อเนื่องมาจนสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ 2562

   ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ ได้เขียนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า “สภาพอากาศของกรุงเทพฯตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าย่ำแย่และอยู่ในขั้นวิกฤต หลังมีการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) พบว่า ค่าฝุ่นละเอียดPM2.5ในเมืองหลวงของไทยเกินระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯจาก The World Air Quality Index ที่สถานีตรวจอากาศต่างๆจะพบว่า:พื้นที่การเคหะชุมชนคลองจั่น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บริเวณบ้านพักกรมอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ สมุทรปราการ แขวงการทางสมุทรสาคร สถานีกรมอุตุนิยมวิทยาลำปาง มีตัวเลข 197, 167, 186, 174, 170 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับเกณฑ์สีแดง 151-200 มคก./ลบ.ม. (Unhealthy)

      ผลกระทบต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช รายงานคำชี้แจงของนพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ว่า “รายงานจากโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพฯมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น จากเดือนธันวาคมที่ผ่านมานับหมื่นคน จากสถิติผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ทั้ง 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1-22 มกราคม ที่ผ่านมาพบตัวเลขของผู้ป่วยจำนวน 9,980 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมของปี 2561 ที่มีจำนวน 6,445 คนถึง 54.85% เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง”

    ผลต่อโรคหัวใจและทางเดินหายใจ

     การได้รับสัมผัสฝุ่น PM แม้ในช่วงเวลาสั้นๆสามารถทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดและตายได้ จากการวิเคราะห์อภิมานของงานวิจัยในปี2013 พบว่าการตายจากโรค หัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น11% มีความสัมพันธ์กับการรับสัมผัส PM2.5 ในระยะยาว โดยเฉพาะจากโรคหลอดเลือดโคโรนารี

      การได้รับสัมผัส PM2.5 ในระยะยาวยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ภาวะหัวใจเต้นเสียจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันเลือดสูงและภาวะหัวใจล้มเหลว การได้รับสัมผัส PM2.5ที่เพิ่มขึ้น 10μg/m3 แม้ในระยะสั้น (น้อยกว่า 24 ชม.) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตายได้ (0.4%-1.0%)[9] การได้รับสัมผัส PM2.5 ในระยะสั้นทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลันได้ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นเสียจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

        Lu et al. 2015 ได้ทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมานของงานวิจัยระหว่าง ปีค.ศ.1999-2013 ที่ทำในจีน ฮ่องกง และไต้หวันว่าด้วยผลของ PM2.5 และ PM10 ที่มีต่อสุขภาพของคนจีน พบว่าการรับสัมผัสฝุ่นPM2.5 และ ฝุ่นPM10 ในระยะสั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการตาย โดยทุกๆ 10μg/m3ของปริมาณ PM10 ที่เพิ่มขึ้น พบว่าค่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (excess risk) ต่อการตายที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ จากโรคหัวใจและหลอดเลือด

       และจากโรคทางเดินหายใจ Zhang et al. 2017 ศึกษาผลจากการรับสัมผัสมลภาวะระยะสั้น ต่อการตายของประชากรในเมืองจิหนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างปีค.ศ. 2011-2015 มีประชากรเสียชีวิต 209,321 คน พบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ที่เพิ่มขึ้นของ PM10, PM2.5, SO2 และ NO2 เพิ่มอัตราตาย 5.87%

    ผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง

     Hamra et al. 2014 ได้ทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมานความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 และ PM10 กับอัตราป่วยและอัตราตายของมะเร็งปอด พบว่าการเกิดมะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma มีความสัมพันธ์กับการรับสัมผัส PM2.5และ PM10นอกจากมะเร็งปอดแล้ว PM2.5 ยังสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย

    แหล่งของฝุ่นมลภาวะในอากาศ

      ในประเทศไทยแหล่งของ PM2.5 ทั่วประเทศที่สำคัญๆได้แก่ 1)การเผาในที่โล่ง ปล่อย PM2.5 ประมาณ 209,937 ตัน/ปี 2)การคมนาคมขนส่ง ยานพาหนะปล่อย PM2.5ประมาณ 50,240 ตัน/ปี 3)การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5ประมาณ 31,793ตัน/ปี 4)อุตสาหกรรม ปล่อย PM2.5ประมาณ 65,140 ตัน/ปี

     นอกจากนี้การรวมตัวของก๊าซอื่นๆในบรรยากาศ จากปัจจัยอากาศหนาวเย็นและความชื้นในบรรยากาศอาจทำให้ฝุ่นละอองสะสมและมีปริมาณมากขึ้น

     ผลการศึกษาถึงแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในกทม.พบว่าร้อยละ 40มีที่มาจากรถยนต์ที่ใช้อยู่บนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควันดำจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ