คอลัมนิสต์

อึ้ง 3 สารพิษแปลงโฉม พาราควอตผสมปุ๋ยอินทรีย์ ดีเอสไอบุกทลาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อึ้ง 3 สารพิษแปลงโฉม พาราควอตผสมปุ๋ยอินทรีย์ ดีเอสไอบุกทลายแหล่งผลิต

 

 

 

          เป็นไปตามคาด 3 สารเคมีอันตราย พาราควอต, ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส วันใดวันหนึ่งต้องแปลงโฉมกลายพันธุ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจของนายทุนผู้หากินกับเกษตรกร หลังจากที่สารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้ ถูกสั่งแบนจาก คณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้เป็นสารต้องห้ามไปแล้ว  
 

อ่านข่าว... ดีเอสไอจับ 5 แหล่งผลิตปุ๋ยผสมพาราควอต

 

 

          เหตุผลที่ 3 สารเคมีที่ว่านี้ถูกแบนก็เพราะเป็นสารที่มีพิษอันตรายร้ายแรงกว่าสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรชนิดอื่นหลายเท่า ซึ่งจากการสำรวจแปลงพืชผักผลไม้ของเกษตรกรพบว่ามีสารพิษที่เกิดจากการใช้สารเคมีดังกล่าวตกค้างอยู่ในดินและแหล่งน้ำในปริมาณสูง เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศ


          โดยเฉพาะตัวเกษตรกรนั้น มีความเสี่ยงในระดับน่าวิตกอย่างยิ่งที่จะเป็น โรคมะเร็ง และ พาร์กินสัน ทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น และมีผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ ข้อมูลนี้ตรงกับงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก(WHO)


          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ปรับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 คือ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง จะยังไม่มีผลตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 


          แต่ปัจจุบันสารเคมีทั้ง 3 ก็ยังอยู่ในสถานะถูกจำกัดการใช้ตามมติ คณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ให้จำกัดการใช้ภายใต้ มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยให้ใช้ได้เฉพาะ 6 พืช คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอกที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น 


          ขณะที่เกษตรกรผู้ใช้สารเคมีจะต้องลงทะเบียนเข้ารับการอบรมการใช้งานและขอรับสิทธิ์การซื้อสารเคมี ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562 ทำให้การซื้อขายสารเคมีดังกล่าวถูกจำกัดอยู่ในวงแคบและส่วนใหญ่เป็นการลักลอบจำหน่าย ขณะที่ความต้องการใช้ของเกษตรกรที่ยังหาสารเคมีอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาทดแทนไม่ได้ยังมีอยู่จำนวนมาก จึงเป็นช่องทางให้เกิดการซื้อขายกันในตลาดมืด และส่วนหนึ่งมาในรูปแบบการดัดแปลงผลิตภัณฑ์

 

 




          ล่าสุดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่จากกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 3 (นครราชสีมา) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เข้าตรวจค้นบริษัทและแหล่งผลิต และจำหน่ายวัตถุอันตราย สารพาราควอตไดคลอไรด์และไกลโฟเซต–ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม หลังได้รับการร้องเรียนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ว่ามีการลักลอบแอบจำหน่ายสารต้องห้ามให้เกษตรกร


          โดยทำการตรวจค้น 2 บริษัท รวม 5 จุดพร้อมกัน ได้แก่ บริษัท สมาร์ท ไบโอเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยี่ห้อ สมาร์ทไบโอ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สารเสริมประสิทธิภาพกำจัดโรคพืช ยี่ห้อ ท็อปเคลียร์  สารปรับสภาพน้ำชนิดพิเศษ ยี่ห้อ สมาร์ท ไบโอ อะควอ  และ ปุ๋ย เป็นต้น ตั้งอยู่ที่ จ.นนทบุรี 2 จุด (คดีพิเศษที่ 73/2562)


          บริษัท วีไอพี คิงดอม999 จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยี่ห้อซุปเปอร์ไลค์ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่นยาฆ่าแมลง ยี่ห้อ ออแกนิค คิล และปุ๋ยสินแร่นาโน บูม ชนิดเม็ด เป็นต้น ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 1 จุด และ จ.นครราชสีมา 2 จุด (คดีพิเศษที่ 74/2562)


          พ.ต.อ.ไพสิฐ ระบุว่า การตรวจค้นครั้งนี้สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนมาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ว่ามีการลักลอบจำหน่ายวัตถุอันตรายให้เกษตรกร ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนของกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พบว่าทั้ง 2 บริษัท ได้นำสารพาราควอตไดคลอไรด์และไกลโฟเซต–ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ซึ่งเป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 บัญชี 1.1 ลำดับที่ 353 และลำดับที่ 43 ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มาผสมกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและขายผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้ซื้อไปใช้เข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพดังกล่าวไม่มีผลต่อสุขภาพ เป็นเหตุทำให้ผู้ซื้อได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว


          จากการนำหมายศาลเข้าตรวจค้นทั้ง 5 จุด สามารถยึดผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต และได้มีการอายัดอุปกรณ์การผลิตไว้เพื่อตรวจสอบ โดยผลิตภัณฑ์ที่ยึดได้ทั้งหมดจะถูกนำไปให้กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบว่ามีส่วนประกอบของสารต้องห้ามจริงหรือไม่ หลังจากนั้นจะสามารถระบุตัวผู้ต้องหารวมถึงออกหมายเรียกหรือหมายจับมาดำเนินคดีต่อไปได้ 


          อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐานผลิตหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 23 ประกอบ มาตรา 73 และฐานผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          นอกจากนี้ ยังอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 เนื่องจากมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการค้า โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับอนุญาต อันเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 14(1) อีกด้วย


          อธิบดีดีเอสไอ เชื่อว่า การลักลอบผลิตและจำหน่ายสารเคมีที่ดัดแปลงมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์อินทรีย์นี้ทำกันเป็นขบวนการโดยคนไทยทั้งหมด ประเมินมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 10 ล้านบาท และมีผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตรายดังกล่าวมากกว่า 1,000 ราย โดยรูปแบบการขายของบริษัท วีไอพี คิงด้อม ใช้วิธีการสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่โดยมีแรงจูงใจเป็นรายได้และการพาไปเที่ยวต่างประเทศ หากทำยอดได้ตามเป้า ลักษณะนี้อาจเข้าข่าย แชร์ลูกโซ่ ด้วย


          ด้าน ธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า ผลการตรวจค้นในพื้นที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี พบถังผสมปุ๋ย และเอกสาร ส่วนที่ จ.นครราชสีมา เข้าค้นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และโรงงานผลิต ขณะที่ในพื้นที่ปทุมธานี เป็นโกดังเก็บวัตถุอันตราย ซึ่งดีเอสไอจะยึดอายัดเครื่องจักร ถังผสม และผลิตภัณฑ์ส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบเอกสารที่พบว่ามีแหล่งที่มาจากไหน หากผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีส่วนผสมของพาราควอตและไกลโฟเซต จะออกหมายเรียกหรือหมายจับเจ้าของบริษัทมาแจ้งข้อกล่าวหา เพราะเป็นการแอบอ้างจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ แต่มีส่วนผสมของสารอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต 


          ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต บอกว่า ดีเอสไอพบว่าบริษัททั้ง 2 ราย นำวัตถุอันตรายมาลักลอบผลิตและจำหน่ายโดยหลอกลวงว่าเป็นสารชีวภาพ ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ล่อซื้อและนำของกลางไปตรวจพิสูจน์พบว่ามีสารเคมีอันตรายผสมอยู่จริง จึงนำมาสู่การตรวจค้นและจับกุม 


          “จากผลการวิจัยทางการแพทย์พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยจากสารพาราควอตปีละ 5,000 ราย ในจำนวนดังกล่าวประมาณ 10% หรือ 500 ราย จะเสียชีวิต เนื่องจากมีอาการแพ้รุนแรง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังต้องได้รับสารเคมีปนเปื้อนในผักและผลไม้ ต้องตายผ่อนส่งกับพาราควอต รัฐบาลจึงต้องดำเนินการทางคดีให้ถึงที่สุด”

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ