คอลัมนิสต์

พูดคุยสันติสุขฯ บนทางสองแพร่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พูดคุยสันติสุขฯ บนทางสองแพร่ง คอลัมน์...  ถอดรหัสลายพราง  โดย...  พลซุ่มยิง 

 



 

          เป็นไปได้อย่างไร ที่รัฐบาลไทยจะไม่รู้ว่า ความสูญเสียตลอด 15 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) จะต้องเดินหน้าพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ ‘ใคร’ ในกลุ่มบีอาร์เอ็น ถึงขนาดที่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ขอให้ มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ช่วยสแกนหาตัวจริง เสียงจริง

 

 

          กว่า 6 ปีบนเส้นทางการพูดคุยฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ จชต. หลังยืดเยื้อมายาวนาน เริ่มต้นขึ้นในปี 2555 ยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ และมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก


          แต่ทุกอย่างมาหยุดชะงักท่ามกลางความกังวลของฝ่ายรัฐไทยว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนในอนาคต หลังกลุ่มผู้เห็นต่างยื่นข้อเสนอมา 5 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ การเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ในขณะนั้น แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ประจวบเหมาะกับเสถียรภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกสั่นคลอน เนื่องจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศ จนนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557


          ในห้วงประเทศอยู่ภายใต้การบริหารงานรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงเดินหน้าสานต่อแนวทางดังกล่าว แต่ยกเครื่อง กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ใหม่ทั้งหมด โดยให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าคณะ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะกลุ่มผู้เห็นต่างให้ความสำคัญกับกลุ่ม ‘มาราปาตานี’

 



          ต้องยอมรับว่า ตลอดช่วง 4 ปี การทำหน้าที่ของ พล.อ.อักษรา ควบคู่ไปกับมาตรการดูแลพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 4 ทำให้สถิติการเกิดเหตุการณ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่ข้อตกลงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย อำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ห้ามเกิดเหตุการณ์ เพื่อแสดงความจริงใจและเป็นสิ่งยืนยันว่า ‘มาราปาตานี’ มีศักยภาพในการควบคุมกองกำลังระดับพื้นที่ได้จริง


          เหตุการณ์เดินมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในมาเลเซีย ‘มหาเธร์’ ชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการพูดคุยสันติสุขใหม่ทั้งหมด  แต่งตั้ง ‘ตัน สรี อับดุลราฮิม บิน โมห์ด นูร์’ อดีตผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก


          ในส่วนของกลุ่มผู้เห็นต่าง มาเลเซียให้ความสำคัญไปยัง กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ บีอาร์เอ็น ภายใต้การนำของ ‘ดูนเลาะ แวมะนอ’ และเชื่อว่า ‘มาราปาตานี’ คือ กลุ่มที่หมดอำนาจไปแล้ว ไม่มีศักยภาพในการควบคุมสั่งการกองกำลังระดับพื้นที่อย่างแท้จริง และส่งผลให้ฝ่ายไทยเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พล.อ.อักษรา เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปลายปี 2561 เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘คุยผิดตัว’


          การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างในห้วง พล.อ.อุดมชัย นั่งเป็นหัวหน้าคณะ ไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่ บีอาร์เอ็น ปรับโครงสร้างใหม่ หลัง ‘ดูนเลาะห์ แวมานอร์’ ขอถอนตัวทันทีที่ตกเป็นเป้าเวทีพูดคุยสันติสุขฯ และตั้งผู้นำคนใหม่ ‘คอ ซารี’ ซึ่งเป็นสายการเมือง และให้ ‘วอเฮะ’ เป็นเลขาธิการ ในส่วนกองกำลังทหารให้ ‘เป๊าะนีมะ’ ขึ้นคุมกำลัง พร้อมปรับยุทธศาสตร์การก่อเหตุเน้นส่วนลวง-ส่วนเปิด-ส่วนปิด


          ส่วน พล.อ.อุดมชัย ทำหน้าที่ได้เพียงไม่กี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปลี่ยนตัวหัวหน้าพูดคุยฯ อีกครั้ง หลังการเลือกตั้งปี 2562 ท่ามกลางกระแสข่าวต้องการหาตำแหน่งให้ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่กำลังจะเกษียณราชการในห้วงนั้น


          แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงท่าทีขึงขัง หลังเกิดเหตุผู้ก่อความไม่สงบบุกถล่มฐานจุดตรวจร่วมชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) บ้านทุ่งสะเดา หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 15 ศพ และได้รับบาดเจ็บ 5 คน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยขอให้มาเลเซียเร่งหาแกนนำบีอาร์เอ็นตัวจริง เข้าร่วมเวทีการพูดคุยสันติสุขฯ


          แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าจริงๆ แล้วต้องการคุยกับใคร จึงทำให้แนวทางพูดคุยสันติสุขฯ ยังคงเน้นภาพรวมเหมือนที่แล้วมา ไม่ได้พุ่งไปที่ต้นตอของปัญหา เพราะยังติดอยู่กับข้อกังวลว่า หากยอมรับการมีอยู่ของบีอาร์เอ็น จะถูกยกระดับเป็นก่อการร้าย และนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคต


          ส่วนการเดินทางไปมาเลเซียของ พล.อ.วัลลภ เป็นเพียงการไปแนะนำตัวตามธรรมเนียม และเพื่อทำให้เห็นว่าฝ่ายรัฐไทยไม่ได้ปฏิเสธแนวทางการพูดคุยสันติสุขฯ เท่านั้น ส่วนวิธีการ นโยบาย ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม หรือมีเส้นตายจากนายกรัฐมนตรีที่ชัดเจน


          เหตุผู้ก่อความไม่สงบ บุกถล่มฐานจุดตรวจร่วมชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน ก็คงไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์อื่นใน 3 จชต. เพราะสุดท้ายแล้วก็จะเงียบหายไป เช่นเดียวกับ 6 ปีการพูดคุยสันติสุขฯ ความหวังที่จะดับไฟใต้ ยังอยู่บนเส้นทางที่รัฐไทยยังคิดไม่ตกระหว่างประคองสถานการณ์ ที่ต้องแลกกับการเสียชีวิตของประชาชน หรือก้าวผ่านความกลัวว่าจะเสียดินแดน พร้อมเปิดโปงและยอมรับการมีอยู่ของบีอาร์เอ็น และกดดันให้เข้าร่วมเวทีพูดคุย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ