คอลัมนิสต์

บทพิสูจน์ ทวงคืนผืนป่า 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562

 

 

 

          นโยบายทวงคืนป่าในรัฐบาล คสช. จนถึงปัจจุบันต่อเนื่องมายังรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ผู้นำประเทศยังเป็นคนเดิมซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 และถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ได้ตรวจสอบที่ดินป่าสงวนของชาติรวมทั้งที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุกจากนายทุนและผู้มีอิทธิพลเข้ามายึดครองจนได้แรงเชียร์สนับสนุนจากสังคมมากมายเพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมานับสิบๆ ปี ป่าไม้ของประเทศได้ถูกกลุ่มทุนอิทธิพลยึดเอาไปทำประโยชน์เข้ากระเป๋าไปกระทั่งเหลือจำนวนป่าไม่มากแล้วทั้งที่ในอดีตเรามีพื้นที่ป่าไม้มหาศาล อย่างไรก็ดีวาระการทวงผืนป่ามุ่งเป้ากลุ่มทุนที่เข้ารุกป่าแต่ในส่วนชาวบ้านยากไร้หรือผู้ไร้ที่ทำกินทางภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือให้การผ่อนปรนพร้อมนำที่ดินที่ยึดคืนมาจัดสรรให้ผู้ยากไร้โดยมีเงื่อนไขว่าไม่สามารถถือครองหรือเปลี่ยนมือรวมทั้งนำไปใช้ผิดประเภทนอกเหนือจากที่ทำกินไม่ได้

 

อ่านข่าว.. เดินหน้าทวงคืนพื้นที่ป่า


 

 

 

 

          ข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่าตั้งแต่เริ่มมาตรการดังกล่าวจนถึงวันนี้ได้เกิดผลดีจากเดิมประเทศไทยมีปัญหาบุกรุกป่ามากกว่าปีละแสนไร่ลดลงเหลือปีละหมื่นไร่ ซึ่งในปีงบ 2562 ผลการดำเนินการ 532 คดี เป็นพื้นที่ความเสียหาย 11,120.53 ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2561 ผลการดำเนินการ 1,488 คดี เป็นพื้นที่ความเสียหาย 32,637.41 ไร่ พบว่ามีจำนวนที่ลดลง และหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จคือการบุกรุกป่าลดลงโดยมีป่าเพิ่มอีกกว่า 331,951 ไร่ และได้ทวงคืนป่ามาแล้ว 750,000 ไร่จากนายทุนทั้งหมด ซึ่งคาดว่ามีนายทุนบุกรุกกว่า 2 ล้านไร่ ทั้งนี้เมื่อปี 2516 มีพื้นที่ป่า 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศแต่ลดลงมาตลอด ดังนั้นได้ตั้งเป้าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งกำหนดให้ปี 2580 ต้องมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ


          ผลกระทบอีกด้านของวาระทวงคืนผืนป่าที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยที่เข้าไปใช้ป่าทำประโยชน์จนเกิดเป็นข้อพิพาทกับรัฐในหลายกรณี ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอดพร้อมยึดหลักการและแนวทางการจัดการพื้นที่โดยชุมชนที่จะได้รับพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเดิมไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลนอกพื้นที่และมีการสำรวจการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อตกลงรวมทั้งจะใช้รูปแบบ “เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” ที่มีแผนผังแปลงที่ดินและบัญชีรายชื่อราษฎรจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในปีงบ 2563 จะดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งประเทศ 215 ป่า 3,973 หมู่บ้าน เนื้อที่ 4.7 ล้านไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ให้ได้ข้อยุติ

 



          นโยบายเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศแต่ต้องควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างโปร่งใสเที่ยงธรรมและเท่าเทียมกัน ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนถึงบางกรณีว่าเข้าข่ายละเลยปฏิบัติให้แก่บางกลุ่มบางพวกที่เป็นพวกพ้องหรือไม่ซึ่งเห็นได้จากกรณีหนึ่งที่ถูกมองอย่างเคลือบแคลงก็คือรีสอร์ทแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครนายก ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังหลังเป็นสถานที่จัดประชุมพรรคการเมือง ซึ่งพบว่าถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าตั้งแต่ปี 2555 หรืออย่างกรณีเครือญาตินักการเมืองและนักการเมืองถือครองที่ดินหลายพันไร่ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และบุกรุกป่าสงวนหรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐและรัฐบาลต้องตรวจสอบอย่างโปร่งใสเที่ยงตรงเพื่อเคลียร์ข้อกังขาของสังคมและเรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่านโยบายทวงคืนผืนป่ายึดหลักกฎหมายอย่างเท่าเทียมหรือไม่เพียงใด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ