คอลัมนิสต์

รธน. 60 เจ้าปัญหา ? กับปมต้องแก้ไข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กันเสียที หลังใช้มาระยะหนึ่งแล้วทำให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแก้ไข รธน.ขึ้นมานำร่องศึกษาแก้ไข

        ถึงคราวเสียทีกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560  ที่ต้องยอมรับว่าเมื่อนำมาใช้แล้วเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ

     ที่ผ่านมา แกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ  ไม่ได้ขมีขมัน เรื่องนี้สักเท่าไหร่

      พรรคร่วมรัฐบาลที่กระตือรือร้น เรื่องนี้เป็นพิเศษ ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์  ที่ตั้งเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลผสมตั้งแต่ต้นว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากหมวดว่าด้วย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสียก่อน คือ ปลดล็อกให้รัฐธรรมนูญแก้ไขง่ายขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ออกแบบมาปัจจุบันในทางปฏิบัติแทบเป็น“หมัน”แก้ไขไม่ได้เลย  

      สำหรับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุด จะมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ” ขึ้นมา โดยเบื้องต้นกำหนดจำนวนไว้ที่จำนวน 49 คน โดยแบ่งเป็นสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล 18 คน พรรคฝ่ายค้าน 19 คน และคณะรัฐมนตรี 12 คน แต่คณะรัฐมนตรีขอโควตาเพียง 6 คนเท่านั้นและเป็นคนนอกทั้งหมด เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจหลายด้าน

       โดยในจำนวน 6 คนนี้ จะมีตัวแทนจาก ส.ว.ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล และองค์กรอิสระ ส่วนโควตาของคณะรัฐมนตรีที่เหลืออีก 6 คน จะคืนให้รัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งว่า จะส่งใครมานั่งเป็นกรรมาธิการฯในส่วนนี้   

     และการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” คาดว่าจะเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า 

     และเมื่อตั้งกรรมาธิการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว  กรรมาธิการฯก็จะประชุมกัน แล้วเลือก “ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์ เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ

    ส่วนทางพรรคพลังประชารัฐ เสนอ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนฯ เข้าแข่งในตำแหน่งนี้  เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ต้องการให้นายอภิสิทธิ์   มาดำรงตำแหน่งประธานกมธ.ฯ เพราะท่าทีของนายอภิสิทธิ์นั้นชัดเจนว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเชื่อว่าแนวทางการทำงานร่วมกันนั้นคงเป็นไปได้ยาก นี่คืออีกหนึ่งสาเหตุที่พรรคพลังประชารัฐต้องการให้นายสุชาติยอมรับตำแหน่งประธาน กมธ. ฯ แต่ถ้าหากนายสุชาติ ไม่ยอมรับ ทางพรรคพลังประชารัฐ ก็จะส่งคนอื่นมาเป็นประธาน กมธ.ฯ แทน เพื่อแข่งกับนายอภิสิทธิ์ 

      อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ ชุดนี้ไม่ได้ถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีหน้าที่ในการศึกษาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตั้งคณะกรรมการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการเสนอประเด็นที่จะแก้ไข  โดยต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายด่านตั้งแต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาฯ และต้องมีเสียงรับรองในสภาฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมทั้งยังต้องผ่านการทำประชามติ ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จึงต้องใช้เวลาและมีความยุ่งยากพอสมควร 

     ดังนั้นกรรมาธิการฯ ชุดนี้จึงเปรียบเหมือนวิศวกรที่จะมาช่วยออกแบบแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

      ส่วนปมที่ต้องแก้ไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 60 มีหลายประการ 

   -ระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ผ่านมาทั้งการเลือกตั้งใหญ่-การเลือกตั้งซ่อม ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ปั่นป่วน อลหม่านเพราะระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เจ้าปัญหา 

    เพราะนอกจากทำให้พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. เข้าสภาได้เป็นอันดับ 1 ถึง 137 ที่นั่ง อย่างพรรคเพื่อไทย ต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน โดย พรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล  จาก“พ็อปพูลาร์โหวต” 8,433,137 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 7,920,630 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว

   -  ขณะเดียวกัน ระบบคะแนน ส.ส.พึงมี ที่นำคะแนนโหวตทั่วประเทศมาหาสัดส่วน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองควรได้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.เขต มากที่สุด แต่กลับต้องสูญพันธุ์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ได้แม้สักที่นั่งเดียว 

   ขณะเดียวกัน ยังทำให้พรรคเกิดใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มากถึง 50 ที่นั่ง  และส.ส.เขต 31 ที่นั่ง  รวม 81 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคลำดับ 3  ทันที แม้เป็น“พรรคน้องใหม่” แต่ แจ้งเกิดบนเวทีการเมืองทันที อย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน 

  และระบบคะแนน ส.ส.พึงมี  ยังเกือบส่งผลถึงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 5 นครปฐม ครั้งล่าสุด  เมื่อพรรคอนาคตใหม่แพ้เลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เคยได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562  แต่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ต้องลาออก เพราะประสบอุบัติุติเหตุ มีปัญหาสุขภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้   

      แต่ปัญหาหลังการเลือกตั้งซ่อมนครปฐมเกิดขึ้น เมื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทักท้วงว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (3) ระบุว่า ให้นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมีพึงได้ลบด้วย ส.ส.ที่พรรคนั้นได้ในแบบเเบ่งเขต ที่เหลือเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่การเลือกตั้งซ่อมนครปฐมไม่ได้นำคะแนนมารวม เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดจากการทุจริต

   “ดังนั้น จึงใช้กระดานเดิมในการคำนวณ ส.ส.พึงมีของพรรคอนาคตใหม่ยังมี 81 คน แต่ ส.ส.ปัจจุบันมีเพียง 80 คน จึงอยากฝากนักกฎหมายมหาชนทั่วประเทศช่วยไตร่ตรองว่า นายมานพ คีรีภูวดล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต่อไปควรได้ขึ้นเป็น ส.ส.แทนหรือไม่”

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเดิมมีจำนวน ส.ส.พึงมี 10 คน เมื่อ “เผดิมชัย” เก็บแต้ม ส.ส.เขตได้เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง เท่ากับเพิ่มเป็น 11 ที่นั่ง ส.ส.พึงมี จึงเกินโควตา บนคำถามว่าอาจถูกริบเก้าอี้คืน 1 ที่นั่งหรือไม่

   แต่สุดท้าย ปมปัญหาเรื่องนี้ ก็จบลง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ออกมาฟันธงว่า ไม่ต้องคิดจำนวน ส.ส. พึงมี กันใหม่ เนื่องจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 5 นครปฐม ไม่ได้เกิดจากการทุจริต  ดังนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคที่เดิมมีจำนวน ส.ส. อยู่เท่าไหร่ ก็ให้เป็นไปตามนั้น จะได้ที่นั่งนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นก็เฉพาะพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ได้รับเลือกตั้งซ่อม เป็น ส.ส. ในเขต 5 นครปฐม   

      -การที่บทเฉพาะกาลให้วุฒิสมาชิก( ส.ว.) ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้
       -ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. จึงไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง เพียงแต่อาศัยเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดก็สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งในจำนวนนั้นมีเสียง ส.ว. 250 คน สนับสนุนอยู่แล้ว

  -รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่รับรองสิทธิการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองผู้มีอำนาจออกจากตำแหน่ง

  นอกจากนี้ ยังมีการพูดกันว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลกระทบต่อการเมืองภาคประชาชน  คือ รัฐธรรมนูญได้ปิดล้อมปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของเกษตรกร ,ปิดกั้นการเข้าถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และปิดล้อมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่โหยหาประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ

     อีกทั้ง รัฐธรรมนูญได้ควบคุมลดทอนยึดคืนพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การใช้อำนาจของประชาชนโดยตรงในการมีส่วนร่วมกำหนดหรือตัดสินใจทางการเมือง การเมืองจึงถูกสงวนไว้ให้กับคนบางกลุ่มและภาครัฐเท่านั้น ประชาชนเป็นเพียง “มดงาน”  อำนาจอธิปไตยที่บัญญัติว่า เป็นของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสมือนบทบัญญัติที่เป็นเพียงตัวอักษรเท่านั้น แต่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

     ทั้งหมดเหล่านี้ คงได้ทบทวนแก้ไขกันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ