คอลัมนิสต์

ปณิธาน เตือนภัย ผู้นำรุ่นใหม่ แสดงศักยภาพโหมไฟใต้ส่งท้ายปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปณิธาน" เตือนภัย "ผู้นำรุ่นใหม่" แสดงศักยภาพโหมไฟใต้ส่งท้ายปีโดย...   ศตคุณ ตันทวีวิวัฒน์, นลิน สิงหพุทธางกูร

 

 

 

          รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มองว่า เหตุการณ์ที่คนร้ายเลือกโจมตีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ซึ่งเป็นกองกำลังภาคประชาชน เพราะ ชรบ.ถือเป็นจุดเปราะบาง เป็นเป้าหมายอ่อนแอ แม้จะไม่เปราะบางเหมือนสถานประกอบการเอกชน แต่การรับมือกับเหตุร้ายหรือการโจมตีก็ยังมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกฝึกมามากกว่า

 


          แต่สาเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงต้องใช้กองกำลังภาคประชาชนในการดูแลพื้นที่ ก็เพราะมีข้อดีคือ ถ้าเป็นประชาชนด้วยกันก็จะทราบความเคลื่อนไหวและข่าวสารต่างๆ ของผู้ก่อความไม่สงบซึ่งแฝงตัวอยู่ตามหมู่บ้านเพราะเป็นคนในพื้นที่เหมือนกัน เมื่อได้ข่าวสารก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินสถานการณ์และประมวลข้อมูลเพื่อวางแผนรับมือ แต่อีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องดีก็คือสภาพความเป็นเป้าหมายอ่อนแอ เพราะถึงอย่างไรก็ยังเป็นชาวบ้าน เป็นราษฎรที่เสียสละมาดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัย ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับฝ่ายความมั่นคงว่าจะพลิกจุดอ่อนนี้มาเป็นจุดแข็งในอนาคตได้อย่างไร


          “ผมคิดว่าน่าจะต้องมีการทบทวนถึงเรื่องความเปราะบางในหลายๆ ส่วนที่จะยังตกเป็นเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาพรวมในภารกิจรักษาความปลอดภัย โดยหลังจากนี้การทำงานด้านข่าวกรองของเจ้าหน้าที่จะต้องมีความลึกซึ้งมากกว่าเดิม” อาจาารย์ปณิธาน กล่าว


          ส่วนความอ่อนไหวของพื้นที่ตามแนวชายแดนที่มีข่าวว่าผู้ก่อความไม่สงบมักลำเลียงยุทโธปกรณ์และลักลอบข้ามแดนเข้ามาตามช่องทางธรรมชาตินั้น อาจารย์ปณิธาน ยอมรับว่าขณะนี้มีแนวร่วมรุ่นใหม่ที่ถูกฝึกฝนมาจากนอกพื้นที่ลักลอบเข้ามาตามรอยต่อชายแดนประเทศเพื่อนบ้านจริง ซึ่งทางกองทัพก็พยายามสกัดกั้นแต่ไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมดเพราะพื้นที่แนวชายแดนมีระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จึงต้องทำเป็นจุดๆ เน้นเฉพาะจุดที่สำคัญๆ


          “มาตรการดูแลชายแดนของกองทัพอาจจะยังได้ผลไม่เต็มที่ แต่ก็ลดจำนวนเหตุร้ายได้มากขึ้น แต่กำลังพลที่วางเพิ่มตามแนวชายแดนประมาณ 5,000 นาย กับชายแดนที่ยาวหลายร้อยกิโลเมตรน่าจะยังไม่เพียงพอ ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้การข่าวในการสืบหาข้อมูล”

 

 

          เมื่อให้ประเมินสถานการณ์ไฟใต้นับจากนี้ อาจารย์ปณิธาน มองว่า ปัญหาไฟใต้ยืดเยื้อมานานกว่า 16 ปี การประเมินระยะยาวจึงค่อนข้างยาก ขอประเมินจากช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ก่อน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะตอนนี้มีกลุ่มผู้นำหน้าใหม่ต้องการแสดงศักยภาพ และอาจจะยาวไปจนถึงช่วงปลายปีด้วย


          ส่วนปีหน้าเมื่อคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเริ่มทำงานก็ควรจะมี “พิมพ์เขียว” ในเรื่องของการลดความรุนแรงควบคู่ไปกับการพูดคุยด้านอื่นๆ และต้องเจรจากับทางการมาเลเซียอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการปิดพรมแดนและควบคุมคนกระทำผิดที่มีหมายจับ หรือหมายพ.ร.ก.ที่หลบหนีข้ามไปมาเลเซีย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ