คอลัมนิสต์

เมื่อกองกำลังปชช.ตกเป็นเป้าประเมิน4ปัจจัยไฟใต้ปะทุระลอกใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อกองกำลังประชาชนตกเป็นเป้าประเมิน 4 ปัจจัยไฟใต้ปะทุระลอกใหม่ โดย...   ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 


          5 พฤศจิกายน 2562 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดปฏิบัติการโจมตีที่ก่อความสูญเสียครั้งใหญ่


          คนร้ายล็อกเป้า “จุดตรวจ ชรบ.” ใน ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเป้าหมายและทำร้ายชีวิตประชาชนไปมากถึง 14-15 ราย บาดเจ็บอีก 4-5 คน

อ่านข่าว : Breaking News : คนร้ายยิงถล่ม-ปล้นอาวุธปืน ป้อมชรบ. ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา เสียชีวิต 14 ราย
 

 

 

 

          “ลำพะยา” เป็นตำบลหนึ่งของ อ.เมืองยะลา เป็นเขตติดต่อกับ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี อ.ยะหา จ.ยะลา และ ต.ลำใหม่ อ.เมืองยะลา เวลาเดินทางจากปัตตานีจะเข้าไปที่ยะลา ต้องผ่าน ต.ลำพะยา ก่อนเข้าเขตตัวเมือง


          ที่มาของคำว่า “ลำพะยา” จากเว็บไซต์ของ ThaiTambon.com ระบุว่า แต่เดิมเจ้าพระยาปัตตานีได้ใช้พื้นที่ตำบลลำพะยา เป็นที่พักผ่อนและทรงโปรดการคล้องช้างเป็นอย่างมาก จึงให้สร้างที่พักขึ้นบริเวณหมู่บ้านทำเนียบ ตำบลลำพะยาในปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกที่พักเจ้าพระยาปัตตานีแห่งนี้ว่า “ทำเนียบ” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดสิริปุณณาราม (วัดลำพะยา) บ้านทำเนียบนี้ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของตำบลลำพะยา โดยการคล้องช้างในสมัยนั้นจะนำช้างมาล่ามไว้ที่บ้านทำเนียบ จนชาวบ้านเรียกกันว่า “ที่ล่ามช้างของพระยา” และต่อมาคำพูดนี้จึงกร่อนสั้นลงเหลือเป็นคำว่า “ลำพะยา”

 

 

เมื่อกองกำลังปชช.ตกเป็นเป้าประเมิน4ปัจจัยไฟใต้ปะทุระลอกใหม่

 


          ชรบ. หรือชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกองกำลังภาคประชาชนที่ฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นในภารกิจ “ให้ประชาชนดูแลกันเองและดูแลพื้นที่ของตนเอง” เพื่อรองรับนโยบายถอนทหารหลักออกจากพื้นที่และส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแล


          ชรบ.เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย หรือ รปภ. พื้นที่ขนาดเล็กที่สุด รับผิดชอบพื้นที่หมู่บ้านของตนเอง กองกำลังของชรบ.เป็นประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ โดยมีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) เป็นแกนหลัก ร่วมกับสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นและประชาชนจิตอาสา ทั้งหมดได้รับการฝึกอบรมและการสนับสนุนด้านอาวุธจากภาครัฐ


          ชรบ.มีกระจายอยู่แทบทุกหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ ด้านหนึ่งแม้จะทำให้การดูแลความปลอดภัยในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ตกเป็นเป้าโจมตีเช่นกัน และทุกครั้งที่มีความสูญเสียคนที่ต้องสังเวยชีวิตก็คือประชาชนในหมู่บ้าน รวมถึงฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผรส. และสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น ดังเช่นที่ปรากฏรายชื่อผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการโจมตี ชรบ.ทางลุ่ม ในพื้นที่ ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562

 

 

เมื่อกองกำลังปชช.ตกเป็นเป้าประเมิน4ปัจจัยไฟใต้ปะทุระลอกใหม่



          ในช่วงปีหลังๆ นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ฝ่ายความมั่นคงเริ่มจัดตั้งกองกำลังภาคประชาชนในหน่วยที่ใหญ่ขึ้นกว่า ชรบ. เพื่อเสริมความเข้มข้นในการดูแลพื้นที่ เรียกว่า “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ ชคต. โดยตามแผนการจัดตั้งจะมี ชคต.ครอบคลุมพื้นที่ 288 ตำบลของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จนถึงปัจจุบันตั้งไปแล้ว 164 ชคต.


          โดยชุดคุ้มครองตำบล ประกอบกำลังจาก อส. ทหารพราน และชรบ. ปฏิบัติหน้าที่ดูแลพื้นที่และรักษาความปลอดภัยในระดับตำบลทั้ง รปภ.ครู ดูแลสถานที่ราชการและตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่รับผิดชอบเมื่อชุดคุ้มครองตำบลถูกโจมตีก็มักจะมีกองกำลังภาคประชาชน โดยเฉพาะ อส. และชรบ. บาดเจ็บล้มตายเช่นกัน


          อย่างเช่นเหตุการณ์รุนแรง 2 ครั้งล่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา คือเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 คนร้ายบุกโจมตีจุดตรวจและฐานปฏิบัติการ ชคต.บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้ทหาร ชรบ. และอส. เสียชีวิตรวม 4 นาย


          16 กันยายน 2562 คนร้ายลอบวางระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะทำหน้าที่ รปภ.ครูกลับบ้าน ทำให้ อส.เสียชีวิต 2 นาย


          ขณะที่เหตุการณ์วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 คนร้ายล็อกเป้าไปที่จุดตรวจชรบ. และสาเหตุที่มีความสูญเสียมากถึงกว่า 10 ราย เพราะคนร้ายน่าจะทราบข้อมูลภายในว่าทุกๆ วันอังคาร ชรบ.ทั้งหมดใน ต.ลำพะยา จะมารวมตัวกันตั้งจุดตรวจและปรึกษาหารือกันที่ฐานปฏิบัติการย่อยของ ชรบ.ทางลุ่ม ต.ลำพะยา ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุสลด

 

 

เมื่อกองกำลังปชช.ตกเป็นเป้าประเมิน4ปัจจัยไฟใต้ปะทุระลอกใหม่

 


          ปัจจุบันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงจำนวน 95,974 คน แยกเป็น ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) อรม. (อาสาสมัครรักษาเมือง) ทสปช. (สมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ) และ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) โดย ชรบ.มีจำนวนมากที่สุด


          กองกำลังภาคประชาชนเหล่านี้ทำงานและปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหาร ตำรวจ และอส. อีกจำนวน 39,465 นาย เพื่อดูแลพื้นที่ในภาพรวมและทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแลกันเอง แยกเป็นทหารหลักและทหารพราน 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย และพลเรือน อส. 5,652 นาย (ข้อมูลปีงบประมาณ 2561)


          สำหรับสาเหตุที่คนร้ายเลือกปฏิบัติการความรุนแรงเพื่อโจมตี ชรบ. จนก่อความสูญเสียอย่างมากมายครั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงประเมินและวิเคราะห์ในเบื้องต้นว่ามาจากปัจจัยอย่างน้อยๆ 4 ประการ คือ


          1.ช่วงที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมุ่งคุมเข้มและสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบและผู้ไม่หวังดีจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเพื่อป้องกันการก่อเหตุนอกพื้นที่ เช่น ในกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะะประธานอาเซียนส่งท้ายปี ก่อนส่งมอบหน้าที่ให้เวียดนาม ทำให้มีการทุ่มกำลังไปเพื่อภารกิจนี้ ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อความไมส่งบรอฉวยโอกาสอยู่แล้ว จึงเลือกปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่แทน และเลือกกองกำลังภาคประชาชนที่มีมาตรการรับมือและทักษะการใช้อาวุธน้อยกว่าทหาร ตำรวจ

 

 

เมื่อกองกำลังปชช.ตกเป็นเป้าประเมิน4ปัจจัยไฟใต้ปะทุระลอกใหม่


          2.ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยมาก แต่มีข่าวแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อเหตุต่อชุมชนไทยพุทธและกองกำลังภาคประชาชนมาโดยตลอด เหมือนคนร้ายรอจังหวะและโอกาส


          3.ท่าทีของผู้นำมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ที่พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ยืนยันไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และจะเพิ่มความร่วมมือในการลาดตระเวนร่วมเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายคนและยุทโธปกรณ์ตามแนวชายแดน อาจทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบไม่พอใจและต้องการก่อเหตุแสดงศักยภาพ


          4.มีข่าวการเตรียมพบปะหารือระหว่างหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยของรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยรอบใหม่ และมีข่าวการกดดันให้กลุ่มบีอาร์เอ็นสายฮาร์ดคอร์ หรือตัวแทนกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย อาจเป็นสาเหตุให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องสร้างสถานการณ์เพื่อแสดงศักยภาพและเพิ่มอำนาจต่อรอง


          มีการตั้งข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า ช่วงหลายปีหลังมานี้ การก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่มักมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและความเคลื่อนไหวของต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้


          ประเด็นที่น่าสนใจหลังจากนี้ก็คือการถอดบทเรียนของฝ่ายความมั่นคงว่าการโจมตีที่สร้างความเสียหายระดับนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันกันอย่างไร รวมถึงอนาคตของสถานการณ์ไฟใต้จะกลับมาปะทุรุนแรงช่วงปลายปีที่กำลังจะริเริ่มกระบวนการพูดคุยรอบใหม่ในวาระใกล้ครบ 16 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่...หรือไม่?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ