คอลัมนิสต์

เปิดใจ รสนา โตสิตระกูล  ลงสู้ศึกเลือกผู้ว่าฯกทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจ รสนา โตสิตระกูล  ลงสู้ศึกเลือกผู้ว่าฯกทม. โดย...   เนชั่นสุดสัปดาห์ 

 


 


          สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ลุกเป็นไฟ เมื่อ “รสนา” ผู้เคยคว้าคะแนนถล่มทลาย ถึง 743,397 คะแนน ในการเลือกตั้ง ส.ว.กทม. เริ่มขยับตัวลงชิงชัย

 

          เป็นอีกหนึ่งชื่อที่อยู่ในกระแสล่าสุดสำหรับ “รสนา โตสิตระกูล” ในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

 

 

          เวทีการเมืองระดับท้องถิ่นคึกคักขึ้นทุกขณะ สำหรับสนามเมืองหลวง ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองใหญ่เริ่มขยับสรรหาตัวแทนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.กันแล้ว ทำให้สนามเลือกตั้งแห่งนี้ จะเริ่มกลับมาดุเดือดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 


          “เนชั่นสุดสัปดาห์” มีโอกาสพูดคุยกับ “รสนา” ถึงกระแสข่าวเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.


          เริ่มต้น “รสนา” ตอบคำถามถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้นนั้นยอมรับว่ากำลังคิดอยู่ เพราะมีหลายคนสนับสนุน ส่วนการตัดสินใจอย่างไร จะประเมินจากประชาชนจากการไปพบปะกับกลุ่มต่างๆ


          หากตัดสินใจลงสมัครจะลงในนามอิสระ ไม่ใช่จากตัวแทนพรรคการเมือง


          ขณะที่การตัดสินใจครั้งนี้จะเกี่ยวกับเสียงคนกรุงเทพฯ 743,397 คะแนน ที่เคยได้รับเมื่อครั้งลงสมัคร ส.ว. ปี 2551 หรือไม่นั้น “รสนา” บอกว่า คนที่เคยเลือกไม่ได้มาจากฐานเสียงของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องการเลือกตั้ง ส.ว.กับผู้ว่าฯ กทม. มีความแตกต่างกันพอสมควร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องนำมาประเมิน แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่มีความชัดเจน ทำให้มีเวลาในการตัดสินใจจากปัจจัยต่างๆ ถ้าชัดเจนเมื่อใดจะเปิดแถลงประกาศให้ทราบ


          สำหรับมุมมองการแก้ปัญหาให้กรุงเทพฯ “รสนา” บอกว่า มองเรื่องการแก้ปัญหาทำมาหากินของคนในเมืองจะทำอย่างไรให้คนมีโอกาสและมีพื้นที่ทำมาหากิน


          ขณะนี้การทำมาหากินของคนระดับประชาชนทั่วไปถือว่าฝืดเคือง ปัญหาเรื่องขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องการบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใส จากงบประมาณ 8 หมื่นล้านของหน่วยงาน กทม.แต่ละปี ถ้ารั่วไหล 10% ก็คิดเป็น 8,000 ล้านบาท ถ้า 20% คิดเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท หรือถ้ารั่วไหลเกิน 30% ก็เกิน 2 หมื่นล้านบาท


          สิ่งเหล่านี้ถ้าตัดสินใจจะลงสมัครรับเลือกตั้ง อยากจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะเสนอการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ในเรื่องคุณภาพชีวิต เป็นสิ่งที่อยากฟังจากเสียงชาวกรุงเทพฯ ก่อนการตัดสินใจเช่นกัน

 




          "กรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องของการแย่งชิงกันทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองมีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่ในกรุงเทพฯ มีความซับซ้อนและไม่ง่าย ไม่เหมือน ส.ว. เพราะไม่มีเรื่องงบประมาณเข้ามาแย่งชิงกัน เรื่องนี้ต้องอยู่ที่ความพร้อมของตัวเอง ถ้าอยากจะทำต้องฟังเสียงสนับสนุนของประชาชนก่อน"


          “รสนา” อธิบายถึงการฟังเสียงประชาชน จะมาจากการลงพื้นที่และอาจจะทำข้อมูลให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงในเรื่องอะไร ส่วนตัวสนใจรายละเอียดลงไปในระดับพื้นที่ ถ้าจะทำนโยบายต้องเริ่มต้นพัฒนามาจากระดับล่าง จากปัญหาของประชาชนจริงๆ ด้วยการลงไปฟังประชาชน ซึ่งขณะนี้มีผู้มาชักชวนไปพบประชาชนในแต่ละพื้นที่เพื่อฟังปัญหาและความคิดที่อยากเห็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นแบบไหน อยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอะไร จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลมาประเมินประกอบการตัดสินใจ


          ถามไปถึงการตัดสินใจครั้งนี้ จะพิจารณาจากปัจจัยผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่ “รสนา” บอกว่าอยากฟังจากประชาชนมากกว่า ไม่ได้นึกถึงประเด็นว่าใครจะมาแล้วเป็นอย่างไร โดยเฉพาะต้องพิจารณาจากทีมงานที่สนับสนุนว่าตัวเรามีศักยภาพพอหรือไม่ หลายคนมองว่าเราเป็นนักตรวจสอบไม่ใช่ภาพนักบริหาร ซึ่งจุดนี้ทำให้ต้องมีทีมงานและผู้ที่มีความสามารถหลากหลายเข้ามาช่วย ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญจะพิจารณา


          แต่สิ่งที่ต้องการเห็นในเรื่องการตรวจสอบหากเป็นการบริหาร จะเป็นงานบริหารที่ต้องมี “ธรรมาภิบาล” จะเป็นไปได้หรือไม่จะทำให้เงินใต้โต๊ะไม่มี งบประมาณไม่รั่วไหลจะทำให้ได้จริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่ตัวเองต้องประเมินตรงนี้ เพราะถ้าลงไปสมัครผู้ว่าฯ กทม.จริง อยากเห็นโอกาสที่ทำได้ ไม่ใช่ลงไปแล้วพูดขายฝันเฉยๆ แต่เข้าไปแล้วทำอะไรไม่ได้


          “การตรวจสอบจะปรับมาเป็นการบริหารที่โปร่งใส โดยทีมงานที่เป็นดรีมทีมที่จะมาช่วยให้งานบริหารโปร่งใส เพราะกรุงเทพฯ เป็นงานใหญ่ มีปัญหาสะสมค่อนข้างมาก นอกจากดรีมทีมที่เป็นทีมงาน คิดว่าประชาชนต้องมีส่วนเข้ามาช่วยกัน เหมือนคุณพร้อมเข้ามากวาดบ้านทำความสะอาดด้วยกัน ที่เราบอกว่าสังคมดีไม่มีขายและไม่มีใครบันดาลให้ด้วยนะ สังคมดีเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน เป็นเรื่องที่ตัวเองต้องประเมินความรู้สึกของคนกรุงเทพฯในจุดนี้ด้วย”


          “รสนา” ยอมรับว่า ขณะนี้มีทีมงานอยู่บ้าง แต่ต้องมีเพิ่มเติม ส่วนในแง่ที่ไม่มีฐานการเมืองแบบพรรคการเมืองที่มีเงินนั้น ส่วนตัวไม่มีความคิดอยากจะใช้เงินเข้าสู่อำนาจ เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นการลงทุนเข้าสู่การเมือง ที่สุดก็เข้าไปถอนทุน ตรงนี้เป็นโจทย์ว่าถ้าจะเข้าไปสู่ในจุดนี้ โดยไม่ใช้เงินมากมายจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะตัวเองไม่ใช้เงินมหาศาล ลองคิดว่าถ้าทำงานตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 4 ปี มีเงินเดือนรวมกันประมาณ 4-5 ล้านบาท ถ้าต้องใช้เงิน 30 ล้าน 100 ล้านเพื่อเข้ามาก็ไม่มีเหตุผล เมื่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็มีเยอะ เพราะฉะนั้นหากลงสมัครในนามอิสระโดยไม่ได้มีฐานเสียง ไม่มีเงินทองมากมาย ก็ตั้งใจอยากให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลง


          ส่วนแนวคิดเรื่องการทำมาหากิน ขณะที่ กทม.ยังมีนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย “รสนา” บอกว่าเรื่องนี้ต้องหาจุดร่วมกัน คนชั้นกลางไม่อยากให้มีหาบเร่แผงลอย แต่กลุ่มหาบเร่แผงลอยอาจต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะเพื่อทำมาหากิน ต้องดูความเหมาะสมจะแบ่งปันอย่างไร ต้องมีการจัดระเบียบ เป็นประเด็นสำคัญต้องเข้าไปฟังเพื่อทำเป็นนโยบาย ให้หาบเร่แผงลอยมีพื้นที่ประกอบอาชีพ แต่การประกอบอาชีพต้องถูกจัดระเบียบไม่ใช่เลยเถิดจนคนอื่นเดือดร้อน


          ขณะที่แนวคิดการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องต้องช่วยกันหลายส่วน เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ขณะนั้นยังเป็น ส.ว. สมัยนั้นรัฐบาลทิ้งฝั่งธนบุรี เพื่อไปแก้ปัญหาฝั่งพระนคร ซึ่งตัวเองเป็นคนฝั่งธนบุรี แต่ชวนชาวบ้านริมคลองมานั่งคุยกัน ก็รู้มาว่าในกรุงเทพฯ มีคลองแนวดิ่งเยอะมาก แต่ กทม.ไม่ใช่ มีน้ำท่วมบนถนนแต่น้ำในคลองกลับแห้ง จึงไปดูคลองก็เห็นมีขยะ คลองตื้นเขิน ตอนนั้นชาวบ้านแนะนำให้ทำการผลักดันน้ำตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อฟังชาวบ้านแล้วจึงระดมสรรพกำลังเข้ามา ทั้งทหาร จากที่มี ส.ว.เป็นทหารหลายคนสามารถประสานนำทหารไปช่วยลอกคลอง มีชาวบ้านมาช่วยกันเก็บขยะ วัชพืชต่างๆ


          “จากที่รัฐบาลบอกว่าจะทิ้งพระราม 2 เพราะท่วมแน่นอนหากมีมวลน้ำไหลข้ามทางรถไฟสายใต้ใหม่ แต่จากการทดลองทำ เราทำให้น้ำไม่ท่วมพระราม 2 โดยขณะนั้นกรมชลประทานบอกว่า จากน้ำที่ไหลลงทะเลผ่านคลองอยู่ที่ 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่สามารถเพิ่มเป็น 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้น้ำไม่ท่วมพระราม 2”


          จากเหตการณ์นี้ทำให้ “รสนา” มั่นใจว่าการแก้ปัญหาหลายๆ ต้องดึงสรรพกำลังจากคนในพื้นที่มาร่วมกันปัญหาในกรุงเทพฯ เพราะคลังของคนในกรุงเทพฯ มีเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาส จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาโดยอาศัยการสะท้อนของชาวบ้านในพื้นที่


          “เราอยากจะดึงคนที่มีความสามารถ คนคุ้นเคยกับพื้นที่ มาเสนอความเห็นเพื่อแก้ปัญหากรุงเทพฯ ต้องมาจากความร่วมมือกัน แต่ต้องผ่านด่านแข่งขันกว่าจะเข้าไปพื้นที่นั้นได้ ตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ประเมินอยู่ว่าตัวเองมีพละกำลังพอหรือไม่ที่จะเข้าไปต่อสู้ได้”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ