คอลัมนิสต์

กองทัพ แกนนำ อาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กองทัพ แกนนำ อาเซียน คอลัมน์...  ถอดรหัสลายพราง  โดย... พลซุ่มยิง

 

 

          แม้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จะปิดฉากลงพร้อมๆ กับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยที่ถูกส่งต่อให้แก่ประเทศเวียดนาม หลังได้แสดงบทบาทประสานความร่วมมือระหว่างประเทศที่ครอบคลุมทุกมิติตลอด 1 ปีที่ผ่านมา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม คาดหวังให้ ‘กองทัพ’ ได้เป็นแกนกลางของอาเซียน

 

 

          ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ‘กองทัพไทย’ พยายามเป็นผู้นำร่อง บุกเบิก ชักชวนสมาชิกอาเซียนเข้าสู่ความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่น การก่อตั้งศูนย์แพทย์อาเซียน เพื่อรองรับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในมิติใหม่ ที่ไม่ได้มาจากการสู้รบหรือการเผชิญหน้าเฉกเช่นในอดีต แต่มาในรูปแบบภัยพิบัติธรรมชาติ หรือการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย จนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศ


          หรือแม้กระทั่งภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ในลักษณะสงครามลูกผสม ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบเป็นลูกระนาดแนวเดียวกัน ก็อาศัยเวทีการประชุมในระดับผู้นำทหาร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และหาวิธีป้องกัน ตลอดจนถึงการก่อการร้ายในภูมิภาค และการหลงผิดของประชาชนที่เข้าร่วมขบวนการ ซึ่ง ‘กองทัพไทย’ เป็นตัวกลางเดินสายสัมพันธ์ที่ดีเสมอมา


          นอกจากนี้ กองทัพไทย ยังสร้างความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนและชาติมหาอำนาจผ่านการฝึกในรูปแบบต่างๆ เพื่อเรียนรู้วิทยาการและแลกเปลี่ยนทางด้านยุทธวิธี อาทิ การฝึกคอบร้าโกลด์กับสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งกับสาธารณรัฐประชาชนจีนหรืออินเดีย ที่ต่างจับจ้องและให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งทางน้ำและทางบก

 

          ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าปัจจัยภายในและนอกประเทศ ล้วนมีความละเอียดอ่อน แม้ภาพลักษณ์ภายนอก กลุ่มอาเซียนจะมีความสัมพันธ์ที่ดียึดมั่นในหลักการ คือการไม่ละเมิดแนวคิดลัทธิ และเคารพสิทธิ์ในรูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่างกันในภูมิภาคนี้ ล้วนขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและประเพณี



 


          แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีความคุกรุ่นในกลุ่มชาติสมาชิก ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บและสร้างแสนยานุภาพของกองทัพ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่อาเซียนจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่สุด ที่ประเทศมหาอำนาจมองว่ามีกำลังซื้อที่หอมหวนและต่างพุ่งเป้ามายังภูมิภาคนี้


          อีกทั้งยังมีปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่กลุ่มเคลื่อนไหวมักจะหยิบยกข้อแตกต่างระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนมาเป็นประเด็นกดดันในทางอ้อม อย่างกรณีเลิกเกณฑ์ทหาร ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้น ที่ยังดำรงรูปแบบจารีตการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร ในขณะที่ประเทศอื่นใช้รูปแบบการสมัครใจ


          อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน ถึงการถ่วงดุลกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ถือว่า ‘กองทัพไทย’ มีศิลปะและชั้นเชิงในการรับมือกับสภาวะการปกครองที่อยู่ในรูปแบบ ‘รัฐประหาร’ แต่สามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น ในขณะเดียวกันก็ยังแสวงหาประเทศมหาอำนาจอื่นที่พร้อมยอมรับในสภาวะต้องจัดการเรื่องภายในให้เรียบร้อย ก่อนเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย


          ทั้งนี้หาก ‘กองทัพไทย’ จะก้าวไปเป็นแกนนำอาเซียน ต้องยกระดับการเป็นทหารยุคใหม่ที่นอกจากจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยแล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชนยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง เพราะในอนาคตการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วย ‘รัฐประหาร’ จะไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป


          ขณะเดียวกัน ‘กองทัพ’ ก็เล็งเห็นถึงความจริงในข้อนี้ จึงเริ่มปรับตัวโดยสะท้อนผ่านแนวทางของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งทหารไปศึกษาหลักสูตรต่างๆ ในสหรัฐ นอกจากจะเพิ่มพูนขีดความสามารถแล้ว ยังเรียนรู้กระบวนการของนายทหารภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 


          แนวโน้ม ‘กองทัพไทย’ ที่จะกลายเป็นแกนนำของอาเซียนนั้นคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งสะท้อนผ่านท่าทีของผู้นำเหล่าทัพ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตทางความคิดของนายทหารรุ่นใหม่ เพื่อสอดคล้องกับวิถีทางประชาธิปไตย ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกองทัพให้เป็นสากลมากขึ้น

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ