คอลัมนิสต์

หนทางอีกยาวไกล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนทางอีกยาวไกล คอลัมน์...  วงในวงนอก   โดย...  อสนีบาต [email protected]

 

 

          “ใครจะเป็นก็เป็นไปเถอะ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (6 พ.ย.) ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) มีมติเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าประกวดชิงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าว : ไพบูลย์ หนุนตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน.
 

 

 

          ขยายความเพิ่มเติมบทสัมภาษณ์ "ลุงตู่” สักหน่อย ท่านบอก “ไม่ได้ขัดข้องเลยใครจะมานั่งหัวโต๊ะ ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอน แก้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประชาชนต้องการก่อน ขั้นตอนมีอยู่ ไม่ใช่แก้วันเดียวเสร็จ นี่เป็นแค่ศึกษามิใช่หรือ”


          สะท้อนให้เห็นว่า “ลุงตู่” ซึ่งถือเป็นหมากตัวสำคัญในวังวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ่านเกมออกว่า เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะฝ่ายกระเหี้ยนกระหือรืออยากแก้ รธน.ใจจะขาด ยังต้องเหนื่อยอีกหลายยก


          อีกอย่างการจุดประเด็นใครจะเป็นประธานกมธ.วิสามัญแก้ไขรธน. ไม่ใช่จะเกิดขึ้นวันนี้หรือวันพรุ่ง อีกอย่างการตอบไปในเชิงแนวโน้ม ถ้าจะแก้ไขรธน.ต้องแก้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์เป็นความต้องการของประชาชน นั่นแสดงว่า “ไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรธน.” เป็นการตอบโดยจับจังหวะเงื่อนไขเวลาที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้

 

          แต่ถ้าขืนตอบไปว่า "ไม่แก้ไข ไม่เห็นด้วย” ยิ่งจะสร้างประเด็นเข้าทางฝ่ายกระเหี้ยนกระหือรือ วกกลับมากดดัน "ลุงตู่” อีก ท่านจึงเล่นเป็นในจังหวะ “น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง”


          ตอนนี้ขอนั่งตีขิมดูบรรดานักการเมืองถกแถลงความเห็นที่ไม่ลงรอย ให้ลงตัวกันให้ได้เสียก่อน นั่นคือ สิ่งที่ “ลุงตู่” มองสถานการณ์ตรงนี้ออกอย่างแหลมคม


          ลองไล่ดูเส้นทางความพยายาม "แก้ไขรธน.” บ้าง เริ่มตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ บรรดานักการเมืองผู้สถาปนาเป็นนักสัมปทานประชาธิปไตย ออกโรงคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ โวยวายการออกแบบ ส.ว.ลากตั้งเพื่อค้ำยันฝ่ายสืบทอดอำนาจ

 

 

 




          ฝ่ายคัดค้านรธน.ฉบับปัจจุบัน ก็อาศัยรธน.ฉบับนี้นี่แหละ เลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทำงานกันยังไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ไม่รู้ได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนปวงชนชาวไทยสำเร็จมรรคผลเรื่องใดบ้าง


          ทว่าเรื่องเด่นสุดภายในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน ท่านผู้แทนฯ ซึ่งเทน้ำหนักไปทาง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ฟิตจัดกับการรณรงค์แก้ไข รธน.


          ทางหนึ่งสร้างแนวร่วมนอกสภางอกเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไข รธน. ทางหนึ่งในสภา เริ่มขยับอีกครั้งด้วยการผลักดันญัตติตั้งกรรมาธิการแก้ไข รธน. โดยทันทีที่มีการเปิดประชุมสภา ประเด็นการแก้ไข รธน. จึงถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีพลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาขอแจมด้วย เพราะนิ่งเฉยไม่ได้เนื่องจากดันไปกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงไว้ จะแก้ไข รธน.เพื่อปวงประชา


          นายเทพไท เสนพงศ์ จากประชาธิปัตย์ จึงต้องเล่นเกมนี้ต่อไปในลักษณะ "ดันให้สุดหยุดไม่อยู่” ด้วยการเสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชิงเก้าอี้ประธานกมธ. พรรคปชป.จึงรับลูกออกมติ ให้ "พี่มาร์ค” ผู้นำทัพส.ส.พ่ายแพ้ในกทม.อย่างหมดรูป และเหล่าขุนพลแถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เข้าชิงโควตา กมธ.


          เมื่อองคาพยพในสภาจะมาว่ากันด้วยญัตติตั้งกมธ.แก้ไขรธน. ต้องว่ากันไปเป็นลูกระนาด พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล หรือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่มีนโยบายหาเสียงแก้ไข รธน. แต่เมื่อกระบวนการสภาเดิน เป็นเรื่องที่พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ต้องรักษาสิทธิ เสนอชื่อบุคคลเข้าไปร่วมใน กมธ.ด้วย


          ถึงได้บอกว่า กว่า กมธ.แก้ไขรธน.จะเป็นรูปเป็นร่าง กว่าจะหาบุคลากรนั่งหัวโต๊ะกมธ.ชุดนี้ ยังอีกยาว ที่สำคัญ มั่นใจแค่ไหนเพียงไร ว่า “อภิสิทธิ์” จะเข้าวินเป็นประธานกมธ.


          ไหนจะต้องเผชิญกับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีโควตาเหนือกว่า ไหนจะต้องถามใจพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียก่อน ยิ่งล่าสุดมีเสียงคัดค้านดังออกมาเป็นระยะ ไม่เอาด้วยกับชื่อ "มาร์ค”


          แค่ประกอบร่างเป็น กมธ. ฝุ่นตลบกันพอสมควรแล้วครับ


          อีกอย่าง กลับไปดูให้ดี นี่เป็นแค่ กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นไปตามที่ “ลุงตู่” กล่าวไว้ข้างต้นในลักษณะอ่านเกมออกอย่างเบาใจ “นี่แค่ศึกษามิใช่หรือ”


          อย่าลืม “ลุงตู่” แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ในส่วนที่สาม นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง โดยเรื่องที่ 12 ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายเสียด้วย ระบุว่า “การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”


          นี่แค่ “กำลังจะ” ตั้งกมธ.ชุดประธานอลหม่านกันอยู่เองนะครับ เดี๋ยวต้องไปรับฟังความเห็นประชาชน แล้วลงมือดำเนินการแก้ไข รธน. จะเป็นเนื้อเป็นหนังขนาดไหน


          เอาว่าวางปฏิทินคร่าวๆ ยาวไปถึงปีหน้าโน่นล่ะ (ยังไม่ขอกล่าวถึง ส.ว.จะร่วมด้วยช่วยโหวตไหม) แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ…


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ