คอลัมนิสต์

ปธ.ฎีกา- ปธ.สภาฯตั้งเป้าสร้างมาตรฐานเคารพกฎหมาย-ลดเหลื่อมล้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ – นายชวน หลีกภัย 2 ประมุขอำนาจอธิปไตย ฝ่ายตุลาการ-ฝ่ายนิติบัญญัติ ประสานเสียงตั้งเป้าสร้างมาตรฐานเคารพกฎหมาย-ลดความเหลื่อมล้ำ

      เกศินี แตงเขียว

   “นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ – ”นายชวน หลีกภัย“ 2 ประมุขอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ-ฝ่ายนิติบัญญัติ”  ซึ่งเป็นศิษย์เก่านิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมวงปาฐกถาในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่20 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น3อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์   

 

      “นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกาคนที่45  ในฐานะประมุขฝ่ายตุลาการ ได้รับเชิญปาฐกถา เรื่อง “คุกมีไว้ขังคนจน...จริงหรือ? ซึ่งได้เกริ่นว่า ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง ตนยังไม่มีนโยบายใดๆ ทั้งสิ้น  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตนได้ทำก่อนที่จะออกนโยบาย คือการหารือกับทีมงานของตนว่าประธานศาลฎีกาควรจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ วันที่ 1 ต.ค.62 ตนจึงเซ็นหนังสือถึงศาลทั่วประเทศ กระบวนการยุติธรรมทั่วประเทศ และเผยแพร่ถึงประชาชนทั่วประเทศว่าเขาอยากให้ศาลเป็นอย่างไรขอให้ส่งความคิดเห็นมา ก็เป็นสิ่งที่ได้ลองทำดู แล้วก็ได้ผลเกินคาด โดย 60% ของความคิดเห็นที่ส่งมาเป็นของเจ้าหน้าที่ในศาลหรือในกระบวนการยุติธรรม อีก 40% เป็นที่ประชาชนส่งมาสะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกของคนทั่วๆไปยังมองว่าศาลยุติธรรมยังมีปัญหาต้องแก้ไข

         ปธ.ฎีกา- ปธ.สภาฯตั้งเป้าสร้างมาตรฐานเคารพกฎหมาย-ลดเหลื่อมล้ำ

                                                           ไสลเกษ วัฒนพันธุ์

     " ผมก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เรากำหนดนโยบาย แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่ผมอยู่ในตำแหน่งเพียงปีเดียวแต่ผมก็คิดว่าเลือกลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขได้ก่อน และสามารถจะทำได้จริง โดยในวันที่ 7 พ.ย.นี้ จะได้แถลงนโยบายให้กับสื่อและสาธารณชนได้ทราบทั่วไป โดยสิ่งแรกคือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่วนที่มีหลายคนบอกว่าศาลปล่อยตัวคนน้อย ศาลไม่ค่อยให้โอกาส จนเลยไปถึงคำที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน จริงหรือไม่” ตรงนี้ผมไม่ทราบว่าประโยคที่กล่าวจริงหรือไม่ ลองไตร่ตรองดูรายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศบอกว่าคนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน แต่น้อยมากที่รายงานให้คำนิยามว่า “คนจน” คือใคร อะไรคือคนจน หรืออะไรคือคนรวย มีความแตกต่างหรือไม่ว่าคนจน กับคนรวยทำความผิดแตกต่างกัน ซึ่งเราสันนิษฐานจากสามัญสำนึกว่าถ้าคนที่มีความรู้ มีการศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีฐานะ มีโอกาสที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ เมื่อเขามีโอกาสเรียนก็เรียนรู้เข้าใจอะไรมากขึ้น แต่คำถามคือการทำผิดจะน้อยลงจริงหรือไม่ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ผมรวยแล้ว ผมไม่โกง” คำถามคือการศึกษาช่วยให้คนไม่ทำผิดหรือไม่ เป็นข้อที่น่าคิด ส่วนที่ว่าคนรวยกับคนจน ใครมีโอกาสทำผิดมากกว่ากัน แน่นอนที่สุดคนจนคือคนที่ด้อยโอกาสซึ่งกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ คือการกระทำผิดง่ายๆ เกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น รับของโจร กรรโชกทรัพย์คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีความต้องการทางเศรษฐกิจ ส่วนคนรวย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฉ้อโกงใช่หรือไม่ คนรวยเป็นคนที่มีความรู้ ความรวยจะรวยจากตลาดหลักทรัพย์ปั่นหุ้น ฟอกเงินหรือไม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจมีวิธีการกระทำความผิดที่ใช้องค์ความรู้ที่มีความเนียบเนียนกว่า ซับซ้อนกว่า คนจนมีหนีภาษีหรือไม่ หรือมีไปขอรับVATโดยที่ตัวเองไม่ได้ส่งออก-นำเข้าหรือไม่ ดังนั้นกระบวนการทำความผิดส่วนหนึ่งจึงเกิดจากโอกาสและการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง"            ปธ.ฎีกา- ปธ.สภาฯตั้งเป้าสร้างมาตรฐานเคารพกฎหมาย-ลดเหลื่อมล้ำ

            จึงเกิดคำถามว่าแล้วในคุกมีคนจน-คนรวยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากตัวเลขสถิติพบว่า คนที่ต้องขังในปี 2561 มีคนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ ประมาณ 680,000 คน ในจำนวนนี้ศาลจำคุกประมาณ 90,000 คนคิดเป็น 16.5% ที่เหลือศาล 42%ใช้วิธี เช่น รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ ส่วนกว่า 50%ใช้วิธีการปรับ-กักขัง-คุมความประพฤติ แล้วถามว่าในคนที่ติดคุกมีคนจน-คนรวยกี่เปอร์เซ็นต์ซึ่งไม่เคยมีรายงานวิจัยที่ไหนโดยเฉพาะในประเทศไทยยืนยัน เพราะ 1.ไม่ได้นิยามว่า “คนจน-คนรวย” แตกต่างกันตรงไหน2.ในเมื่อแยกไม่ออกระหว่าง คนจน-คนรวย ตรงนี้เราจะสรุปได้หรือไม่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน ขณะที่หากดูในสถิติปี 2562 จนถึงวันที่ 1 ต.ค.62 มีคนที่ต้องขัง 360,000 คน นั้นเป็นการขังระหว่างสอบสวน 20,000 กว่าคน คิดเป็น 5.5%,ถูกขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 2.8%ประมาณ 10,000 กว่าคน ถูกขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา 8%รวมการถูกขังแล้ว 16%ส่วนที่เหลือ 83-84%ที่ถูกขังคือผู้ที่ต้องโทษเด็ดขาดว่ามีความผิดต้องโทษจำคุกแล้ว จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกันคือการบังคับคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

       “ถ้าบอกว่าตรงนี้มีช่องว่างว่าทำไมจำคุกเฉพาะคนจนตรงนี้น่าคิดว่าจะใช่หรือไม่ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ปฏิเสธหรือยืนยัน แต่อยากให้พูดกันด้วยตัวเลขและข้อมูลที่แท้จริง”

      “นายไสลเกษ” ยังกล่าวสิ่งที่จะเป็นนโยบายกำลังจะทำในช่วงปีการดำรงตำแหน่งประมุขตุลาการ1 ปี คือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในระหว่างการเป็นผู้ต้องหา หรือในระหว่างการพิจารณาคดี ที่จะทำอย่างไรให้เขามีโอกาสได้รับการประกันตัวมากที่สุด ลองมาดูตัวเลขปี 2560 มีคำร้องขอปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) ระหว่างการพิจารณา 220,000 ราย ศาลปล่อยตัวชั่วคราว 212,000 ราย เท่ากับปล่อยตัวทั้งหมด 93.6%หมายความว่าที่ถูกขังระหว่างพิจารณามีแค่ 16-17%แล้วคิดว่าตัวเลขนี้สูงหรือไม่ ศาลกักขังคนไว้ระหว่างการพิจารณาโดยไม่จำเป็นจริงหรือไม่ นี่คือคำตอบเชิงสถิติ ข้อกล่าวที่บอกว่าศาลคุมขังคนโดยไม่จำเป็นจริงหรือเปล่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับตัวเลข 16%ที่จะให้ออกไปจากคุกระหว่างรอการพิจารณาคดี ทางกรมราชทัณฑ์บอกว่าพื้นที่คุกปัจจุบันนี้ไม่พอจะขัง และยังมีคนเคยบอกว่าพื้นที่นี้เอาไปขังคนที่ไม่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 ที่บอกว่าให้สันนิษฐานว่าตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จึงไม่ควรขังผู้บริสุทธิ์นั้น หากอยู่ระหว่างการสอบสวน , อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา ตรรกะตามรัฐธรรมนูญนี้มีเหตุผลน่ารับฟัง

       " แต่ผมขอถามว่าหากคดีศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดแล้ว คิดว่าคนนั้นจะสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ แล้วคิดต่อไปว่าเมื่อคดีไปถึงศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยืนว่ามีความผิดคนนี้จะสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ ซึ่งกฎหมายไม่ว่าวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือวิธีพิจารณาอาญา คำพิพากษาของศาลผูกพันคู่ความอยู่ตลอด ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก เพิกถอน หรือแก้ไข เปลี่ยนแปลง ดังนั้นกรณีอย่างนี้สมควรจะปฏิบัติอย่างไรกับผู้ต้องหาที่อยู่ในชั้นสอบสวน กับจำเลยที่คดียังสืบพยาน กับคดีที่ตัดสินแล้วในศาลชั้นต้น กับคดีที่ตัดสินว่าในชั้นอุทธรณ์ จะปฏิบัติในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ขณะที่ศาลมีอำนาจหน้าที่พิจารณาปล่อยชั่วคราว ก็มีหลักคิดถึงผู้เสียหาย และเหยื่อด้วย โดยการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกไปต้องดูด้วยว่าบุคคลซึ่งอาจมีเหยื่อที่เป็นเด็ก ที่เป็นหญิง เป็นคนชรา คนด้อยโอกาส จะถูกคุมคามทั้งในความรู้สึกหรือในความเป็นจริงหรือไม่ ดังนั้นจึงคิดว่านโยบายการคุ้มครองสิทธิในการปล่อยชั่วคราว จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเหยื่ออาชญากรรม และความปลอดภัยของสังคมด้วย เราคงไม่ปล่อยคนที่ข่มขืน-ฆ่า ไม่ว่าจะรวย-จนแค่ไหน”

      โดยนายไสลเกษ  ยังพูดถึงเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียด้วยว่า ทุกวันนี้มีหลายเรื่องที่โซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้เกิดดรามาในสังคม เช่น ที่อาจเคยได้ยินกันเรื่องตายายเก็บเห็ดแล้วถูกขังคุก แต่เบื้องลึกเมื่อคดีเข้าสู่ศาลคือตากับยายครอบครองไม้ต้องห้าม จะครอบครองแทนใครไม่ทราบ แต่มีข้อมูลว่าครอบครองและบุกรุกทำลายป่ากว่า 10 ไร่ขึ้นไป ส่วนอีกคดีหนึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตคดีอาจารย์ (อาจารย์นิด้า) ใช้อุปกรณ์ในถุงกอลฟ์ทำร้ายภรรยาเสียชีวิตจากเหตุทะเลาะระหองระแหงกัน ช่วงก่อนคดีจะเข้าสู่ศาล มีการนำเสนอข่าวในสื่อ และนสพ. นานเป็นสัปดาห์ ระบุถึงอาวุธเป็นเหล็กไม้กอลฟ์ขนาดต่างๆ แต่เมื่อคดีมาถึงศาลในสำนวน อาวุธที่ใช้นั้นเป็นร่ม และเรื่องนี้จบลงที่สามีรับสารภาพ แต่ในทางสังคมรับรู้ไปอีกอย่างหนึ่งเป็นดรามาไปแล้ว

       ส่วนอีกฟากประมุขนิติบัญญัติ “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเชิญปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความหวังสภาผู้แทนฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ2560” 

ปธ.ฎีกา- ปธ.สภาฯตั้งเป้าสร้างมาตรฐานเคารพกฎหมาย-ลดเหลื่อมล้ำ

     ประธานสภาฯ ได้กล่าวถึงข้อคิดตอนหนึ่งว่า ด้วยความตั้งใจที่จะมาเป็นนักการเมือง ไม่ได้เกิดความย่อท้อหรือหวั่นไหวกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการยึดกระบวนการรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางในการปกครองประเทศในโลกประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลานั้นจะสังเกตเห็นว่า รัฐธรรมนูญใดก็ตามที่ออกมาช่วงหลังการยึดอำนาจ จะมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้ให้ผู้กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และก็เป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่อดีตก่อนยุค คสช. จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวยนัก เช่น ปี 2521 ใช้มาถึงปี 2534 กระทั่งทหารยึดอำนาจมีฉบับปี 2534-35 ใช้มาจนถึงปี 2540 กระทั่งมาออกรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2540 ที่ว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดแต่ก็ใช้ได้เพียง 9 ปีส่วนฉบับปี 2550 ก็ใช้ได้แค่ 7 ปี กับฉบับปี 2560 จะใช้ได้นานเท่าใดเราก็ยังไม่รู้ 

  "แต่อยากบอกว่าในฐานะเป็นนักการเมือง แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญคือตัวโครงสร้างของการกำหนดประเทศชัดที่สุดว่าอำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการเป็นอย่างไร โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีมาตรา 3 กำหนดเป็นหลักไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา ครม. และศาลยุติธรรม” แต่มีแค่ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550 ที่มีเขียนเพิ่มต่อท้ายเป็นครั้งแรกอีกว่า สถาบันทั้งสามและองค์กรอื่นๆ ต้องยึดหลักนิติธรรมในการบริหาร พูดง่ายคือยึดกฎหมาย แล้วทำไมต้องเขียน คำตอบคือเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่คิดว่าเป็นฉบับที่ดีฉบับหนึ่งแม้จะเป็นประชาธิปไตยเท่าฉบับปี 2517ที่ให้การแถลงนโยบายต้องรับความเห็นชอบ ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยปี 2518 เคยล้มไปเพราะการแถลงนโยบายไม่ได้รับความเห็นชอบ แต่ปัญหาที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับถูกยกเลิกนั้นอาจไม่ใช่จากจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าช่วงร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องเขียนบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะช่วงการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มีคณะบริหารละเมิดไม่ยึดหลักนิติธรรม เช่น การแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งนโยบายวันที่ 8 เม.ย.44 คือที่มาของภาคใต้วันนี้ คนที่รู้ก็เกษียณหมดแล้ว คนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนั้นก็ถูกย้ายจนเกษียณไปแล้ว โดยวันที่ 7 เม.ย.44 มีระเบิดที่หาดใหญ่มีคนเสียชีวิต นายกฯ ไปวันที่ 8 เม.ย.แล้วก็ให้นโยบายคืนนั้นแถลงผ่านสื่อว่าปัญหาภาคใต้รัฐบาลนี้รู้หมดแล้ว ทุกอย่างจะแก้ปัญหาจบใน 3 เดือน คำว่า 3 เดือนคืออะไรก็ไปสืบกันดู โดยวันนั้นมีคนเดียวที่กล้าค้านคือรองแม่ทัพภาค 4 ซึ่งผมเคยเชิญท่านมากินข้าวและสอบถามความจริงถึงการคัดค้าน โดยท่านเห็นว่าวิธีแนวนั้นฟังแล้วคิดว่าจะมีปัญหาแน่จึงค้านไว้แต่ภายหลังก็ถูก ผบ.ทบ.เรียกไปพบและถูกตำหนิว่าทำอะไรให้นายกฯโกรธ ท้ายที่สุดจึงถูกย้ายและไม่ได้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาค ซึ่งผมก็เคยเตือนเรื่องนโยบายความมั่นคงว่า หากไม่แน่ใจว่านโยบายใหม่ดีกว่า อย่าเพิ่งไปทดลอง เพราะหากพลาดแล้วแก่ยาก โดยพลาดตั้งแต่นโยบาย 8 เม.ย.44 จนวันนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6,000 กว่าคน มีอาชีพเดียวที่ยังไม่เสียคือหมอ ขนาดผู้พิพากษายังมีเสียชีวิตที่สี่แยก จ.ปัตตานี แนวปฏิบัติที่ยึดตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

        “ดังนั้นปัญหาเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญ กับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือปัญหาที่ต้องไปคู่กัน คือ บ้านเมืองจะปกครองด้วยดีและเหมาะสม ต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม”

         ทั้งนี้นายชวน ยังกล่าวถึงการใช้กฎหมายด้วยว่า ก็ฝากความหวังไว้กับท่านประธานศาลฎีกาด้วยว่า ในบ้านเมืองเรานี้ไม่มีทางทำให้ทุกคนรวยได้เหมือนกันหมดแต่เราต้องทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายได้อย่างเท่าเทียมกัน เรื่องความเหลื่อมล้ำฐานะมีในทุกประเทศ ทุกระบบการปกครอง แต่ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายสามารถแก้ได้ คนจนทำผิดก็รับผิด คนรวยก็ต้องรับผิด พูดง่ายๆ คือความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงหวังศาลยุติธรรมมากว่าคนผิดต้องผิด ไม่ใช่คนผิดแล้ววิ่งเต้นได้ เป็นคุณหญิง หรือเป็นพลเอกวิ่งเต้นได้ สามารถทำให้คดีจบโดยไม่มีการฎีกา ขณะที่คดีชาวบ้านฎีกาทุกเรื่อง

      “ขณะที่ผมในฐานะที่ได้มาเป็นประธานสภาฯ ก็ตั้งใจว่า สภาคือฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ในอำนาจอธิปไตย ฝ่ายออกกฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศ เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เราออกไป เราจึงต้องเป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย ในสภาก็คือกฎและข้อบังคับ ผมก็บอกสมาชิกว่าต่อไปนี้เราต้องวางมาตรฐานสภาของเราให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ ไม่ใช่สภาเทศบาล เราต้องอยู่ในกติกาให้เป็นแบบอย่างกับสภาท้องถิ่น ทุกฝ่ายต้องเคารพกัน ผมก็บอกทั้งรัฐบาลและนายกฯ ต้องมาสภา ต้องมาตอบกระทู้ เมื่อมีญัตติเสนอท่านต้องมา เว้นมีเหตุผลที่กฎหมาย ข้อบังคับเขียนยกเว้นไว้ให้ ”

    ประธานสภาฯ ยังฝากในตอนท้ายด้วยว่า ประเทศเรายังมีจุดอ่อนเรื่องวินัยด้วย ยังมีการละเมิด ไม่เคารพกติกา ก็ควรที่รณรงค์ความเป็นวินัย ให้เป็นวาระแห่งชาติ เสียดายช่วง 5ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ