คอลัมนิสต์

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2562

 

 

 

          น่าสนใจยิ่งว่าการหยิบยกเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็น “ธีม” สำหรับการประชุมระดับนานาชาติจะสอดคล้องต้องกันกับการดำเนินนโยบายของนานาชาติหรือไม่ ทั้งนี้ ในการประชุมอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุมก็ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งโดยหยิบยกเอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกันฟันฝ่า โดยเฉพาะความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ระดับโลกและภูมิภาค ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติมูลค่าสูงถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นสำคัญจะทำให้ภูมิภาครับมือและก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้

 

 

 


          ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างพูดคุยกับเยาวชนไทยเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดอาเซียนในรายการ Government Weekly ว่าการประชุมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลัก 3 อาร์ คือลดขยะ นำกลับมาใช้ และรีไซเคิล รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการประชุมจะครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจราจร 2.ลดการใช้เอกสาร 3.วัสดุตกแต่งสถานที่สามารถใช้ซ้ำได้ 4.ไม่เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ และ 5.คำนวณค่าคาร์บอนจากการจัดงาน ชดเชยด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อทดแทน นอกจากไทยจะริเริ่มการจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่ง


          แวดล้อมยังมุ่งผลักดันประเด็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคและโลก เช่น ปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่าและการบุกรุก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อให้อาเซียนมีสภาพแวดล้อมสีเขียว สะอาด เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นการพูดถึงบทบาทของไทยและอาเซียนกับสิ่งแวดล้อมในเวทีการประชุม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นข้อน่าสงสัยว่าหลายประเทศในอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่ได้รับเชิญมาใส่ใจหรือจริงใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคหรือไม่ อย่างเช่น การก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงนับ 10 แห่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งต้องแลกมาด้วยการทำลายล้างสภาพแวดล้อมอย่างเหลือคณานับ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์บก พันธุ์นกบนฟ้าหลายพันชนิด ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายแก่สภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรหลายประเทศที่แม่น้ำนานาชาติซึ่งสามารถผลิตอาหารจากสัตว์น้ำจืดได้มากถึงหนึ่งในสี่ของโลกไหลผ่านนับแต่ทางตอนใต้ของจีน เมียนมาร์ ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผู้นำประเทศและตัวแทนเข้าร่วมประชุมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

 

 

 

          ไม่กี่วันก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นที่กรุงเทพฯ เขื่อนไซยะบุรีในลาวเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยในสภาพที่เขื่อนนี้ตกเป็นจำเลยผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดแก่ลำน้ำโขงอย่างใหญ่หลวง แต่ก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เขื่อนต่างๆ ที่กั้นลำน้ำโขงนั้นเป็นเขื่อนทดน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำแบบมีอ่างเก็บ เมื่อน้ำจากธรรมชาติจากจีนไหลผ่านมาเท่าไรก็ต้องปล่อยออกทางท้ายเขื่อนในปริมาณที่เท่ากัน แต่ในอีกด้านหนึ่งเขื่อนพลังงานไฟฟ้าก็จะถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ที่การผลิตกระแสไฟฟ้าอันจะส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำที่ทดไว้โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำเป็นเรื่องรองหรือไม่ กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวีที คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย จะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังยิ่งเสียกว่าการแสดงออกผ่านเวทีการประชุมใดๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ