คอลัมนิสต์

มธ.เดินหน้าแก้กฎหมายปล่อยชั่วคราว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มธ.นำโจทย์ความเดือดร้อนปชช.มาจัดเสวนา การปล่อยตัวชั่วคราว ตอกย้ำแบบเล่นคำ ปล่อยชั่วคราว ทำให้การปล่อยตัวถูกมองเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวแล้วตามจิกกลับมา

       ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

       "บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด" เป็นแค่ข้อความในกระดาษ   สันนิษฐานว่าผิดแล้วจับ คือเรื่องจริง  ตกเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทยมานานปี

       ล่าสุด นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จึงนำโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนมาจัด เสวนาทางวิชาการเรื่อง "การปล่อยชั่วคราว ทางปฏิบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2" เปิดเวทีด้วยการตอกย้ำแบบเล่นคำ กระตุกต่อมคิด"ปล่อยชั่วคราว"  ทำให้การปล่อยตัวถูกมองเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว หรือกรณียกเว้นจริงๆ แล้วเรามีเสรีภาพจริงหรือ ปล่อยเดี๋ยวเดียวก็ตามจิกกลับมาใช่หรือไม่

 

     เริ่มต้นด้วย "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวเปิดเวทีว่า คนควรติดคุกเพราะทำผิดเมื่อศาลพิพากษา ไม่ควรมีใครติดคุกเพราะหลักปฏิบัติ หรือความเหลื่อมล้ำในสังคม หากใช้ตัวเลขนักโทษในเรือนจำเป็นตัวประเมินผลกระบวนการยุติรรมจะพบว่า วันนี้เรามีนักโทษ 370,000 คน ทั้งที่คุกสร้างมาเพื่อขังคนแค่ 150,000 คน โดยนักโทษราว 6 หมื่นคนเป็นนักโทษระหว่างการพิจารณาคดี  คุกเปรียบเหมือนเขื่อนจะแตก ต้องหาทางพร่องน้ำ เอาคนออกเพื่อรอรับล็อตใหม่ ทำให้เราต้องมีการพระราชทานอภัยโทษทุกปี

มธ.เดินหน้าแก้กฎหมายปล่อยชั่วคราว

       รัฐธรรมนูญตั้งแต่พ.ศ.2492 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เรากลับเอาไปขังรวมกับนักโทษ ได้รับการปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป กลายเป็น " หลักของการจับมาขังคือสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ขณะที่ปล่อยชั่วคราวเป็นเรื่องยกเว้น"   ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ก็ไม่ได้กำหนดเรื่องเงินหรือหลักทรัพย์ประกันตัว แต่การขอปล่อยชั่วคราวในศาล มีการกำหนดวงเงินประกัน เช่นโทษประหาร 8 แสนบาท หรือโทษจำคุก ปีละ 2 หมื่นบาท ในประเทศไทยมีกี่คนที่มีเงินแสน  จนเกิดปัญหาคนมีเงินจะใช้เงินวางประกันแล้วหลบหนี ต่อให้เรียกหลักประกัน 5 ล้านก็หลบหนี  ขณะที่คนไม่มีเงินติดคุก  

มธ.เดินหน้าแก้กฎหมายปล่อยชั่วคราว

        วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน มีมุมมองที่แตกต่าง จึงจั่วหัวด้วยการตั้งคำถามว่า  "ปล่อยชั่วคราว ทางปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงหรือ ? ขัดต่อป.วิอาญาจริงหรือไม่ ? เพราะหลักเกณฑ์ที่ทุกคนต้องได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวโดยทันที การไม่ปล่อยเป็นข้อยกเว้น  โดยศาลพิจาณาจากความหนักเบาแห่งคดี พฤติการณ์หลบหนี คำคัดค้านของอัยการ  ซึ่งสอดรับกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นกติการะหว่างประเทศ ป.วิอาญา หรือระเบียบข้อบังคับศาลฎีกา จึงเสนอว่า ตำรวจและอัยการควรวางระเบียบการคัดค้านประกันให้ชัดเจน ไม่ใช่เขียนเพียงว่าผู้ต้องหาอาจไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยในคำค้านต้องบรรยาย ข้อเท็จจริงและเหตุผลให้ละเอียดชัดเจน เพราะเป็นเหตุผลในการที่ศาลจะสั่งให้ประกันตัวหรือไม่

มธ.เดินหน้าแก้กฎหมายปล่อยชั่วคราว

     รศ.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า การขังระหว่างสอบสวนกับการดำเนินคดีอาญาเป็นคนละเรื่อง และอยู่คนละพื้นฐาน รัฐจะขังคนต่อเมื่อปล่อยออกแล้วเขาจะหนี ปล่อยแล้วยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  หรือไปกระทำผิดอื่น ก่อเหตุอันตรายที่ร้ายแรงกว่า ถ้าไม่มี 3 เหตุนี้ ควรปล่อยให้เขาไปสู้คดีอย่างเหมาะสม ปัญหาจึงอยู่ที่ทางปฏิบัติ เพราะไม่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือป.วิอาญา ที่ให้พิจารณาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีเงินประกันตัวหรือไม่ หลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์ของเราใช้กับคนที่มีเงิน  มีคอนเน็คชั่น รู้จักข้าราชการเพื่อใช้ตำแหน่งมาประกันตัว  ยิ่งตอกย้ำคำว่าคุกมีไว้ขังคนจน  ขังเพราะเขาไม่มีหลักประกันที่น่าเชื่อถือ  ยกตัวอย่างคดีประมาททำให้คนตาย เรียกหลักประกัน 1.2 แสนบาท ลูกเศรษฐีประมาทขับรถชนคนตาย วางเงินแล้วกลับบ้าน แต่สำหรับคนยากจนไม่มีความสามารถจะยุ่งเหยิงพยาน หรือหลบหนี เขาแค่อยากไปทำงานเพื่อนำเงินมาเยียวยาความเสียหาย  การคุมขังจึงเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เสมอภาค

มธ.เดินหน้าแก้กฎหมายปล่อยชั่วคราว

       ขอยกตัวอย่างใน ประเทศฝรั่งเศส เขาไม่เรียกหลักประกันเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่ใช้ระบบประเมินความเสี่ยง หลบหนี ยุ่งเหยิง ทำลายพยานหลักฐาน ก่อเหตุร้ายทำอันตรายสังคม ถ้าไม่มีพฤติการณ์แม้ไม่มีเงินก็ปล่อย ตนจึงเสนอให้แก้กฎหมาย ข้อบังคับศาล-ยี่ต๊อก ป.วิอาญา แล้วให้นำหลักประเมินความเสี่ยงเข้าไปใส่  โดยไม่ต้องดูเรื่องเงินหรือหลักประกัน เพราะหลักประกันเป็น "ภาพมายา" ส่วนคำถามว่าทำอย่างไรสังคมจะมั่นใจว่าศาลปล่อยคนออกไปแล้วเขาจะกลับมา ไม่หนี เงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวมี 10-15 ข้อ ถ้ากลัวหลบหนีมากก็ให้รายงานตัวทุกวัน ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามเข้าพื้นที่ที่จำกัด ห้ามดื่มสุรา ฝ่าฝืนก็เอาตัวมาขัง  นอกจากนี้ในประเทศฝรั่งเศสยังพบด้วยว่า ในการพิจารณาปล่อยหรือขังนั้น ศาลจะปล่อยเป็นหลัก โดยไม่ต้องให้เหตุผลมาก แต่ถ้าศาลจะสั่งขังใคร ต้องให้เหตุผลพิเศษ มูลเหตุจูงใจในการสั่งขัง

        จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน กล่าวว่า ถ้าใช้ดุลพินิจถูกต้องและเป็นธรรม คำว่ายากจนหรือรวยก็ไม่มีความหมาย เราอยู่ใต้กฎโจร ไม่มีสัจจะในหมู่โจร ตนเคยเป็นผู้ประสบภัยจากกฎโจร  ถูกจับปิดตานำตัวออกจากสโมสรกองทัพบกไปขัง จึงมองว่า ไม่ว่าจะใช้ป.วิอาญาอย่างไร ก็ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจ "จำเลยจะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงแทรกแซงพยานล้วนเป็นดุลพินิจทั้งสิ้น  ตนจึงขอเสนอแผนแก้ไขระยะกลาง โดย ใช้ประมวลจริยธรรมของฝ่ายต่างๆให้มากขึ้น ดุลพินิจที่ออกไปแล้วมีผลกระทบต้องแก้ไข , แก้ไขป.วิอาญา เขียนให้ชัดไม่ต้องตีความ เพราะคนจะหนีไม่ว่ารวยหรือจนก็หนี  ส่วนตัวมองว่าถ้าใช้ดุลพินิจต่อไปประเทศเจ๊งแน่

     รังสิมันต์ โรม ผู้แทนกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐให้ความสำคัญกับการหลบหนีมากกว่าสิทธิมนุษยชน ต้องการใช้การขังระหว่างการพิจารณาเพื่อลงโทษบุคคลที่มีบทบาทรณรงค์สิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตย เพื่อป้องกันไม่ให้ออกไปเคลื่อนไหว  เวลาในการประกันตัว ผมมีประสบการณ์ศาลสั่งเที่ยงคืน เข้าเรือนจำตีสอง , ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว

      และขอยกตัวอย่างกรณี "ไผ่ดาวดิน" ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่มีประวัติคดีขัดคำสั่งคสช.หลายเรื่อง เดิมศาลกำหนดหลักประกัน 4 แสนบาท เมื่อได้รับการปล่อยชั่วคราวถูกตำรวจร้องถอนประกันด้วยเหตุผลที่ว่า ไผ่โพสต์ภาพและข้อความเย้ยหยันเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เงื่อนไขดังกล่าวไม่ถูกระบุไว้ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อไผ่ ไม่สามารถประกันตัว เขาจึงต้องยอมจำนนต่อกระบวนการยุติธรรม ยอมรับสารภาพ เพราะการอยู่ในเรือนจำมีทั้งล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ให้กินออาหารกลางวัน  ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำขอนแก่นที่ไผ่เข้าไปติดอยู่  หรือเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ตนเคยถูกควบคุมตัว จะมีคำพูดที่แนะนำกันปากต่อปากในเรือนจำว่า  "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ"  นี่คือความสามารถของคนที่ไม่สามารถสู้คดีนอกห้องขัง การต่อสู้จนถึงชั้นฎีกาเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น

        ปิดท้ายที่ฝั่งศาล ผู้ใช้ดุลพินิจ  โดย ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ศาลมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องใหม่ ขณะนี้ประธานศาลฎีกาไม่มีนโยบาย แต่สิ่งที่ประธานศาลฎีกาประกาศวันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง คือ ต้องการรับฟังความคิดเห็นของคนในองค์กร  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ขณะนี้มีแบบสอบถามส่งเข้ามาเป็นพันใบ  อย่างไรก็ตาม ต้องอธิบายว่า ป.วิอาญาถูกแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง  การเรียกหลักทรัพย์หรือเงินสดเป็นหลักประกัน ถูกเขียนไว้มานาน อัตโนมัติมาพร้อมกับตัวบท และถูกส่งต่อกันมาหลายรุ่น จนถึงปัจจุบันมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลายเรื่อง  เช่น คดีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีไม่ต้องมีหลักประกัน กรณีแกล้งฟ้องปิดปาก ศาลยกฟ้องได้เลย หรือเงื่อนไขการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) ซึ่งจะลดหลักทรัพย์ประกันตัวไปได้ถึง 80% ส่วนข้อเสนอที่ว่า  ไม่ต้องให้หน่วยงานใดใช้ดุลพินิจเลยเป็นไปได้หรือไม่  ต้องบอว่า ในความเป็นจริงมันยาก  ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ใช้ดุลพินิจตรงแนว หลายประเทศเอาคณิตศาสตร์มากำกับ  เช่น ในสหรัฐอเมริกา หากจะออกหมายจับ จะถามไปยังนักกฎหมายวัดผลกันเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าจะจับหรือไม่ 

      คนที่จะถูกจับไม่ใช่สีขาว สีชมพู แต่ผ่านการกระทำอะไรมา มีหลักฐานบางอย่างว่าเขาสีเทา เทาเข้ม หรือดำ เช่นมีรอยเลือด หลักฐานฉ้อโกง ไม่ใช่มาขอหมายจับโดยไม่มีหลักฐานอะไรเลย ชั้นต้นเราชั่งน้ำหนักระหว่างโจรกับแพะ  ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของจำเลยอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เราหลงลืมไม่ได้คือผู้เสียหาย  ทันทีที่จำเลยหรือผู้ต้องหาถูกปล่อยกลับบ้านผู้เสียหายจะถูกตบอีกหรือไม่ พยานหลักฐานในคดีจะถูกแก้ไขหรือไม่ ยืนยันว่า ศาลไม่ได้ละทิ้งความเป็นธรรมที่มีรายละเอียดและเป็นวิชาการสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องแบบประเมินความเสี่ยง ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในโครงการนำร่อง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ