คอลัมนิสต์

ทำไมร้านดัง..สั่งเลิกใช้ ไข่จากฟาร์มทารุณแม่ไก่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมร้านดัง..สั่งเลิกใช้ ไข่จากฟาร์มทารุณแม่ไก่ โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          ที่ผ่านมางานวิจัยหลายชิ้นระบุเตือนภัย “เนื้อไก่” ที่วางขายทั่วไป เนื่องจากตรวจพบสารอันตรายตกค้างหลายชนิด เช่น ยาเร่งโฮโมน ยาปฏิชีวนะ ฯลฯ โดยเฉพาะที่ส่งมาขายจาก “ฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่” ล่าสุดมีการรณรงค์เลิกกิน “ไข่ไก่” ที่ได้มาจากแม่ไก่เลี้ยงในฟาร์มกรงขังแบบปิด ทำให้ไก่ไม่สามารถขยับปีกหรือเคลื่อนไหวได้...เพราะเสี่ยงโรคกระดูกพรุนและปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย "ซาลโมเนลลา" สูงกว่าไก่เลี้ยงอิสระ 25 เท่า

 

 

          ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 “ซิเนอร์เจีย แอนิมอล” (Sinergia Animal) องค์กรพิทักษ์สัตว์ระหว่างประเทศสร้างแคมเปญในเว็บไซต์รณรงค์ชื่อดัง “Change.org” เชิญชวนคนไทยร่วมลงชื่อสนับสนุนแสดงพลังผู้บริโภค ขอให้ร้านขายแซนด์วิชชื่อดัง “ซับเวย์” จากอเมริกา ที่มีสาขาประมาณ 100 แห่งทั่วไทย เลิกใช้ “ไข่” จากไก่ที่ถูกขังทรมาน โดยมีข้อความรณรงค์บางส่วนดังนี้

 

 

 

ทำไมร้านดัง..สั่งเลิกใช้ ไข่จากฟาร์มทารุณแม่ไก่

 


          "...แม่ไก่กว่า 50 ล้านตัวในประเทศไทยถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ ทั้งชีวิตเพื่อออกไข่ นักวิชาการด้านสวัสดิภาพสัตว์ให้ความเห็นตรงกันว่า กรงแบบนี้เป็นการทารุณกรรมสัตว์ที่โหดร้ายที่สุดรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งฟาร์มระบบกรงยังมีความเสี่ยงปนเปื้อนจากเชื้อซาลโมเนลลาสูงกว่าฟาร์มไร้กรงร้านซับเวย์ในอเมริกาเหนือและลาตินอเมริการู้ดีจึงได้ประกาศนโยบายเลิกใช้ไข่ไก่จากฟาร์มระบบกรงแล้วแต่กลับไม่ประกาศนโยบายอย่างเดียวกันในประเทศไทย


          ...แม่ไก่ถูกขังอยู่ในกรงที่เล็กมาก จนแทบขยับตัวหรือกางปีกเต็มที่ไม่ได้ อาจทำให้เกิดโรคทางกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน บางตัวก็ขนร่วง มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าไก่เป็นสัตว์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกและเจ็บปวดเป็น พวกเขาจึงสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจมากกว่านี้ ระบบกรงไม่ใช่แค่ไม่ดีต่อแม่ไก่ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลา งานวิจัยฉบับสำคัญที่สุดเกี่ยวกับประเด็นนี้ระบุว่า ฟาร์มระบบกรงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาสูงกว่าฟาร์มไร้กรงถึง 25 เท่า (ซาลโมเนลลา คือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษรุนแรง หากเกิดกับเด็กทารกหรือเด็กอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้)..."

 

 

 

ทำไมร้านดัง..สั่งเลิกใช้ ไข่จากฟาร์มทารุณแม่ไก่

 

 


          เชื้อแบคทีเรีย "ซาลโมเนลลา" ตัวนี้ กรมปศุสัตว์ไทยได้ประกาศเมื่อปี 2553 ว่าเป็น “โรคระบาดสัตว์” และเป็นเชื้อโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคนได้ด้วย สามารถทำให้คนที่ไปสัมผัสเปลือกไข่หรือกินไข่ที่มีเชื้อโรคตัวนี้ปนเปื้อน เสี่ยงเป็นโรคไทฟอยด์ โรครากสาดน้อย หรือโรคทางเดินอาหารอักเสบ


          หลังแคมเปญนี้ออกมาได้ประมาณเกือบ 3 เดือน มีคนเข้าไปลงชื่อสนับสนุนกว่า 8.5 พัน


          องค์กรพิทักษ์สัตว์ “ซิเนอร์เจีย แอนิมอล” พยายามติดต่อไปยังผู้บริหาร “ซับเวย์” ในประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อให้ใช้มาตรฐานเดียวกับประเทศอื่นๆ จนในที่สุดบริษัทแม่ของซับเวย์อเมริกาประกาศบนเว็บไซต์ว่า ภายในปี 2025 บริษัทจะใช้เพียงไข่ไก่จากฟาร์มไร้กรงเท่านั้น สำหรับร้านค้าในไทยและอีก 6 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้


          “หทัย ลิ้มประยูรยงค์” เจ้าหน้าที่รณรงค์ change.org ให้สัมภาษณ์ "คม ชัด ลึก" ว่า นี่คือการแสดงพลังของผู้บริโภคไทย ที่ผ่านมาการรณรงค์ส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าเรียกร้องไปที่ภาครัฐเช่น ให้ยกเลิกใช้สารเคมีเกษตรแต่เริ่มมีแนวโน้มเรียกร้องกับภาคธุรกิจโดยตรงเพิ่มมากขึ้น หลายคนคิดว่าเรียกร้องไปแล้ว มันจะเปลี่ยนได้หรือ ทำไมเขาต้องฟังเรา

 

 

 

ทำไมร้านดัง..สั่งเลิกใช้ ไข่จากฟาร์มทารุณแม่ไก่

 


          หทัย กล่าวยืนยันว่า "ที่จริงแล้ว ผู้บริโภค คือคนจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคมีพลังมากที่สุด ยิ่งถ้ารวมพลังกันผ่านพื้นที่อย่าง Change.org ที่คนธรรมดาๆ สามารถส่งเสียงให้ดังยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร จะยิ่งจุดประกายสร้างกระแสความเคลื่อนไหวในสังคม ทำให้เสียงดังขึ้นไปอีก เมื่อภาคธุรกิจได้ยิน ก็จะทนต่อเสียงเรียกร้องไม่ไหว ต้องคำนึงถึงความต้องการและความปลอดภัยของผู้บริโภคมากกว่าเดิม"  


          ทั้งนี้ข้อมูลสถิติ “เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์รายจังหวัด” จากกรมปศุสัตว์ระบุ ปี 2561 ประเทศไทยเลี้ยงไก่ได้ 454 ล้านตัว ขณะที่รายงานจาก “ศูนย์วิจัยกรุงศรี” อธิบายโครงสร้างอุตสาหกรรมไก่เนื้อในปัจจุบันว่า “ถูกครองตลาด” โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 7 ราย โดยบริษัทใหญ่เหล่านี้ลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับเนื้อไก่แบบครบวงจร ผลิตไก่เนื้อได้ร้อยละ 50 ของไก่เนื้อทั้งหมดทั่วไทย ส่วนฟาร์มเลี้ยงไก่เกษตรกรรายย่อย มีเพียงร้อยละ 10


          เมื่อปี 2561 ไทยผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับ 10 ของโลก ประมาณปีละ 2 ล้านตัน หรือร้อยละ 2 ของผลผลิตไก่เนื้อทั่วโลก คนไทยบริโภคไก่เฉลี่ยปีละ 1.2-1.3 ล้านตัน หรือร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด


          หมายความว่าฟาร์มเลี้ยงไก่ไทยเป็น 1 ในยักษ์ใหญ่ของโลก โดยมี 7 บริษัทเจ้าสัวครองตลาด และส่วนใหญ่ใช้วิธีเลี้ยงไก่ในกรงขังแบบปิด ไม่ให้ “ไก่” หรือ “แม่ไก่” ได้มีโอกาสออกไปยืดเส้นยืดสาย ขยับปีก ขยับขา... ดูแล้วก็น่าสงสาร “น้องไก่” ที่เกิดมายืนคุดคู้อยู่ในกรงเล็กๆ รอวันถูกเชือดขาย


          “ไก่” ที่ถูกเลี้ยงในกรงคับแคบเหล่านี้ มักมีร่างกายอ่อนแอ ต้องใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ จำนวนมาก เพื่อลดการติดเชื้อหรือติดโรคต่างๆ เมื่อการเลี้ยงไก่ต้องใช้ “ยา” ปริมาณจำมาก ยาเหล่านี้ก็ตกค้างมายังผู้บริโภคได้ง่ายเช่นกัน

 

 

ทำไมร้านดัง..สั่งเลิกใช้ ไข่จากฟาร์มทารุณแม่ไก่

 


          เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแสดงผลทดสอบ ‘การตกค้างจากยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในเนื้ออกไก่และตับไก่สด’ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่าง 9-15 มิถุนายน 2561 จำนวน 62 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่าการพบยาปฏิชีวนะตกค้าง 26 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 42 โดยพบ 5 ตัวอย่างเกิดจากการตกค้างยาปฏิชีวนะชนิด “เอนโรฟลอกซาซิน” (Enrofloxacin) อีก 21 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของ “ยาด็อกซีไซคลิน” (Doxycycline)


          อันตรายของ ยาด็อกซีไซคลิน ทำให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง และฟันมีสีคล้ำ ส่วนใหญ่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนเอนโรฟลอก อาจทำให้เกิดอาการอาเจียนหรือท้องเสีย ทั้งนี้ หากใช้ยาตัวนี้สูงกว่าขนาดที่แนะนำ 10 เท่า อาจทำให้กระดูกอ่อนตามข้อต่อต่างๆ เกิดความเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นคนไหนกินเนื้อสัตว์ที่มียาเหล่านี้ตกค้างหรือปนเปื้อนเป็นประจำ อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการดื้อยา จนสุดท้ายอาจไม่มีตัวยาใดมารักษาได้


          นอกจาก “เนื้อไก่” ที่ตรวจพบสารตกค้างอันตรายแล้ว หวังว่าเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคข้างต้น จะช่วยกันสำรวจว่า “ไข่ไก่” ที่วางขายทั่วไทยนั้น มีสารอันตรายอะไรตกค้างด้วยหรือเปล่า


          “กรมปศุสัตว์” และ “อย.” ต้องช่วยกันเฝ้าระวังการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างใน “ไข่ไก่” เกินมาตรฐานที่สากลโลกกำหนดไว้ อยากขอร้องให้ส่งเจ้าหน้าที่ไป “สุ่มตรวจสอบ” เป็นระยะๆ แล้วเอาผลตรวจมาโชว์


          เพื่อให้คนไทย “กินไข่” อย่างสบายใจมากกว่านี้...
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ