คอลัมนิสต์

พัฒนาพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พัฒนาพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต

 

 

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ในวงเงินลงทุนรวม 2,265.99 ล้านบาท รวมทั้งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและเร่งรัดการพิจารณาในขั้นตอนของโครงการดังกล่าวเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561–2580 ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 87.53 ล้านหน่วยต่อปี มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งสอดรับกับที่หลายฝ่ายสนับสนุนให้ไทยปรับแผนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจำพวกน้ำมันและแก๊สที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 80% ให้ลดสัดส่วนลงหันมาสู่พลังงานธรรมชาติที่สะอาดยั่งยืน

 

 

 

 

          อย่างไรก็ดีมีข้อดีและข้อเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เท่าที่มีการศึกษาและประเมินพบว่าข้อดีคือเป็นพลังงานที่มีอย่างต่อเนื่องเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมีการบำรุงรักษาน้อยมากและใช้งานแบบอัตโนมัติได้ง่าย สร้างไฟฟ้าได้ทุกขนาดตั้งแต่เล็กๆ เพื่อใช้กับเครื่องคิดเลขไปจนถึงโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ระดับ 100 kW ขึ้นไป ซึ่งไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ลักษณะพื้นฐานได้เหมือนกัน สำหรับข้อเสียพบว่าเซลล์แสงอาทิตย์มีอายุการใช้งานค่อนข้างน้อยและการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้องใช้เงินลงทุนสูงอีกทั้งปริมาณพลังงานที่ผลิตได้จะไม่คงที่เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนรวมถึงการผลิตไฟฟ้าทำได้เฉพาะตอนกลางวันเนื่องจากต้องใช้แสงจากดวงอาทิตย์ในการผลิตพลังงาน แต่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าตลอดเชื่อว่าจะมีนวัตกรรมเข้ามาหนุนเสริม

 


          หลายประเทศในโลกได้สนับสนุนพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ อาทิ โรงไฟฟ้า Noor Abu Dhabi สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังการผลิตเกือบ 1,177 เมกะวัตต์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการให้แสงสว่างบ้านเรือนซึ่งครอบคลุมความต้องการของประชาชนกว่า 90,000 คน อีกทั้งช่วยลดการลงทุนในก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าลงได้ ซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลงได้ถึง 1 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการเอารถยนต์ออกจากท้องถนนกว่า 200,000 คัน โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งเป้าการมีส่วนร่วมในพลังงานสะอาดเป็นสัดส่วน 50% ของพลังงานทั้งหมดในปี 2593 ทำให้เห็นทิศทางประเทศต่างๆ เดินเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด

 

 



          เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐ (ยูเอสทีดีเอ) ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาโครงการพื้นฐานสำคัญและการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเชิงพาณิชย์ ตามแนวทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยยูเอสทีดีเอได้นำร่องให้การช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทนในไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์และแผงโซลาร์เซลล์พร้อมระบบกักเก็บพลังงานแบบผสมผสานในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเอกชนไทยรายนี้เป็น 1 ใน 17 โครงการที่ได้รับคัดเลือกจาก กฟผ. และสำนักงานกำกับพลังงานตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันไทยกำลังก้าวเดินบนถนนพลังงานสะอาด แต่สิ่งจำเป็นคือต้องทำควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรมเพื่อความมั่งคงไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ