คอลัมนิสต์

แท็กติกแชร์ลูกโซ่ครั้งแรกได้เงิน..ครั้งต่อไปโดนโกง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แท็กติกแชร์ลูกโซ่ครั้งแรกได้เงิน..ครั้งต่อไปโดนโกง คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย....  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 

 

          คดีฉ้อโกงลักษณะแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาแล้วยาวนาน และปรากฏเป็นข่าวมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะตอนนี้ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมในคดี “เงินออมแม่มณี” หรือ “แชร์แม่มณี” แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะออกมาแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง แต่ด้วยสังคมปัจจุบันมีช่องทางโซเชียลมีเดียให้เข้าถึงแบบออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย จึงเป็นเหตุให้มีเหยื่อและมูลค่าความเสียหายมากกว่าอดีต

 

 

          ถ้าพูดถึงแชร์ลูกโซ่ในเมืองไทยต้องย้อนไปถึงคดีดังในปี พ.ศ.2528 “แชร์แม่ชม้อย” ซึ่งมีตัวการใหญ่คือ นางชม้อย ทิพย์โส ได้คิดค้นวิธีการหลอกลวงประชาชนขึ้นด้วยการอ้างว่า ดำเนินกิจการค้าน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ โดยจัดตั้งบริษัทค้าน้ำมันชื่อ บริษัท ปิโตเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด ทำการค้าน้ำมันทุกชนิด มีเรือเดินทะเลสำหรับขนส่งน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ จากนั้นชักชวนประชาชนให้มาเล่นแชร์น้ำมัน โดยวิธีการรับกู้ยืมเงินจากประชาชนและให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นรายเดือน จากนั้นกำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี และในเดือนธันวาคมของทุกปีจะหักเงินไว้ร้อยละ 4 ของผลประโยชน์ที่ได้รับในรอบปี เพื่อเก็บภาษีการค้าและหักค่าเด็กปั๊มไว้อีกเดือนละ 100 บาท ตามจำนวนเดือนที่นำเงินมาให้กู้ยืม ซึ่งจะออกหลักฐานไว้ให้เป็นสัญญากู้ยืมเงินตามแบบที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด หรือบางรายจะออกหลักฐานให้เป็นเช็ค โดยผู้ให้กู้ยืมสามารถเรียกคืนเงินต้นเมื่อใดก็ได้ และจะกลับมาให้กู้ยืมอีกก็ได้ในเงื่อนไขเดิม


          ถ้ามีผู้นำเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้น ก็จะสามารถหมุนเวียนจ่ายเป็นดอกเบี้ยได้ตลอดไปแต่ถ้าไม่มีผู้นำเงินมาลงทุนเพิ่มก็จะจ่ายดอกเบี้ยได้ในระยะแรกเท่านั้นในที่สุดเงินต้นที่สะสมไว้จะหมดและไม่สามารถคืนเงินต้นให้ประชาชนได้ในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายหรือเหยื่อหลงเชื่อเกิน 1.6 หมื่นราย รวมเป็นเงินมูลค่ามหาศาลหลายพันล้านบาท กระทั่งถูกศาลอาญาพิพากษาตัดสินเมื่อปี พ.ศ.2532 ในความผิดฐานฉ้อโกงหลายกระทง ติดคุกคนละ 154,005 ปี และให้ร่วมกันคืนเงินกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหลายร้อยล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่ง นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536

 



          อย่างที่บอกในข้างต้นว่าคดีฉ้อโกงลักษณะแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมานาน และมีให้เห็นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ นี่จึงเป็นปรากฏการณ์แชร์ลูกโซ่ “แม่ชม้อย” จากอดีต สู่ “แชร์แม่มณี” ในปัจจุบัน ดังนั้นแชร์ลูกโซ่ถือเป็น “กลโกงในตำนาน” มี “แท็กติก”ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ลงทุนครั้งแรกได้เงิน แต่เมื่อย่ามใจลงทุนเพิ่มครั้งต่อไปโดนโกง! ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพ ยังได้พยายามหลอกล่อเหยื่อหลากหลายวิธีด้วยการสร้างแผนธุรกิจมายั่วยวนใจ ลงทุนง่าย ได้เงินเยอะ ได้ผลกำไรที่สูงเกินจริง แต่อย่างไรก็ตาม กลโกง หรือหลักการของแชร์ลูกโซ่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง


          ในเมื่อมิจฉาชีพมีแท็กติกหลอกล่อก็ต้องมีเทคนิครับมือ ล่าสุด กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ได้ออกมาเตือนประชาชนอีกครั้งผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กองปราบปราม” ซึ่งนำเสนอ 4 ข้อสังเกตของการลงทุนที่เสี่ยงจะเป็นแชร์ลูกโซ่ คือ 1.การันตีผลตอบแทนสูงหรือกำไรที่ฟังดูแล้วเป็นไปไม่ได้ มีการรับประกันผลตอบแทนว่าได้เงินเท่าไร 2.สัญญาจะให้ผลตอบแทนมากขึ้น ถ้าชวนคนอื่นมาลงทุนด้วย 3.เร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน แต่ไม่มีหนังสือชี้ชวน หรือมีแต่ไม่ชัดเจน ไม่มีหน่วยงานรองรับ และ 4.ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของโปรเจกท์ อ้างอิงความสำเร็จของการลงทุนของคนก่อนหน้า


          จำไว้ให้ขึ้นใจถ้าไม่อยากเป็นเหยื่อรายต่อไป ก่อนลงทุนอะไรควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีธุรกิจนั้นอยู่จริงหรือไม่ ที่สำคัญพึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงในเวลาอันสั้นมักไม่มีอยู่จริง..!!

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ลูกแชร์แม่มณี นัดรวมตัวพบ สมศักดิ์ พรุ่งนี้
-'แม่มณี' เคลื่อนไหว.. ยืนยันไม่หนี เตรียมไลฟ์แจง
-จากแชร์'แม่ชม้อย'สู่แชร์'แม่มณี'
-ด่วน ออกหมายจับแล้ว แม่มณี พร้อมพวก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ