คอลัมนิสต์

กมธ.อำนาจล้นฟ้าเรียกแล้วต้องมา...จริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กมธ.อำนาจล้นฟ้าเรียกแล้วต้องมา...จริงหรือ คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

 

          กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันวุ่นวายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) ว่ามีอำนาจขนาดไหนในการเรียกบุคคลเข้าชี้แจง การเรียกมีข้อจำกัดหรือข้อควรพิจารณาอะไรบ้างหรือไม่ หรือว่าสามารถใช้อำนาจในฐานะ “ฝ่ายนิติบัญญัติ-ตัวแทนประชาชน” เรียกใครมาชี้แจงก็ได้ ตามแต่ที่ กมธ.ต้องการหรือพึงพอใจ

 

 

          เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “กมธ.ป.ป.ช.” ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน มีมติให้เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบ
  

          หนำซ้ำ “พี่เต้ พระราม 7” แห่ง กมธ.ทหาร ยังบอกว่าจะเรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าชี้แจงงบจัดซื้ออาวุธด้วย ทั้งๆ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็เพิ่งเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา


          หนักกว่านั้นคือนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคบางคนถึงกับประกาศว่าจะใช้อำนาจของกมธ.เล่นงานนายกฯ และรัฐมนตรีบางคนให้พ้นจากตำแหน่งให้ได้ ทำให้เกิดคำถามว่าคณะกรรมาธิการสามัญของสภา มีอำนาจมากล้นขนาดนั้นจริงหรือ


          ล่าสุด “ประธานชวน” ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ออกมาปรามนิ่มๆ ตามสไตล์ไปแล้ว โดยเน้นย้ำให้ กมธ.ทำงานตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และควรให้เกียรติคนที่เชิญหรือเรียกมาด้วย


          พลิกดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 129 บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร สรุปก็คือสามารถเรียกบุคคลผู้เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก (หมายถึงส.ส.และคนนอก) เข้าชี้แจงได้ แต่ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ

 

 




          “พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลากำหนด และต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของสภา และของคณะกรรมาธิการชุดนั้นๆ ตามที่ระบุไว้ในเหตุผลของการตั้งคณะกรรมาธิการด้วย” อีกทั้งต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกันกับคณะกรรมาธิการชุดอื่น


          นอกจากนี้ กมธ.ยังมีอํานาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทํา หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ ยกเว้นแค่ผู้พิพากษากับกรรมการองค์กรอิสระ


          ทั้งยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่ กมธ.สอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกํากับเพื่อให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่ กมธ.เรียก


          อ่านดูแล้วก็ถือว่าคณะกรรมาธิการมีอำนาจมากจริงๆ แต่ก็มีกรอบการทำงาน ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยไร้ขอบเขต คือต้องตั้งเรื่องที่ตนจะศึกษาเสียก่อน ซึ่งเรื่องที่จะตั้งต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ จากนั้นถึงจะเชิญบุคคล หรือเรียกเอกสารจากแหล่งต่างๆ ได้


          แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือบทบัญญัติตามมาตรา 129 ไม่ถึงกับมีสภาพบังคับ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีสภาพบังคับ และยังมีการออกกฎหมายที่มีสภาพบังคับตามมาด้วย


          ปัญหาจึงอยู่ตรงนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูเนื้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 8 หรือเรียกง่ายๆ ว่า “พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ” ซึ่งออกในช่วงที่บังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 กำหนดให้บุคคลที่ได้รับหนังสือขอให้ส่งเอกสาร หรือเชิญมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นกับ กมธ. หากไม่ยอมจัดส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นให้ กมธ.ออกคําสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลนั้น หรือเรียกบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นด้วยตนเองต่อ กมธ. โดยอาจขอให้บุคคลนั้นนําเอกสาร หรือวัตถุที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้


          ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามมาตรา 13 คือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และถ้าผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยด้วย


          คำถามก็คือ รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแล้ว แต่กฎหมายเก่ายังอยู่ และไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เลิกไปพร้อมรัฐธรรมนูญเก่า ทำให้เกิดปัญหาว่าตกลง กมธ.ยังมีอำนาจเรียกบุคคลเข้าชี้แจง และคำสั่งเรียกนั้นมีสภาพบังคับตามกฎหมาย ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุกอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอำนาจนั้นอยู่ต้องบอกว่า รัฐบาลและผู้นำทางทหาร...เหนื่อยแน่


          แต่ก็ยังมีสุ้มเสียงจากอีกด้านเตือนว่า แม้จะยังมี พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ให้อำนาจและระบุบทลงโทษ แต่หาก กมธ.เรียกโดยไม่มีอำนาจ เรียกในเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ หรือไม่ได้ตั้งเรื่องศึกษา หรือข้ามขั้นตอน ก็มีสิทธิ์โดนฟ้องกลับ ดำเนินคดีกลับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นเดียวกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-วิษณุ ชี้ หากโหวตพ.ร.บ.งบไม่ผ่านรัฐบาลควรยุบสภา-ลาออก
-ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ชี้ชะตา รบ.เสียงปริ่มน้ำ
-ธรรมนัส มั่นใจ เสียงในสภาโหวตผ่านงบ
-ช่างกล้า ขยี้งบกองทัพ

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ