คอลัมนิสต์

สืบ-ยึดทรัพย์ นปช. คดีเผาเมือง-รอด คดีก่อการร้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้ว่าแกนนำ ปนช.จะรอดคดีก่อการร้าย แต่คดีแพ่ง ตู่-เต้น-กี้ร์-เหวง ได้แพ้ในคดีที่เจ้าของอาคารที่ถูกม็อบเผาเมือง วางเพลิงวอดวายยื่นฟ้อง และกำลังจะถูกสืบ-ยึดทรัพย์

 

    ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

    ภายหลังนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับชะตากรรม พร้อมถูกฟ้องล้มละลาย ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาให้แกนนำ นปช. ชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุมเผาเมืองในปี 2553

      โดย จตุพร อ้างว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะไม่มีเงิน ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็น ส.ส.เมื่อ 18 พ.ค. 2555 มีเงินเดือนอย่างเดียวก็คือ บำนาญ ส.ส.เดือนละ 14,000 บาท เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ไม่มีปัญญาที่จะไปชดใช้

       “ ผมยอมรับคำตัดสิน  ว่ากันไปตามสภาพ   เท่าที่มี ” 

      โดย คดีแรก ศาลสั่งให้ จตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ- อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ต้องชดใช้ 19 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินกว่า 30ล้านบาท กรณีม็อบเผาอาคารย่านราชปรารภ

     คดีที่สอง กรณีม็อบเผาตึกย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศาลสั่งให้ จตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ- เหวง โตจิราการ “ ต้องชดใช้อีก 21 ล้านบาท บวกค่าเสียโอกาสบวกดอกเบี้ย ก็กว่า 30ล้านบาทเช่นเดียวกัน

     รวมสองคดี เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท

     เอาล่ะสิ !! เมื่อจำเลยออกมาประกาศตัวพร้อมล้มละลาย ” ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย“ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะทำอย่างไร

      เหตุการณ์ล่วงเลยมานานกว่า 9 ปี วันนี้ได้คำพิพากษามาจับถือ แต่ความเสียหายยังไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาค่าเสียหายตามคำพิพากษา หากเทียบเคียงกับคดี “แพรวา 9 ศพ” สิ่งที่ฝ่ายเจ้าหนี้ดำเนินการได้ในทันทีหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือ สืบทรัพย์ รวบรวมรายการทรัพย์สินในการถือครองของจำเลย เมื่อครบกำหนด 30 วันหลังศาลมีคำพิพากษา ให้ไปยื่นขอให้ศาลออกคำบังคับและออกหมายบังคับคดี จากนั้นคำบังคับคดีจะส่งมายังกรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดี

   …เมื่อฝ่ายโจทก์ผู้ชนะคดี สืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เท่าไร ให้มาตั้งเรื่องโดยแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับกับทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้การสืบทรัพย์บังคับคดีมีระยะเวลา 10 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์สิน หรือการอายัดสิทธิเรียกร้องต่างๆ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ อันเป็นกระบวนการบังคับคดีตามกฎหมาย

      ข้อแตกต่างในคดีของแกนนำนปช. กับคดีแพรวา 9 ศพ คือ คนเหล่านี้เป็นอดีตรัฐมนตรี…อดีต ส.ส. ทำให้พวกเขามีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินไว้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง และหลังพ้นจากตำแหน่ง โจทก์จึงไม่ต้องเดินสายไปยังสำนักงานที่ดินหรือสถาบันการเงิน เพื่อยื่นเรื่องติดตามสืบทรัพย์

     วิธีการจะง่ายกว่า โดยเริ่มต้นด้วยการสืบค้นจากรายการทรัพย์สินที่ยื่นแสดงโดยเปิดเผยไว้กับ ป.ป.ช. พบรายการทรัพย์สินครบวงเงินตามความเสียหายในคำพิพากษาก็นำมายื่นขอบังคับคดี

      และถ้าเข้าไปอ่านเนื้อหาในคำพิพากษา คดีละเมิด ทำให้เสียทรัพย์จากการปลุกม็อบเผาเมืองนี้ ศาลสั่งให้จำเลยที่ 8-10 นั่นก็คือ จตุพร ณัฐวุฒิ และ นพ.เหวง ร่วมกันชำระค่าเสียหาย คำว่าร่วมกันไม่ใช่เอาวงเงินมาหาร 3 แล้วเฉลี่ยกันจ่าย แต่หมายถึงสืบทรัพย์ เจอทรัพย์ของจำเลยคนหนึ่งคนใดครบตามมูลค่าความเสียหายในคำพิพากษา ก็ให้บังคับคดีเอากับทรัพย์นั้น แล้วให้จำเลยทั้ง 3 ไปไล่เบี้ย เคลียร์กันเอง ซึ่งต่างจากคดี “แพรวา 9 ศพ” ซึ่งศาลกำหนดให้จำเลยแต่ละราย ชดใช้ความเสียหายเป็นรายบุคคล คนละกี่ล้านบาทก็ว่ากันไป

      และเมื่อสืบค้นข้อมูลการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานป.ป.ช. หลังพ้นจากตำแหน่งส.ส.และรัฐมนตรี ครบ 1 ปี จะพบว่า ฝ่ายเจ้าหนี้ยังพอมีความหวัง ได้รับการชำระคืนความเสียหาย

       โดย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ”หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 13,466,953 บาท ได้แก่ เงินฝาก 5 บัญชี (บัญชีร่วม 2 บัญชี) จำนวน 237,162 บาท ที่ดิน 6 แปลงจำนวน 8,526,800 บาท บ้าน 1 หลัง จำนวน 1.5 ล้านบาท รถยนต์ 2 คันจำนวน 5,992,990 บาท ทรัพย์สินอื่นฯ จำนวน 2.1 แสนบาท มีหนี้สิน จำนวน9,443,327 บาท

      ส่วนนางสิริสกุล ใสยเกื้อ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 18,309,493 บาท ได้แก่ เงินฝาก 2 บัญชี 184,493 บาท เงินลงทุน 4 แห่ง 3,013,000 บาท ที่ดิน 3 แปลง 14,174,000 บาท รถยนต์ 1 คัน จำนวน  938,000 บาท มีหนี้สิน 5,528,805 บาท ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สินจำนวน 223,622 บาท เป็นเงินฝาก 2 บัญชี รวมทรัพย์สินจำนวน 32,000,015 บาท หนี้สินจำนวน 14,972,133 บาท

    นพ.เหวง โตจิราการ แจ้งบัญชีทรัพย์สิน หลังพ้นตำแหน่ง ส.ส. ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2557 แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 12,782,732 บาท ได้แก่ เงินฝาก 3 บัญชี จำนวน 12,042 บาท เงินลงทุนจำนวน 87,410 บาท ที่ดิน 9 แปลงจำนวน 12,276,250 บาท บ้าน 2 หลัง จำนวน 407,030 บาท มีหนี้สิน จำนวน 117,980 บาท

    ส่วนนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ คู่สมรส มีทรัพย์สินจำนวน 14,177,340 บาท ได้แก่ เงินฝาก 5 บัญชี จำนวน  7,607,760 บาท เงินลงทุนจำนวน 289,560 บาท ที่ดิน 5 แปลง จำนวน 5,612,250 บาท บ้าน 2 หลัง ราคา 667,770 บาท ไม่มีหนี้สิน รวมทรัพย์สินเบ็ดเสร็จ 26,960,072 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 117,980 บาท

     ส่วน  นายจตุพร พรหมพันธุ์ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ช่วง พ้นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ว่าทรัพย์สินจำนวน 8,224,825.64 บาท ไม่มีหนี้สิน และไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรส

       แต่ในส่วนคดีอาญา ข้อหา“ก่อการร้าย ”   จตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”  -อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง- นพ.เหวง  โตจิราการ   4 แกนนำ นปช. และแกนนำ นปช.คนอื่นๆ ศาลอาญา ได้ยกฟ้องพ้นข้อกล่าวหาคดีอาญาร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 , 135/2 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.62

   ซึ่งน่าสนใจ เหตุที่ยกฟ้องเพราะความผิด “ก่อการร้าย” จะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1)(2)(3) คือ 1.ต้องมีลักษณะ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ 2.กระทำการใดๆ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นประโยชน์สาธารณะ 3.กระทำการใดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ โดยศาลวินิจฉัยว่า ในการกระทำดังกล่าวทั้ง 3 ข้อนั้น ‘ผู้กระทำ’ ต้องมีเจตนาพิเศษด้วยที่มีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ หรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

     โดย “ศาล” เห็นว่า แม้พยานโจทก์เบิกความระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ กับที่ประชาชนเรียกร้องการต่อต้านทำรัฐประหารนั้นไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย 

    ส่วนที่ให้อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ขณะนั้น ประกาศยุบสภา-จัดเลือกตั้งใหม่ก็เป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมต่อการเรียกร้องทางการเมืองที่ทำได้ การเดินขบวน , ชุมนุม , ประท้วง , โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ส่วนที่แกนนำ นปช. ปราศรัยบนเวที ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุมหรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้มีการเผานั้น ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน

   จากคำพิพากษาที่แม้ “ 4 แกนนำ นปช.” เป็นตัวละครเดียวกันซึ่งตกเป็นจำเลย แต่ถ้าเปรียบเทียบลักษณะความผิดที่ฟ้อง , พฤติการณ์ในคดี , คำพิพากษาในคดีอาญาคดีก่อการร้าย กับคดีแพ่งฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายแล้ว มีข้อแตกต่างในการพิจารณาอย่างสิ้นเชิง โดยคดีอาญามุ่งเน้นเจตนาพิเศษ กับพฤติการณ์ที่จะเป็นองค์ประกอบความผิดใน 3 ข้อข้างต้น ส่วนคดีแพ่งลักษณะการละเมิดดูจากการมีส่วนร่วม ที่จะก่อให้เกิดการกระทำต่อผู้เสียหาย แม้จะไม่ใช่ทำโดยตรงแต่ถ้าฟังได้ว่า ยุยงหรือช่วยเหลือทำให้เกิดการละเมิด ตาม ป วิ.แพ่งฯ มาตรา 432 ก็ต้องร่วมรับผิดแล้ว  

         ดังนั้นแม้ไม่ชัดแจ้งในขณะนี้ว่าแกนนำ นปช. มีพฤติการณ์เข้าข่ายก่อการร้าย สะสมกำลัง อาวุธ ใช้กำลังประทุษร้าย แต่ที่แน่ๆ ในการนำสืบคดีแพ่งปรากฏข้อเท็จจริงให้ศาลฎีการับฟังเรื่องการใช้ถ้อยคำปราศรัยของแกนนำหลักที่ผู้ชุมนุมให้ความเชื่อมั่น แฝงนัยส่งผลให้ผู้ชุมนุมคล้อยทำตามได้ แม้จะไม่เป็นคำสั่งการโดยตรงแต่เป็นเสมือนแนวทางสร้างเงื่อนไขให้คิดตาม

     ดังนั้นแม้ “ตู่-เต้น-กี้ร์-เหวง”  4 แกนนำ นปช. จะพ้นข้อกล่าวหาคดีอาญาก่อการร้ายในชั้นต้น ก็ไม่อาจปัดความรับผิดชอบทางแพ่งที่เกิดจากการปราศรัยซึ่งถ้อยคำนั้นทำให้เกิดการกระทบกระทั่งจนละเมิดสิทธิผู้อื่น 

       โดยตัวอย่างลักษณะคดีการชุมนุมทางการเมือง นอกจากกลุ่ม นปช.ถูกฟ้องคดีแพ่งชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นนั้น ก็มีกรณีของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ (พิพากษาเดือน มิ.ย.58) ให้ “13 แกนนำ พธม.” ชดใช้ร่วมกันชำระหนี้ จำนวน 522,160,947.31 บาท (คนละประมาณ 40,166,226 บาทเศษ) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 3 ธ.ค.51 ให้กับ “ทอท.” โจทก์ ที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดสนามบินปี 2551 ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ