คอลัมนิสต์

ต้องเจรจา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562

 

 

 

          มาตรการรุนแรงอย่างที่รัฐบาลอเมริกันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กระทำกับประเทศไทย ทั้งการส่งหนังสือ “ข่มขู่” และใช้มาตรการทางภาษี “เล่นงาน” สินค้านำเข้าจากไทยนั้น นับเป็นภาระหนักอึ้งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพิจารณาดำเนินการให้รอบคอบเพื่อผลประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ตามลำดับเรื่องราวแล้ว เริ่มจากการเปิดเผยของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรมว่า รัส ไนซ์ลี ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ทำหนังสือมาแจ้งว่าการแบนสารเคมีเกษตรและกำหนดระดับของสารตกค้างขั้นต่ำสุดที่ 0% จะทำให้การส่งออกถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล องุ่น จากสหรัฐมาไทยจะหยุดลงทันที กระทบถึงอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องพึ่งพาข้าวสาลีนำเข้าจากสหรัฐ เกษตรกรไทยมีต้นทุนการผลิตกว่าแสนล้านบาทเพราะการใช้สารทดแทน

 

 

 

 

          นอกจากนั้น เท็ด เอ. แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐ ส่งหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชะลอการแบน 3 สารเคมีเกษตร โดยอ้างว่า เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสารไกลโฟเซตเป็นสารเคมีเกษตรที่ใช้กันแพร่หลาย และสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (EPA) ยืนยันแล้วว่า ไกลโฟเซตไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพ หากนำมาใช้ภายใต้การควบคุม แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าคำขู่ผ่านเอกสารจะยังผลในทางปฏิบัติหรือไม่ก็ตาม เหตุที่เกิดตามมาติดๆ ก็คือ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทางการค้า (จีเอสพี) สินค้าไทยหลายรายการ โดยอ้างว่า ไทยไม่ใช้มาตรการส่งเสริมแรงงานให้สามารถเลี้ยงชีพได้ตามสิทธิแรงงานสากล จนทำให้ภาคส่งออกไทยอาจสูญเสียรายได้หลายหมื่นล้านบาท แต่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าจะกระทบรายได้จากการส่งออกแค่ร้อยละ 0.01 เท่านั้น


          กล่าวสำหรับ เรื่องแรงงานต่างด้าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันว่า ที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญในการดูแลแรงงานบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมากในการแก้ปัญหาเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่การเรียกร้องคุ้มครองแรงงานต้องใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทของไทย นายจ้าง และสภาพคนไทย คนต่างด้าวจะได้สิทธิมากกว่าคนไทยคงไม่เหมาะสม อย่างเช่น การตั้งสหภาพแรงงานแบบรวมอุตสาหกรรม ซึ่งแรงงานจะรวมตัวกันเป็นล้านคน มีอำนาจต่อรองสูง สำหรับประเด็นการแบนสารเคมีนั้น มูลนิธิชีววิถีตอบโต้ว่า พิจารณาจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ควบคู่กับคำตัดสินของศาลสหรัฐเองที่ให้บริษัทผลิตยาปราบศัตรูพืชจ่ายชดเชย 2,500 ล้านบาทให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง 3 รายจากการใช้ยาปราบวัชพืชผสมไกลโฟเซต และยังเหลืออีก 18,400 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา




          ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม มาตรการที่สหรัฐใช้กับไทยครั้งนี้ถือว่า รุนแรงและสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยมากพอสมควร ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องดำเนินยุทธวิธีเพื่อให้ไทยเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเองก็เชื่อว่า ยังมีช่องทางในการเจรจากับต่อไป ซึ่งก็ควรเป็นไปตามนั้น ขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยก็ต้องเป็นตัวของตัวเองเช่นประเทศอธิปไตยทั่วไป ดังเช่นทั้งสองกรณีที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างนั้น เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายกับรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เข้าใจเสียใหม่ได้ หรือถ้าไม่เป็นไปตามนี้ก็ต้องเตรียมมาตรการรับมือไว้หลายๆ ด้าน ภายใต้สภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน รวมทั้งอำนาจต่อรองในเวทีการเจรจาต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ