คอลัมนิสต์

โรคกลัวตกขบวน 5G

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรคกลัวตกขบวน 5G โดย...  ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

 

 

          ภาวะกลัวตกกระแสสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้หลายคนหมกมุ่นกับการเช็กข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เรียกกันว่า FOMO – Fear of missing out ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออกและความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง

 

 

          ตอนนี้ ในระดับประเทศก็มีภาวะที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นภาวะกลัวตกกระแส 5G ทำให้พยายามกระพือข่าวให้รีบเร่งประมูล 5G ทั้งที่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราพร้อมมีบริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้วหรือยัง ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไปสู่ยุค 5G การเปลี่ยนผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก 2G มาสู่ 3G 4G และ 5G ตามลำดับ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ช่วงทองของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละยุคอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในอีก 10 ปีต่อมา จนเลิกผลิตอุปกรณ์ที่ล้าสมัยในที่สุด จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ก้าวสู่ 5G

 

 

 

โรคกลัวตกขบวน 5G

 


          แต่ 5G เพิ่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในโลกเมื่อกลางปีนี้เอง เทคโนโลยีและอุปกรณ์ใช้งานยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ประเทศที่เปิดบริการในปี 2562 และ 2563 จัดว่าเป็นประเทศลำดับแรกๆ (Early adoption) แต่การเปิดบริการในปี 2564 หรือ 2565 ก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเปิดบริการช้า และไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศตามที่มีการให้ข่าว เพราะในปัจจุบัน บริการ 5G ที่เปิดให้บริการในประเทศต่างๆ ยังมุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคทั่วไป (Consumer based) ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ (Enterprise based) แม้แต่ในเกาหลีใต้ซึ่งเปิดบริการเป็นประเทศแรกในโลก

 



          5G จะสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆ ก้าวกระโดดสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างแท้จริง แต่ไม่ใช่ใน 2 ปีนี้ จากการสำรวจผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในระยะเริ่มแรก บริการหลักที่สร้างรายได้ของ 5G จะเกิดจาก “บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” ร้อยละ 74 “บริการอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” ร้อยละ 21 และ “บริการสื่อสารความหน่วงต่ำ” เพียงร้อยละ 5 ดังนั้นโมเดลธุรกิจของ 5G ในช่วงแรกคือการให้บริการ Immersive content เช่น AR VR และ Time slice broadcasting บริการนี้จึงเป็น Cash cow ของ 5G ระยะแรก

 

 

 

โรคกลัวตกขบวน 5G

 


          ส่วนการใช้ 5G ในอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เริ่มมีการใช้ในการควบคุมทางไกลกับหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร บริการสื่อสารความหน่วงต่ำนี้จึงเป็น Rising star ของ 5G แต่การพัฒนาบริการนี้ต้องอยู่บนฐานความร่วมมือกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่างจากการเสนอขายบริการการสื่อสารสำเร็จรูปแบบดั้งเดิม และในส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งก็ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและการกำหนดมาตรฐานในระดับโลกของแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์อัจฉริยะ หรืออากาศยานไร้คนขับ คงใช้เวลาอีกระยะกว่าจะเห็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์


          ดังนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่จึงไม่ใช่คอขวดที่แท้จริงของการก้าวสู่ 5G แต่เป็นตัวอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและ use case ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้รัฐอยู่เฉยๆ รอให้ 5G สุกงอมเอง เพราะอย่างที่ยอมรับกันแล้วว่า 5G ต้องอยู่บนฐานความร่วมมือ รัฐจึงต้องมีภาระในการสร้างให้เกิดความร่วมมือ

 

 

 

โรคกลัวตกขบวน 5G

 


          ในมาเลเซียมีการจัดตั้ง 5G Taskforce โดยเชิญทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ ผู้ให้บริการ ผู้ผลิตอุปกรณ์และโครงข่าย สมาคมธุรกิจต่างๆ นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคม รวม 61 องค์กร กว่าหนึ่งร้อยคนร่วมอยู่ในหน่วยเฉพาะกิจนี้ และยังแบ่งเป็น 4 คณะทำงาน ได้แก่ ด้านกรณีตัวอย่างทางธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริหารคลื่นความถี่ และด้านการกำกับดูแล เพื่อเตรียมการอย่างรอบด้านให้ 5G ประสบความสำเร็จต่อประเทศอย่างแท้จริง การขับเคลื่อน 5G จึงมีจิ๊กซอว์มากกว่าแค่คลื่นความถี่


          อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ ก็ต้องมีการเตรียมการให้พร้อม เพราะคลื่นความถี่บางย่านถูกใช้งานอยู่ก่อน การเรียกคืน-การย้ายย่านความถี่ของบริการเดิมจึงต้องใช้เวลา เช่น ย่าน 700 MHz ถูกใช้งานโดยโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ย่าน 2.6 GHz ถูกใช้งานโดยกิจการสื่อสารของกองทัพ ย่าน 3.5 GHz ถูกใช้งานโดยโทรทัศน์ดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งการเตรียมคลื่นความถี่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในแต่ละย่าน หากจะเริ่มประมูลคลื่นความถี่จึงต้องเตรียมการล่วงหน้า 1-2 ปี ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายคลึงกันทั่วโลก หากเราเตรียมการบริหารคลื่นความถี่ได้ดี การจัดสรรคลื่นจะลงตัวกับพัฒนาการเชิงพาณิชย์ของ 5G อย่างพอดี


          การเปิดบริการ 5G ที่เร็วไปไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใด ยกเว้นผู้ขายอุปกรณ์และโครงข่าย ที่กระพือข่าว 5G อย่างต่อเนื่องเพื่อยอดขายของตน แต่สำหรับค่ายมือถือ หากอุปกรณ์ใช้งานยังมีไม่มาก Immersive content ยังไม่เพียงพอ การลงทุน 5G คือการก่อหนี้ทันที แต่ต้องรอรายได้ในอนาคต ต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่มีอุปกรณ์พร้อมและมีความต้องการใช้งานรออยู่ ทำให้สร้างผลตอบแทนได้ตั้งแต่ปีแรกของการเปิดบริการ


          การแก้ปัญหาความไม่พร้อมของ 5G ด้วยการประกาศลดราคาคลื่นความถี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีของประเทศ แน่นอนว่าราคาคลื่นความถี่ที่แพงไปย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม แต่ในทางกลับกัน ราคาที่ต่ำไปก็ส่งผลต่อประโยชน์ของรัฐ การกำหนดราคาคลื่นความถี่จึงต้องอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่การลดราคาเพื่อให้ค่ายมือถือรับคลื่นความถี่ไปแบกไว้โดยไม่ก่อรายได้ เพราะนั่นไม่ต่างจากการขายคลื่นความถี่ราคาถูกเพื่อให้มีการกักตุนคลื่นเพื่อกีดกันผู้ประกอบการหน้าใหม่


          ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเกิดยากมากอยู่แล้ว เพราะทิศทางบริการ 5G ในปัจจุบันจะเป็นการผสานการใช้งานโครงข่าย 4G ด้วย ไม่ใช่โครงข่ายเฉพาะของ 5G ต่างหาก (5G Non-standalone) และการสื่อสารด้วยเสียงผ่าน 5G (Vo5G) จะมีอุปสรรคในการสื่อสารกับโครงข่าย 2/3G แต่มีปัญหาน้อยกับโครงข่าย 4G ดังนั้น ผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่าย 4G อยู่ก่อนจะแข่งขันได้ยาก


          เราจึงไม่ควรตกอยู่ภายใต้ภาวะ FOMO จนทำให้ 5G คลอดก่อนกำหนดหรือท้องไม่พร้อม แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้เกิด 5G ที่ก่อประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ