คอลัมนิสต์

Fact-Checking ทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Fact-Checking ทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง คอลัมน์...  รู้ลึกกับจุฬาฯ


 

 

 

          การระบาดของ ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ ข่าวปลอมผ่านโซเชียลมีเดียกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงการปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อเพื่อป้องกันอันตราย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายหรือผู้แสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลและทรัพย์สินของเรา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน สื่อใหม่ และผู้ใช้สื่อต้องผนึกกำลังต่อสู้กับข้อมูลเท็จโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการเผยแพร่สื่อใดๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข่าวอย่างถูกต้อง

 

 

          คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ The International Fact-Checking Network, Poynter Institute for Media Studies รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จึงจัดเสวนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ “Fact-Checking Forum and Workshop” เพื่ออภิปรายบทบาทของการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 24 และ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา


          รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา อธิบายบริบทสื่อยุคใหม่ในสังคมไทยว่ามีความหลายหลาก มีลักษณะจำเพาะ และมีความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ


          “แพลตฟอร์มของสื่อยุคใหม่ของไทย ถูกใช้แสดงภาพลักษณ์ที่แตกต่าง และมีวัตถุประสงค์ที่เจาะจง เช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าได้กลายเป็นสื่อมวลชนแทนที่สื่อโทรทัศน์ ขณะที่ทวิตเตอร์ ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นเพื่อเผยแพร่ข่าวอย่างรวดเร็ว ส่วนไลน์ เน้นการส่งข้อความพูดคุย และเป็นสื่อที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จจำนวนมาก”


          อาจารย์พิจิตรา ยังยกตัวอย่างกรณีข่าวเหตุการณ์กู้ภัยที่ถ้ำหลวงเมื่อปีที่แล้วว่าเป็นภาพสะท้อนการเสพสื่อของคนไทยที่ค่อนข้างชื่นชอบข่าวเน้นอารมณ์ ข่าวดราม่า รวมถึงข่าวเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ถึงแม้ว่าคนไทยจะชอบการเสพสื่อรูปแบบเนื้อหาดังกล่าว แต่สังคมไทยก็ยังต้องการข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์

 



          “เช่นเรื่องข่าวกัญชา คนก็อยากรู้นะ หรือแม้แต่เรื่องการเมืองคนก็อยากรู้ข้อเท็จจริง แต่ด้วยบริบทบางอย่างทางสังคมไทยที่กดทับพอสมควรทำให้เราอยู่ในฐานที่คาดเดาไม่ได้ มีความไม่แน่นอน และควบคุมไม่ได้ หลายคนเลยต้องไปพึ่งกับสิ่งที่ไม่จริง เช่นเรื่องผี เรื่องหวย แทน”


          ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเปิดโอกาสให้เกิดข่าวที่ไม่มีสารประโยชน์ ไปจนถึงการสร้างข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ การตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Checking ในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและ “ไม่ง่าย” เพราะมีปัจจัยหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการให้ตรวจสอบได้ เพราะสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองสูง รวมถึงระบบการเมืองปัจจุบัน ทำให้หลายคนใช้ชีวิตด้วยความระแวงในการเลือกเชื่อข้อมูลที่ได้รับจากสื่อโซเชียล และอยู่กับความรู้สึกที่ว่าไม่ได้มีอำนาจและความสามารถในการกำหนดนโยบายได้ด้วยตนเอง


          “นโยบายจะแก้อะไรก็ถูกล็อกหมด หรือว่าวันดีคืนดีก็มีรัฐประหาร คนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล สิ่งที่จะตอบคำถามได้คือการเอาเรื่องบุญ เรื่องบาป จากชาติปางก่อนมาใช้ตอบคำถาม”


          ความท้าทายสำหรับสื่อในการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การแข่งขันกับความรวดเร็วในการสื่อข่าว การเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือประเด็นที่เกินความสามารถในการตรวจสอบ เช่นข้อมูลที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ ที่สำคัญผู้รับสารหลายคนเองก็เลือกที่จะเชื่อชุดข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเองโดยที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ทั้งนี้ความไว้ใจในข้อมูลทางการก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้เช่นกัน


          “โดยทั่วไปข้อมูลของภาครัฐมักจะได้รับความน่าเชื่อถือในกรณีประเทศเกิดวิกฤติ เพราะคนต้องการข่าวสารข้อเท็จจริงมากกว่าแหล่งข่าวอื่นๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องความเห็นการเมือง ภาครัฐ คนก็จะไม่เชื่อขนาดนั้น”


          กระนั้นก็ตาม อาจารย์พิจิตรายืนยันว่าหน้าที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงจะต้องเริ่มต้นที่สื่อมวลชน แม้ว่าการทำให้ประชาชนทุกคนรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่เป็นข้อท้าทายที่สื่อมวลชนต้องทำ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ข่าวลวง ข่าวเท็จจำนวนมากสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อคติที่นำไปสู่ความเกลียดชังและภาพเหมารวมเชิงลบต่อคนบางกลุ่ม เข้าข่าย ประทุษวาจาหรือ Hate Speech จึงเป็นหน้าที่สื่อที่จะช่วยคัดกรอง และค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข่าวที่ถูกต้อง มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน


          “สื่อมวลชนมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนเผยแพร่ ตัวนักข่าวเองมีหน้าที่ไม่นำเสนอข่าวดราม่า กึ่งเล่นกึ่งจริง ไม่มีสาระ ทำข่าวเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ จริงอยู่ที่ว่าธุรกิจข่าวก็ต้องดิ้นรน ตอบสนองความต้องการ วิธีคิดของคนไทย แต่นักข่าวก็ควรมีหน้าที่นำเสนอความจริงให้มากที่สุด ไม่ควรเอาอะไรง่ายๆ จากออนไลน์มานำเสนอ และต้องควบคุมข่าวเท็จ ข่าวปลอมที่สร้างปัญหา” อาจารย์พิจิตรากล่าวสรุป


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ