คอลัมนิสต์

คนละเรื่องเดียวกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนละเรื่องเดียวกัน คอลัมน์...  วงในวงนอก   โดย..  อสนีบาต [email protected]

 

 

 

 

          “เหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ดันประจวบเหมาะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน”


          เรื่องแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ปรากฏข่าวเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ส่งจดหมายมายังรัฐบาลไทย ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงไปถึงระดับรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาสำคัญขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้แบนสารพิษ โดยเฉพาะสารพิษที่ชื่อ “ไกลโฟเซต”

 

 

          เนื้อหาจดหมาย ยกสารพัดเหตุผลต้องทบทวน เช่น ฝ่ายไทยยังศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ดีพอบ้าง หากไทยแบนสารดังกล่าวจะส่งผลให้เกษตรกรต้องหาสารตัวอื่นทดแทนในราคาสูงขึ้นบ้าง รวมถึงผลกระทบสหรัฐในการส่งออก ถั่วเหลือง ข้าวสาลี มายังไทย เพราะสหรัฐยังมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชตัวนี้อยู่


          ทันทีที่จดหมายดังกล่าวส่งตรงถึงตึกไทยคู่ฟ้า องค์กรต่อต้านสารพิษ เช่น มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI เปิดโปงเบื้องหลังจดหมายฉบับดังกล่าวเป็นแค่ "รายงานเอสี่” ของผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯ สหรัฐ ที่เคยทำงานให้แก่บริษัทยาฆ่าหญ้าของสหรัฐมานาน 19 ปี


          “พูดง่ายๆ ผช.รมต.รายนี้ ใช้ตำแหน่งทางการเมืองออกมาปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยาฆ่าหญ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ นั่นเอง”


          “ไบโอไทย” จึงพยายามสื่อสารถึงรัฐบาลว่า อย่าตื่นตูม อย่าอ่อนไหวไปกับ "กระดาษเอสี่” เพราะเขาก็ทำกับทุกประเทศ และฝ่ายไทยต้องแสดงจุดยืนให้มั่นคงต่อการแบนสารพิษ ซึ่งปรากฏว่า “บิ๊กตู่” โยนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตอบจดหมายนั้นแล้ว


          ขณะที่ บรรดารมต.ที่เคยประกาศกร้าวแบนสารพิษ ดูจากอาการ ณ ขณะนี้ คงยืนยันเหมือนเดิม เดินหน้าออกกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2562


          แต่คราวนี้ เรื่องที่สองตามมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม เช่นกัน มีรายงานจากทำเนียบขาว โดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำประกาศรื้อฟื้นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี แก่หลายประเทศ




          หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อ "ไทยแลนด์” อยู่ด้วย ต้องถูกตัดสิทธิพิเศษสินค้า 500 กว่ารายการ รวมมูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลทุกประเภท ถูกระงับจีเอสพีเหี้ยน โดยอ้างว่าเกิดจากปัญหาสิทธิและสวัสดิการแรงงาน


          ฝ่ายไทยโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว พร้อมมอบหมายให้ กีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงรายละเอียดในวันนี้ (28 ต.ค.)


          ท่ามกลางคำถาม สองเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นความบังเอิญหรือเปล่า …อสนีบาต…ตอบได้เลย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน แต่เป็นความตั้งใจของพวก "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ซึ่งสหรัฐทำกับทุกประเทศ


          “นี่คือมาตรการตอบโต้ผู้แข็งขืน ที่ไม่ยอมก้มหัวให้ยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา”


          อย่างที่บอก เป็นความตั้งใจอย่างสุดซึ้งของอเมริกาแน่นอน เพราะต้นเดือนพฤศจิกายน จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพฯ


          นอกเหนือจาก ผู้นำจากจีน ญี่ปุ่น ตอบรับเดินทางมา พล.อ.ประยุทธ์ หมายมั่นปั้นมืออยากให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มาเยือนด้วย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า “รอการยืนยัน”


          แต่ที่แน่ๆ สหรัฐวางยุทธศาสตร์เรื่องนี้ไว้ โดยส่งม้าเร็วมาก่อน นั่นคือ เดวิด อาร์ สตีลเวลล์ ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุม อินโด-แปซิฟิก บิสิเนส ฟอรั่ม เป็นเวลารวม 4 วัน

เมื่อสามเดือนก่อน “พ่อคนนี้” เคยแวะมาตึกไทยคู่ฟ้า แต่ไม่ได้พบ “ลุงตู่” โดยได้คุยกับ ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 30 นาที พร้อมเผยว่าเป็นการหารือถึงการประชุมอินโด-แปซิฟิก ฟอรั่ม ที่จะมีการประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน

ต้องการต่อจิ๊กซอว์ให้เห็น ทั้งความเคลื่อนไหว ข้อเรียกร้องสหรัฐ ล้วนถาโถมเข้าใส่รัฐบาลไทยแบบหวังผล

ยิ่งในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน 4-5 พฤศจิกายน ย่อมมีเวทีพูดคุยในระดับทวิภาคี ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของสหรัฐจึงต้องปล่อยประเด็นปัญหาทั้งหมดออกมาก่อนเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

คราวนี้กลับมาที่ "ลุงตู่” จะหาทางออกต่อปมปัญหาทั้งหมดอย่างไร ทั้งจุดยืนแบนสารพิษ และการเคลียร์ปมจีเอสพีสินค้าไทยกว่า 500 รายการ

ส่วน “ทรัมป์” จะเดินทางมาไทยหรือไม่ เลิกลุ้นไปก่อน ตอนนี้ผลประโยชน์ชาติสำคัญกว่าครับ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ