คอลัมนิสต์

ชี้ช่อง สืบ-ยึดทรัพย์ แกนนำ นปช. คดีเผาเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชี้ช่อง สืบ-ยึดทรัพย์ จตุพร-ณัฐวุฒิ-อริสมันต์-เหวง คดีเผาเมือง หาทรัพย์สินไม่ยาก แนะ ดูจากบัญชีทรัพย์สินฯ ที่เคยยื่นไว้กับ ป.ป.ช. เมื่อตอนเป็น ส.ส.-รมต.

  ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย  
   ภายหลังนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับชะตากรรม พร้อมถูกฟ้องล้มละลาย ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาให้แกนนำ นปช.  ชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุมเผาเมืองในปี 2553

      โดย จตุพร อ้างว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะไม่มีเงิน ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็น ส.ส.เมื่อ 18 พ.ค. 2555 มีเงินเดือนอย่างเดียวก็คือ บำนาญ ส.ส.เดือนละ 14,000 บาท เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ไม่มีปัญญาที่จะไปชดใช้

        โดยคดีแรก ศาลสั่งให้ จตุพร  พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ- อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง   ต้องชดใช้ 19 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินกว่า 30ล้านบาท  กรณีม็อบเผาอาคารย่านราชปรารภ

          คดีที่สอง กรณีม็อบเผาตึกย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศาลสั่งให้ จตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ- เหวง โตจิราการ “ ต้องชดใช้อีก 21 ล้านบาท บวกค่าเสียโอกาสบวกดอกเบี้ย ก็กว่า 30ล้านบาทเช่นเดียวกัน

          รวมสองคดี เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท 

         เอาล่ะสิ !! เมื่อจำเลยออกมาประกาศตัวพร้อมล้มละลาย ” ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย“ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะทำอย่างไร  

      เหตุการณ์ล่วงเลยมานานกว่า 9 ปี วันนี้ได้คำพิพากษามาจับถือ แต่ความเสียหายยังไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาค่าเสียหายตามคำพิพากษา หากเทียบเคียงกับคดี “แพรวา 9 ศพ”  สิ่งที่ฝ่ายเจ้าหนี้ดำเนินการได้ในทันทีหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือ สืบทรัพย์ รวบรวมรายการทรัพย์สินในการถือครองของจำเลย  เมื่อครบกำหนด 30 วันหลังศาลมีคำพิพากษา ให้ไปยื่นขอให้ศาลออกคำบังคับและออกหมายบังคับคดี จากนั้นคำบังคับคดีจะส่งมายังกรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดี  

      …เมื่อฝ่ายโจทก์ผู้ชนะคดี สืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เท่าไร ให้มาตั้งเรื่องโดยแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับกับทรัพย์สินดังกล่าว  ทั้งนี้การสืบทรัพย์บังคับคดีมีระยะเวลา  10 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์สิน หรือการอายัดสิทธิเรียกร้องต่างๆ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ อันเป็นกระบวนการบังคับคดีตามกฎหมาย

      ข้อแตกต่างในคดีของแกนนำนปช. กับคดีแพรวา 9 ศพ คือ คนเหล่านี้เป็นอดีตรัฐมนตรี…อดีต ส.ส. ทำให้พวกเขามีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินไว้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง และหลังพ้นจากตำแหน่ง โจทก์จึงไม่ต้องเดินสายไปยังสำนักงานที่ดินหรือสถาบันการเงิน เพื่อยื่นเรื่องติดตามสืบทรัพย์  

      วิธีการจะง่ายกว่า โดยเริ่มต้นด้วยการสืบค้นจากรายการทรัพย์สินที่ยื่นแสดงโดยเปิดเผยไว้กับ ป.ป.ช.  พบรายการทรัพย์สินครบวงเงินตามความเสียหายในคำพิพากษาก็นำมายื่นขอบังคับคดี 

      และถ้าเข้าไปอ่านเนื้อหาในคำพิพากษา คดีละเมิด ทำให้เสียทรัพย์จากการปลุกม็อบเผาเมืองนี้ ศาลสั่งให้จำเลยที่ 8-10 นั่นก็คือ จตุพร  ณัฐวุฒิ และ นพ.เหวง  ร่วมกันชำระค่าเสียหาย คำว่าร่วมกันไม่ใช่เอาวงเงินมาหาร 3 แล้วเฉลี่ยกันจ่าย แต่หมายถึงสืบทรัพย์ เจอทรัพย์ของจำเลยคนหนึ่งคนใดครบตามมูลค่าความเสียหายในคำพิพากษา ก็ให้บังคับคดีเอากับทรัพย์นั้น แล้วให้จำเลยทั้ง 3 ไปไล่เบี้ย เคลียร์กันเอง ซึ่งต่างจากคดี “แพรวา 9 ศพ” ซึ่งศาลกำหนดให้จำเลยแต่ละราย ชดใช้ความเสียหายเป็นรายบุคคล คนละกี่ล้านบาทก็ว่ากันไป  

   

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ