คอลัมนิสต์

เอกสิทธิ์ ส.ส. เหนือกว่า มติพรรค 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เอกสิทธิ์ส.ส.ในการโหวตในสภา รธน.ให้ความคุ้มครองจึงเหนือกว่ามติพรรคการเมืองซึ่งขณะนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็ไม่ได้เขียนว่าสมาชิกต้องทำตามมติพรรคเหมือนเมื่อก่อน

      กรณีที่ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์  หรือทนายนู้ด ส.ส.ชลบุรี เขต 7  พรรคอนาคตใหม่ ได้ทำการลงมติเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563ของรัฐบาล ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งสวนทางกับมติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งรวมถึงพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่างพากันงดออกเสียง 

   

      และก่อนหน้านี้น.ส.กวินนาถ คนนี้ นี่แหล่ะ ที่เป็น 1 ใน ส.ส.อนาคตใหม่ที่ได้ลงมติเห็นชอบต่อ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่ีรัฐบาลเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นการสวนกับมติของพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้ลงมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้  ทำให้ทางพรรคอนาคตใหม่ ออกมาตำหนิและประณามว่าเป็น“ งูเห่า ” และจะพิจารณาลงโทษหรืออาจถึงขั้นขับออกจากพรรคการเมือง

      นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวนมติพรรคอนาคตใหม่โดยงดออกเสียง ต่อ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ จนทำให้มีกระแสข่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นงูเห่าสีส้ม และทางคณะกรรมการบริหารพรรคเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบหลังเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม

      ประเด็นที่ผู้คนสนใจอยู่ในขณะนี้จึงอยู่ที่ว่า การตัดสินใจลงคะแนน หรือโหวตเสียงของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร กับ มติพรรคการเมืองที่ ให้ ส.ส. ของพรรคปฏิบัติในเรื่องใด อย่างไหนสำคัญหรือเหนือกว่ากัน

เอกสิทธิ์ ส.ส. เหนือกว่า มติพรรค 

     รศ. ดร. เจษฎ์  โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์  วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นว่า ในเรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส. บัญญัติ ไว้ในมาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ในที่ประชุุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด  

        และรัฐธรรมนูญมาตรา 114  ก็บัญญัติว่า  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ 

        ส่วนในเรื่องที่สมาชิกพรรคต้องทำตามมติพรรคนั้น มีเขียนไว้ใน พ.ร.ป. พรรคการเมือง  พ.ศ.2541 แต่ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ฉบับต่อๆมา  ไม่ได้มีการเขียนเรื่องนี้ไว้อีก ่รวมทั้ง พรป.พรรคการเมือง ฉบับปัจจุบันก็ไม่มีเรื่องนี้แล้ว 

       ดังนั้นเรื่องที่ว่า ส.ส. ต้องทำตามมติพรรค จึงไม่ต้องพูดถึงอีก และที่ยกเลิกเรื่องสมาชิกต้องทำตามมติพรรคก็เพราะว่าตอนนั้นเรื่องนี้สร้างปัญหาขึ้น เนื่องจากว่าพอพรรคมีมติในเรื่องใด   ทุกคนต้องทำตามมติพรรค กลายเป็น ส.ส. ต้องขายตัวให้พรรค

       ถ้าเราย้อนไปดูปัญหาเกี่ยวกับพรรคการเมืองในบ้านเมืองเรา ให้ไปดูประวัติของพรรคไทยรักไทย ควบรวมพรรค, ส.ส. ย้ายพรรค,  ล็อกคอ ส.ส. , รัฐมนตรีเก้าอี้ดนตรี    จึงเป็นต้นเหตุให้ยกเลิกเรื่อง ส.ส. และสมาชิก ต้องทำตามมติพรรคการเมืองไปตั้งแต่นั้นมา  จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีเรื่องนี้อีก      

      "สำหรับสาเหตุที่ได้เคย ออก พรป.พรรคการเมือง ให้สมาชิกต้องทำตามมติพรรคนั้น ก็เพราะว่า เห็นว่า พรรคการเมือง  รัฐบาล อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงประเคนความเข้มแข็งความมีเสถียรภาพให้กับรัฐบาล จนกระทั่งพรรคการเมือง เข้มแข็งเกินไปและรัฐบาลมีเสถียรภาพมากไป จนเกิดระบอบ "เผด็จการรัฐสภา"  จึงมายกเลิกเรื่องนี้ในภายหลัง ในพรป.พรรคการเมือง จึงไม่มีเรื่องนี้อีก  เหตุเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 คนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 อาจจะปรารถนาดี เพราะการเมืองของไทยง่อนแง่นมาโดยตลอด แต่พอมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540  พรรคการเมืองเข้มแข็งจริงแต่เล๊ะไปใหญ่ ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยก่อเกิดปัญหาแตกแยกในบ้านเมืองจนถึงทุกวันนี้  "

       ส่วนที่พรรคการเมือง อาจอ้างถึงข้อบังคับพรรค ว่าเขียนไว้ให้สมาชิกต้องทำตามมติพรรค อ.เจษฎ์ ฟันธงว่า ข้อบังคับพรรคขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะข้อบังคับพรรคมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น ส.ส. จึงมีสิทธิโหวตตามเอกสิทธิ์ที่คุ้มครองอยู่แล้ว และถ้าพรรคการเมืองจะขับ ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรค ก็ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนคนที่ถูกขับก็ไปหาพรรคการเมืองอื่นอยู่ได้ภายใน 30 วัน   

      อ.เจษฎ์  ยังเตือนไปยังพรรคอนาคตใหม่ ว่า หากคิดจะขับ ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรค ขอให้คิดให้รอบคอบ เพราะ ส.ส. ของพรรคที่โหวตสวนมติพรรคมี 2 เรื่อง  คือ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ดังนั้นหากคิดขับ ส.ส. ของพรรคที่โหวตสวนมติพรรคที่ให้ลงมติไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ ย่อมมีปัญหาตามมาได้ เพราะอาจมีการตีความว่ามติพรรคต้องการล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขได้  เพราะตอนนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่าที่พรรคอนาคตใหม่ ไม่เอา พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังฯเพราะอะไร 

     " ลำพังมติพรรคให้ลงมติไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลัง ฯอาจจะยังไม่สามารถนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ได้  แต่ถ้าพรรคอนาคตใหม่ ไปลงมติขับ ส.ส. ของพรรคที่โหวตสวนมติพรรคในเรื่องนี้เข้าไปอีก ก็ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ และถ้ามีคนนำเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่  เข้าข่ายล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็อาจถูกยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง"

       ส่วนที่มีการอ้างว่าการที่ ส.ส. ต้องทำตามมติพรรค เป็นหลักการทั่วไปของประชาธิปไตยนั้น  รศ.ดร.  เจษฎ์ ได้ย้อนถามว่า  สมาชิกพรรคการเมืองเหนือกว่าการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่, พรรคการเมืองสำคัญกว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ,ข้อบังคับพรรคการเมืองสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าคำตอบ คือไม่ใช่ทั้งหมด แล้วจะเอาอะไรมาอ้างว่า ส.ส. ต้องทำตามมติพรรคเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนราษฎร ไม่ใช่แค่เป็นผู้แทนพรรคการเมือง  พรรคการเมืองเป็นแค่พรรคหนึ่งพรรค แต่สภา คือที่ทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรทั้งประเทศ ข้อบังคับพรรคก็เป็นแค่ข้อบังคับของพรรคการเมืองหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

    “ ดังนั้นคุณจะมาอ้างข้อบังคับพรรค ซึ่งเป็นแค่ของพรรคการเมืองหนึ่ง มาเหนือกว่า ผู้แทนราษฎร  เหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร  เหนือกว่ารัฐธรรมนูญได้อย่างไร เอกสิทธิ์ ส.ส. จึงสำคัญกว่ามติพรรค ไปดูได้ในทุกประเทศ จะให้ความคุ้มครองสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็น ส.ส.  มากกว่าสมาชิกพรรคการเมืองทั่วไปที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ”

   อ.เจษฎ์  ยังเห็นในตอนท้ายว่า การที่ ส.ส. ลงคะแนนสวนมติพรรค จะประณาม หรือหาว่า ขายตัว ไม่ได้  และก็ไม่ใช่ “งูเห่า ” ด้วย  ที่จะเรียกว่า “งูเห่า” ได้ ต้องเป็นกรณีที่ย้ายจากพรรคการเมืองตัวเองไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น ไปทำให้พรรคการเมืองอื่นจัดตั้งรัฐบาลได้และทำให้พรรคการเมืองตัวเองจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เป็นต้น  ซึ่งเรื่อง“งูเห่า” ทางการเมืองนั้น มีตำนานประวัติและที่มาคือกรณีที่ของพรรคประชากรไทย  ที่คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก่อนเลือกตั้งได้ขอมาอยู่กับพรรคประชากรไทย แต่พอหลังเลือกตั้งได้ย้ายออกจากพรรคประชากรไทย ไปร่วมกับพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่งแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้  เขาจึงเรียกว่า “งูเห่า” ซึ่งเปรียบเสมือนชาวนา ที่ช่วย “งูเห่า” ให้มีชีวิตรอดจากอากาศหนาวเย็น แต่พอได้ไออุ่นจากมือคน ก็กลับฉกกัดชาวนาคนที่ช่วยชีวิต “งูเห่า”ไว้  ดังนั้น ไม่ใช่อะไรก็ “งูเห่า”  แม้กระทั่งเป็น ส.ส.อยู่ฝ่ายรัฐบาลแต่ไปโหวตเสียงให้ฝ่ายค้าน ก็ไม่ใช่ “ งูเห่า ” หากเขามีเหตุผลในการโหวตและเป็นเอกสิทธิของ ส.ส. 

     "แต่ถ้าเป็นการ"ขายตัว"หรือ" แปรพักตร์ " ตีสองหน้า หรือ นกสองหัว  มีการจ้างให้โหวตซึ่งมักจะเกิดอย่างไม่มีเหตุผล เช่นรัฐบาลจะเอาให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วไปซื้อ ส.ส. ฝ่ายค้าน ให้มาร่วมมือ หรือฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลให้ได้ในเรื่องหนึ่ง ก็ไปซื้อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาโหวต อย่างนี้จึงประณามได้ แต่ถ้า ส.ส. คนนั้นโหวตอย่างมีเหตุผล ไปว่าเขาไม่ได้"

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ