คอลัมนิสต์

ถอดบทเรียนรับมือไต้ฝุ่นฮากิบิส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถอดบทเรียนรับมือไต้ฝุ่นฮากิบิส คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 

 

          ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส พายุลูกใหญ่ที่สุดลูกหนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งพัดถล่มเข้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังพายุผ่านพ้นไปมีรายงานความเสียหายราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 80 ราย

 

 

          อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ข่าวไทยและต่างประเทศต่างพากันนำเสนอคือการเตรียมพร้อมรับมือและมาตรการต่างๆ ในการรับมือเหตุการณ์นี้ของภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นซึ่งสามารถลดความสูญเสียได้อย่างมหาศาล


          ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความสำเร็จในการรับมือภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่นมาจากปัจจัย 2 อย่าง คือการบริหารจัดการ และการปลูกฝังค่านิยมในการรับมือกับภัยพิบัติของคนญี่ปุ่น


          เมื่อถึงเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศ ญี่ปุ่นจะใช้การสั่งการที่เป็นระบบมาจากส่วนกลาง โดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจะสวมชุดสีฟ้าเป็นทีมเพื่อเตือนภัยภาวะฉุกเฉินและมีระบบเตือนภัยที่ทำเป็นระบบให้ประชาชนเข้าใจง่าย


          “เขาจะแบ่งระดับเป็น 5 ระดับเตือนภัย สีขาวไปจนถึงม่วงเข้ม ตามความรุนแรง ซึ่งจะบอกไว้ว่าอยู่ระดับนี้ต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าอยู่ระดับ 1 ต้องเตรียมตัวอย่างนี้ที่บ้านแล้วนะ ถ้าอยู่ระดับ 4 ก็ต้องเริ่มอพยพแล้วนะ โดยมีแผนที่ทั่วประเทศบอกชัดเจน และอัพเดตตลอดเวลา”


          ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือวินัยของคนในชาติเนื่องจากคนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาให้รับมือกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ก่อนมีภัยพิบัติ ระหว่างมีภัยพิบัติ จนกระทั่งถึงหลังจากภัยพิบัติจบไปแล้ว




          “คนญี่ปุ่นมี Life Skill (ทักษะชีวิต) ในการรับมือภัยพิบัติสูงมาก เขาจะได้รับการปลูกฝังมาแล้วว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ต้องเตรียมอาหารกระป๋อง เตรียมน้ำ อย่างไร วิทยุ ไฟฉาย ต้องทำอย่างไร เคยซ้อมอพยพ ก็จะรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร ทั้งนี้มันเกิดจากระบบการศึกษาและการปลูกฝังซึ่งโรงเรียนและครอบครัวสอนมาตั้งแต่ยังเด็ก”


          อาจารย์เจษฎาชี้ว่า ภาพที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์มากภาพหนึ่งในช่วงเกิดเหตุพายุฮากิบิสคือภาพน้ำท่วมบนท้องถนนในญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีขยะลอยน้ำให้เห็นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ก็มีที่มาจากความมีวินัยของญี่ปุ่น


          “เขาใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด แม่น้ำคูคลองก็ขุดลอกเพื่อรับน้ำ ประชาชนก็ให้ความร่วมมือเอาขยะเก็บขึ้นไม่ให้วางอยู่บนถนน ขนาดสุนัขและแมวก็จัดการให้อยู่พื้นที่ปลอดภัย”


          ขณะเดียวกันสื่อเองก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ มีการให้ข้อมูลตามจริง ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดความตระหนกแต่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือ


          “ประชาชนคนญี่ปุ่นให้ความเชื่อมั่นกับข้อมูลภาครัฐสูง เขามองว่ารัฐไม่มีทางทำอะไรที่ไม่ดีแก่ประชาชน ส่วนหนึ่งเพราะเขาได้รับการปลูกฝัง หล่อหลอม ฝึกฝนมาในแนวทางนั้นมาโดยตลอดและเขาพร้อมที่จะทำตามกระบวนการเพื่อความปลอดภัย ไม่มีใครต่างเอาตัวรอด แต่พร้อมที่จะไปด้วยกัน”


          อาจารย์เจษฎาระบุว่าประเทศไทยยังขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ แต่กลับไปเน้นการให้ข้อมูลในเชิงสีสัน ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกมากกว่าการให้ข้อมูลเพื่อรับมือ และยังขาดตัวกลางให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการบูรณาการกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในท้องถิ่น


          “ประชาชนต้องได้ข้อมูลเพื่อเอามาทำแผนรับมือที่ใช้งานได้ ในที่นี้ท้องถิ่นเองก็ต้องรู้จักการจัดการในพื้นที่ เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่จะต้องอพยพคนอย่างไร แต่ ณ ตอนนี้เรายังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในระดับพื้นที่ ไม่มีการบูรณาการที่ชัดเจนกับหน่วยงานส่วนกลางที่รับผิดชอบ”


          อาจารย์เจษฎายังระบุอีกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสภาพอากาศโลกทำให้ภัยพิบัตินับจากนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นไม่ควรเอามาตรฐานในอดีตว่า “ไม่เคยเกิดขึ้น” หรือ “เอาอยู่” มาเป็นความประมาท และการไม่เตรียมพร้อมรับมือ


          “มีนักวิจัยอากาศชี้ว่าพายุลูกต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็จะมีความแรงระดับฮากิบิส ดังนั้นอย่าเอาความเชื่อเดิมๆ ไปเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งภาครัฐและประชาชนอย่าคิดว่าเอาอยู่ แต่ต้องหาทางรับมือและปรับตัวเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยเร็ว”


          “ณ ตอนนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่าถ้าหาก กทม. เจอน้ำท่วม หรือแม้แต่ภัยพิบัติอื่นๆ หรือการก่อการร้าย เราจะทำอย่างไร เราถือว่าสุ่มเสี่ยงมากๆ เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่สั่นคลอนรุนแรงแล้วปรับตัวสู่สภาพเดิมโดยเร็วไม่ได้เราจะแย่ และประเทศจะขับเคลื่อนต่อไปได้ยาก เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง ทั้งเทคโนโลยีและการเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุ แต่ที่สำคัญกว่า คือการสร้างจิตสำนึกและความรู้ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ถึงจะมีนวัตกรรมดีๆ แต่คนไทยไม่มีจิตสำนึกก็ไม่ช่วยอะไร” อาจารย์เจษฎากล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-คลิปแรกความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นฮากีบิส
-พายุไต้ฝุ่น ฮากิบิส ถึงญี่ปุ่นแล้ว ทำไฟดับ 4.8 แสนครัวเรือน
-"ไต้ฝุ่นฮากิบิส" ที่อาจจะกลายเป็นพายุที่ใหญ่ที่สุดในโลก
-ไต้ฝุ่น ฮากิบิส ถล่มญี่ปุ่นไม่กระทบไทย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ