คอลัมนิสต์

ชีพจรรัฐสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชีพจรรัฐสภา โดย... ธนรัตน์ ยงวานิชจิต [email protected]

 

 

 

          รัฐสภาก็มี “ชีพจร” ดังเช่นผู้คนมีชีวิตทั้งหลาย

 

          ในวันประวัติศาสตร์รัฐสภา 18 กันยายน 2562 ฝ่ายค้านลุกขึ้นอภิปรายโจมตีคณะรัฐมนตรี กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ได้ไม่สมบูรณ์แบบ ยังผลให้ “ชีพจรรัฐสภา” เต้นแรงเร็วรุ่มร้อนผิดจังหวะปกติ ส่อว่ารัฐสภามีปัญหาทางสุขภาพจิต และอาจเต้นจังหวะนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน นอกจากฝ่ายค้านจะหันมา “คิด-พูด-ทำ” ตามที่ปวงชนได้มอบอำนาจอธิปไตยให้ไว้แล้วในวันเลือกตั้ง เพื่อนำไปเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่ปวงชน

 

 

 

 

          อย่าลืมว่าทุนนิยมขาดลูกค้ามิได้ฉันใด นักการเมืองก็ขาดปวงชนมิได้ ฉันนั้น พูดง่ายๆ “ไม่มีปวงชน-ไม่มีนักการเมือง”


          พรรคฝ่ายค้านมีมุมมองว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ่านคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ส่วนท่านนายกฯ ก็มีมุมมองว่าได้ถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์อย่างถูกต้องตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ครม.ก็ได้น้อมรับพระราชทานข้อเตือนใจจากพระองค์ไปถือปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว


          แม้ท่านนายกฯ พร้อมรับผิดชอบ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งไม่วินิจฉัยว่าท่านทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และชี้แจงด้วยว่าไม่มีองค์กรใดในรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยกรณีดังกล่าวได้ กระนั้นก็ตามฝ่ายค้านกลับถือโอกาสท้าทายให้ท่านลาออก ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีอายุไม่ถึงสองเดือน ยังไม่ทันได้แสดงผลงาน อีกทั้งการถวายสัตย์ก็ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติแต่อย่างใด


          เมื่อตัวบทกฎหมายมิอาจเยียวยามุมมองที่ขัดแย้งกันได้ ทางออกหนึ่งได้แก่การอาศัย “วิญญาณจิตมนุษยชาติ” ที่สืบทอดกันมายาวนานจากมนุษย์คนแรกที่คลอดจากแม่ลิงชิมแปนซีเมื่อ 6 ล้านปีก่อน โดยอาศัย “วิญญาณจิตดั้งเดิม” ที่ปราศจาก “มลทิน” ใน “มิจฉาทิฐิ อุปาทาน อิจฉาริษยา ความคับข้องใจ แค้นส่วนตัว กิเลสอัปมงคลอยากเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนใจคอทุจริต” เพราะเป็นวิญญาณจิตที่สว่างสงบของผู้มี “วุฒิภาวะ ความมีเหตุมีผล อารมณ์เสริมสร้าง ตลอดจนสามัคคีธรรม”

 



          ด้วยวิญญาณจิตที่สว่างสงบดั้งเดิม รัฐบาลและฝ่ายค้านย่อมพร้อมที่จะยอมรับนับถือกันในสถานภาพและบทบาทของกันและกัน อีกทั้งยอมรับความเป็นจริงที่ว่า 1.การเมืองไทยปั่นป่วนสุ่มเสี่ยงน่าวิตกยิ่งในปี 2557 2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกมาเยียวยาได้ทันท่วงที 3.ชาติบ้านเมืองภายใต้คสช.เจริญสุขตลอด 4 ปี 4.เศรษฐกิจการเงินชาติเริ่มฟื้นฟู 5.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ริเริ่มวางแผนเปลี่ยนผ่านการปกครองจากคสช.สู่ระบอบประชาธิปไตย 6.มีการประชุมรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2562


          เมื่อรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างตั้งหลักอยู่บนพื้นฐานเดียวกันของความเป็นจริงทั้ง 6 ข้อแล้ว ต่างก็น่าจะเห็นพ้องต้องกันได้ว่า “การถวายสัตย์ตรงตามตัวอักษร” และ “การถวายสัตย์ตรงตามขั้นตอน” นั้น มี “ความสำคัญด้วยกันทั้งคู่” ดังนั้นต่างก็น่าจะหันมาปรองดองกันให้สองวิธีการถวายสัตย์ เป็นที่ยอมรับต่อกัน ดังเช่นที่นักการเมืองนานาอารยะประเทศได้ทำกันทันท่วงทีเมื่อประสบปัญหาการถวายสัตย์ตามรัฐธรรมนูญ


          ข้อสำคัญฝ่ายค้านพึงแสดง “จริยธรรมทางการเมือง” ไม่ฉวยโอกาสใช้กรณีถวายสัตย์โจมตีครม.แบบ “ได้ทีขี่แพะไล่” โดยคำนึงว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” และน่าจะยอมรับความเป็นจริงที่ว่าเมื่อ ครม.ได้ถวายสัตย์แบบนั้นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าครม.จะต้องถวายสัตย์แบบนั้นซ้ำอีกเสมอไป หากแม้จะเกิดซ้ำอีกรัฐบาลและฝ่ายค้านก็น่าจะร่วมกันเยียวยาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ด้วยวิญญาณจิตไร้มลทินดังกล่าว


          ต่อข้อห่วงใยของฝ่ายค้านที่ว่าหากปล่อยให้การถวายสัตย์ที่ตนคัดค้าน ผ่านพ้นไปเฉยๆ ก็จะเป็นการทำลาย “บรรทัดฐาน” สำหรับสอบวัดการถวายสัตย์นั้น นับได้ว่าเป็นข้อห่วงใยที่ไม่ตรงประเด็น ไม่ถูกจุด และเป็นส่วนเกิน (Irrelevant) เพราะบรรทัดฐานดังกล่าวก็ยังมีอยู่เช่นเดิม...ไม่ได้หายไปไหน


          ในการนี้รัฐบาลและฝ่ายค้านน่าจะร่วมกันเยียวยามุมมองที่ขัดแย้งกัน โดยอาศัยวิญญาณจิตไร้มลทินและมุ่งหวังผลระยะยาวกับความยั่งยืน ข้อสำคัญทั้งสองฝ่ายจำต้องยอมรับ “ความเป็นจริงตามความสมจริง” ซึ่งในบางกรณีอาจประสบความยากเย็นเกินกว่าที่จะอธิบายให้ “เข้าใจกัน” ได้


          นอกจากนี้รัฐบาลและฝ่ายค้านน่าจะแสดงให้เห็นวิญญาณจิตของผู้ที่ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” เป็น คือรู้จักอดกลั้นระยะสั้นเพื่อรับผลระยะยาว นักจิตวิทยาวิจัยพบว่าเด็กที่อดเปรี้ยวเป็น มักเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนเด็กที่อดเปรี้ยวไม่เป็น มักไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต หลายคนได้กลายเป็นอาชญากรต้องโทษคำพิพากษาศาลไปอย่างน่าเสียดาย (https://en.wikipedia.org/wiki/Stanford_marshmallow_experiment#Stanford_experiment)


          การบริหารชาติบ้านเมืองย่อมต้องมุ่งหวังผลระยะยาวและความยั่งยืนมากกว่าผลระยะสั้นไร้ความยั่งยืน มิใช่หรือ?


          ในขณะอภิปรายฝ่ายค้านน่าจะคำนึงถึง “ความเป็นจริงตามความสมจริง” ในข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาของรัฐบาลชุดใหม่เอี่ยมสำหรับจัดสรรตัวเลขงบประมาณ 2563 และรู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพื่อจะได้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กันกับรัฐบาลด้วย “สามัคคีธรรม” ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของปวงชน มิใช่หรือ?


          การที่ท่านนายกฯ ได้มอบหมายให้รองนายรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวบทกฎหมาย ทำหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการถวายสัตย์แทนนั้น นับเป็นการถือปฏิบัติตามพุทธวจนในธรรมบทหมวดตน ข้อ 10 ที่ว่า “ถึงท่านได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นใด มิใยยิ่งใหญ่ปานใดไว้ ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางแท้จริงแห่งตน เมื่อรู้อยู่ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแท้จริงแห่งตนแล้ว ก็ควรใฝ่ใจขวนขวาย”


          จุดหมายปลายทางของท่านนายกฯ ก็ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าได้บริหารชาติบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนอย่างแท้จริง ดังเห็นได้จากการปฏิรูปตลอด 4 ปีกว่าของท่าน ซึ่งได้สาธิตให้เห็นผลงานที่สะอาดและน่าพึงพอใจในลักษณะ “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”


          แม้จะไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ ท่านนายกฯ ก็มีเจตนารมณ์บริสุทธิ์และภูมิปัญญามากพอที่จะนำพาชาติบ้านเมืองไปส่งอีกฝั่งหนึ่งจนสำเร็จ ทั้งนี้แตกต่างจากนายกฯ หลายท่านในอดีตที่เป็นมืออาชีพ แต่ขาดเจตนารมณ์บริสุทธิ์และ/หรือภูมิปัญญา ยังความล่มจมหายนะต่อชาติบ้านเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน


          ส่วนการที่ท่านนายกฯ ก้าวออกจากรัฐสภาก่อนปิดประชุมนั้น นับเป็นการปฏิบัติตาม “อักโกสกสูตร” ว่าด้วยเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับคำด่าก้าวร้าวของพราหมณ์ เมื่อไม่รับคำด่าว่ามาตอบโต้กลับ คำเหล่านั้นก็ตกอยู่กับพราหมณ์ดังเดิม ในทำนองเดียวกับที่เจ้าบ้านต้อนรับแขกเหรื่อด้วยขนมน้ำดื่ม หากแขกเหรื่อไม่รับ เครื่องต้อนรับก็ตกเป็นของเจ้าบ้านดังเดิม คือท่านนายกฯ ไม่รับคำโจมตีเกินเหตุเกี่ยวกับการถวายสัตย์ของท่านเพื่อนำมาตอบโต้ จึงตัดสินใจบริหารเวลาด้วยการก้าวออกจากรัฐสภาไปทำราชการสำคัญอื่นแทน เพื่อยุติการวิวาทกันในรัฐสภา


          สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้แสดงข้อเตือนใจไว้นานแล้ว ความว่า “การที่ฝ่ายหนึ่งทำผิด ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะถูกต้อง เพราะว่าคนดีกับคนร้าย คนดีกับคนดี หรือคนร้ายกับคนร้าย ก็อาจทะเลาะกันได้ ทั้งนี้ทำให้การงานสำคัญของประเทศชาติต้องพลอยชะงักงันไป และประโยชน์สุขของสังคมประเทศชาติก็ขาดหายไป” (http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/no_dhammocracy_then_no_democracy_%28joining_point_political_science_and_legal_studies.pdf)


          ในผลของการวิวาทกันนั้น คณะวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ นำโดย ดร.มาร์ติน เอ โนแวค ได้อาศัยวิชาคณิตศาสตร์และชีววิทยา คำนวณผลทางชีวภาคแล้วพบว่า เมื่อฝ่ายแรกเริ่มโจมตีลงโทษฝ่ายหลัง ฝ่ายหลังก็จะตอบโต้แก้เผ็ด ก่อให้เกิดการตอบโต้กันไปมาอย่างไม่จบสิ้น ทั้งนี้ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายประสบความหายนะและความพ่ายแพ้มากกว่าประโยชน์สุข นับเป็นผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับข้อเตือนใจของท่าน ป.อ.ปยุตโต ดังกล่าว (https://www.jstor.org/stable/26000851?seq=1#page_scan_tab_contents)


          แม้การถวายสัตย์จะเป็น “พิธีการ” ที่สำคัญยิ่งยวด แต่พิธีการของท่านนายกฯ ย่อมมิได้บ่งชี้ถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือขาดสมรรถภาพของท่าน อย่าลืมว่าบรรดาท่านนายกฯ ไทยทั้งหลายในอดีต ก็ได้ถวายสัตย์แบบได้คะแนนเต็มร้อยสวยสดงดงามมาแล้ว แต่หลายท่านก็ได้ประจานตัวเองด้วยผลงานโกงกินชาติบ้านเมืองอย่างฉกาจฉกรรจ์มาด้วยแล้ว มิใช่หรือ?


          ผู้นำ อภิชน ตลอดจนผู้ห่วงใยในอนาคตของชาติบ้านเมืองอาจเริ่มเอือมระอากับปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจากการเมืองไทยแบบมีพรรคการเมืองกำกับหนุนหลังอยู่ในการนี้ ขอให้คลิกที่ลิงก์ท้ายนี้เพื่อประเมินแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับระบบการเมืองไทยแบบใหม่ที่ไม่มีพรรคการเมือง (https://www.komchadluek.net/news/scoop/380033)


          อย่าลืมว่า “การขาดสามัคคีธรรมในไทย” คือ “ความฝันอันสูงสุด” ของขบวนการก่อความแตกแยกในไทย นักการเมืองที่ได้แสดงความบ้าบิ่นพูดคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 (ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรแบ่งแยกมิได้) ในขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 255 ก็ห้ามแก้ไขไว้ นั้น ส่อให้เห็น “เจตนารมณ์ก่อความแตกแยกและไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ” จึงพึงแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ตนไม่ยอมรับ ทั้งนี้ปวงชนอาจให้คะแนนนิยมในสปิริตที่ยอมรับว่าตนไม่ควรสิ้นเปลืองทรัพยากรสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญนี้แต่แรก


          รัฐสภามิได้เป็นเพียงอาคารที่ก่อสร้างจากเงินของปวงชนเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สถิตของ “วิญญาณจิตศักดิ์สิทธิ์” อันเกิดจากความมุ่งหวังที่มีชีวิตจิตใจของปวงชน ผู้ต้องการให้รัฐบาลและฝ่ายค้านบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตสุดความสามารถ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชนเอง


          ด้วยเหตุนี้ผู้อภิปรายในรัฐสภาด้วยความบริสุทธิ์ใจและภูมิปัญญาต่อปวงชน ย่อมส่งคลื่นเสียงที่มีชีวิตจิตใจกับพลังชีวิตอันชอบธรรมให้ซึมซับเข้าไปอยู่กับอาคารรัฐสภา ส่วนผู้ทำหน้าที่ไม่บริสุทธิ์ใจและไร้ภูมิปัญญา แอบใช้รัฐสภาเป็นสถานที่ทำมาหากินส่วนตัว สร้างอาณาจักรส่วนตัว และไม่เสริมสร้างประโยชน์สุขให้ปวงชน ย่อมส่งคลื่นเสียงพลังชีวิตแบบ “คดในข้อ งอในกระดูก” ออกมา ซึ่งจะสะท้อนจากตัวอาคารกลับคืนสู่ “ผู้คิดพูดทำมิชอบ” นั้น ส่งผลให้ผู้นั้นประสบความวิบัติและภาวะไร้แผ่นดินไทยอาศัยอยู่ ไม่ช้าก็เร็ว...ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่


          ส่วนชีพจรรัฐสภาจะเต้นต่อไปได้อีกนานเท่าใดย่อมขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของนักการเมืองทั้งปวง หากทำหน้าที่ด้วยวิญญาณจิตที่ “ไม่มีปวงชน-ไม่มีนักการเมือง” งดแสดงวิวาทกรรมแบบเชยๆ งดชักศึกเข้าบ้าน งดแบ่งแยกไทย มีความสว่างสะอาดไร้มลทินตลอดจนกอปรด้วยสามัคคีธรรมแล้วไซร้ ชีพจรรัฐสภาก็น่าจะเต้นต่อไปได้จนครบวาระ


          “...สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลก มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์สุขสุขสุขแก่ตนและผู้อื่น ให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”--ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ