คอลัมนิสต์

ลอว์แฟร์ กับ ไฮบริด วอร์แฟร์ อันไหนอันตรายกว่ากัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พล.อ.อภิรัชต์ ได้พูดถึงไฮบริด วอร์แฟร์ เกิดขึ้นแล้วในไทย ส่วน ปิยบุตร แสงกนกกุล บอกว่าในเทรนด์โลก กำลังพูดถึง ลอว์แฟร์ แล้วสองอย่างนี้อะไรอันตรายกว่ากัน

        ภัยคุกคามรูปแบบใหม่  "ไฮบริด วอร์แฟร์" (Hybrid Warfare) หรือ "สงครามลูกผสม"  เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ตามการฟันธงของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก  

      และ พล.อ. อภิรัชต์ ขยายความว่า "ไฮบริด วอร์แฟร์" หรือสงครามลูกผสม ที่ว่านี้คือ สงครามที่ใช้วิธีการผสมผสานกัน ทั้งจากสงครามตามแบบและสงครามไม่ตามแบบ หรือนอกรูปแบบ

       สงครามตามแบบ ก็คือ กองกำลังทหารปกติ

       ส่วนสงครามไม่ตามแบบหรือนอกรูปแบบ ก็คือ กองกำลังที่ไม่ใช่ทหาร เช่น มวลชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ  สงครามข้อมูลข่าวสาร  ,เฟกนิวส์ (Fake NEWS) ข่าวสารที่บิดเบือนปล่อยออกมาและการโฆษณาชวนเชื่อ  การโจมตีด้านไซเบอร์และสงครามเศรษฐกิจ

        หลังจากนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาสวนว่า สิ่งที่ผบ.ทบ.ระบุถึงวอร์แฟร์นั้น แต่ในเทรนด์ของโลกมีการพูดถึง ลอว์แฟร์ คือการใช้กฎหมายเพื่อทำลายคนเห็นต่างและคู่ต่อสู้ทางการเมือง

    ดังนั้นจึงควรมาทำความรู้จักในเรื่องของ "ลอว์แฟร์ " ให้มากขึ้นด้วย

   ยอมรับหรือไม่ว่า.. "การเลือกปฏิบัติในทางการเมือง" ถือเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้มีการแตกแยกในทางความคิด มีการแบ่งขั้ว แบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือแบ่งกลุ่ม แบ่งพวกกันอย่างชัดเจน 

     และจากการรับฟังข้อมูลข่าวสารก็จะเห็นได้ว่า หากฝ่ายหนึ่งกระทำการใด   ๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ไปเสียหมด ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการทำนองเดียวกัน กลับไม่มีใครพูดหรือเอ่ยถึง ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง

      นอกจากนี้ในทางการเมืองยังมีการต่อสู้ในรูปแบบของการนำเอากฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการโจมตีหรือแม้กระทั่งกำจัดฝ่ายตรงข้ามหรืออีกฝ่ายหนึ่ง 

    หรือหนักไปกว่านั้นก็คือ ผู้มีอำนาจ  ออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายตัวเองเพื่อให้ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งการใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

     หากย้อนไปเมื่อสักประมาณสิบปีที่แล้ว  เราก็จะคุ้นหูกับคำว่า "สองมาตรฐาน”  หรือ “Double Standard” แต่ที่จริงแล้วคำๆนี้ไม่ได้เป็นคำในกฎหมายแต่เป็นภาษาพูด ซึ่งหากจะหาคำในทางกฎหมายมาใช้แทนคำดังกล่าวแล้ว ก็อาจใช้คำว่า “เลือกปฏิบัติ” น่าจะถูกต้องกว่า

      ปัญหาการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมไทยนั้น มิได้เกิดขึ้นจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของตัวบทกฎหมาย แต่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยผู้ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย เลือกที่จะใช้อำนาจหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่แตกต่างกันภายใต้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์เดียวกัน

     "ลอว์แฟร์"  กับ "ไฮบริด วอร์แฟร์"  อย่างไหนสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองมากกว่ากัน   เป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณาอย่างยิ่ง

 

 

            

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ