คอลัมนิสต์

ดันศก.ดิจิทัลต้องเข้มภัยออนไลน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2562

 

 

 

          รายงานสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กูเกิลจัดทำร่วมกับกองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ และ เบน แอนด์ คอมพานี บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ซึ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ต้นเดือนตุลาคม พบว่าผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก โดยคนไทยทำสถิตินำหน้าทุกชาติในอาเซียน ด้วยการใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันท่องโลกอินเทอร์เน็ต ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง ในขณะที่คนทั้งโลกใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง ทั้งนี้รายงานดังกล่าววัดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจออนไลน์ผ่าน 5 ภาคส่วน คือท่องเที่ยวออนไลน์ สื่อออนไลน์ รถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น ซื้อของออนไลน์ การเงินออนไลน์ และคาดว่าเศรษฐกิจออนไลน์จะโตถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

 

 

          รัฐบาลยังผลักดันการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในแง่การเพิ่มรายได้และความรู้โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล การวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกเหนือจากโครงการเน็ตประชารัฐที่ติดตั้งไปแล้ว 24,700 หมู่บ้านโดยสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการสร้างสมาร์ทซิตี้และเตรียมจะติดตั้งฟรีไวไฟเพิ่ม 10,000 แห่ง ขณะที่ กสทช.ส่งสัญญาณว่าจะเร่งขับเคลื่อน 5G ในกลุ่มอาเซียนให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังต้องพร้อมรับมือภัยไซเบอร์แก้ปัญหาข่าวปลอมรวมถึงด้านความมั่นคงเพื่อป้องกันและจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งต้องเตรียมการพอสมควรในหลายๆ ด้านพร้อมทั้งเพิ่มเติมประสบการณ์ที่ไทยยังขาดอยู่


          การสำรวจดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นทิศทางเติบโตออนไลน์ของไทยและยังถือเป็นโอกาสของธุรกิจออนไลน์อีกด้วย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่เพียงเท่านั้นไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เคยประกาศตั้งเป้าเตรียมความพร้อมอาเซียน เพื่อรับ 4IR (การเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4) โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และมีการเติบโตจาก 50,000 ล้านดอลลาร์ ในปัจจุบันเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งดำเนินการหลายด้าน อาทิ วางโครงสร้างเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญและการปรับตัวภาครัฐนำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการทำงานให้มากขึ้นรวมทั้งเสริมสร้างระบบ “อีโคซิสเต็ม” และที่จำเป็นคือปรับปรุงกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย




          แต่เมื่อมีด้านดีก็ย่อมมีด้านลบคู่กันเฉกเช่นการพัฒนาด้านดิจิทัลที่พบว่าภัยจากออนไลน์ได้ก่อปัญหาสังคมอย่างกว้างขวางขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้จากผลสำรวจเกี่ยวกับ “สถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์” ซึ่งสำรวจเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ที่ผ่านมา มีกลุ่มตอบแบบสอบถามอายุ 6-18 ปี 15,318 คนจากทั่วประเทศ พบว่าเด็กมากกว่า 83% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อพักผ่อนบันเทิง และ 39% ใช้ 6-10 ชั่วโมงต่อวัน และ 38% เล่นเกมออนไลน์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันเสี่ยงต่อการเสพติดเกม ขณะที่เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์และเด็ก 34% เคยกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นทางออนไลน์ซึ่งบอกว่าเป็นการโต้ตอบที่ตนเองโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งยังไม่นับรวมคดีจากภัยออนไลน์ที่พุ่งสูงขึ้นจึงเป็นสิ่งยืนยันว่าภาครัฐจะต้องจริงจังหามาตรการป้องกันปัญหาสังคมและอาชญากรรมทางออนไลน์ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หน่วยปราบ"สงครามไซเบอร์"
-ระดมพล เซียนไซเบอร์ ครั้งใหญ่ของไทย..แผนลับสู้ภัยออนไลน์
-สร้างเครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์
-ไทย พร้อมแค่ไหน กับภาคปฏิบัติ(ตาม)ก.ม.ไซเบอร์

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ