คอลัมนิสต์

ส่องคดีความมั่นคงของรัฐ 4 ปีในศาลยุติธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องผลตัดสินคดีศาลใน 3 จว.ชายแดนใต้ ยกฟ้องไม่น้อย เทียบเกินครึ่งคดีลงโทษ ระเบียบตรวจร่างคำพิพากษาต้องมี ผู้พิพากษาประสบการณ์มาก ช่วยตรวจทานกลั่นกรองคำพิพากษา

  เกศินี แตงเขียว   

   ควันยังฟุ้งโขมง กับเหตุการณ์ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ยิงตัวเองในบัลลังก์หลังตัดสินคดี ตลอดสัปดาห์มานี้ สังคมยังคงเฝ้าติดตามความคืบหน้ากับต้นเหตุเรื่องนี้ ว่าเกิดความเครียดกดดันส่วนไหน จะเป็นไปตามเอกสาร 25 หน้าที่อ้างเป็นแถลงการณ์ของ “นายคณากร เพียรชนะผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา หลุดออกมาหรือไม่ ตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาเช่นกันซึ่งตัวผู้พิพากษายังต้องพักฟื้นรักษาอาการบาดเจ็บก่อน

      ขณะที่ฝั่งศาลยุติธรรม โดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ก็เพิ่งมีคำสั่งตั้ง 3 ก.ต.ชั้นศาลฎีกา ชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น เป็นอนุกรรมการฯ วิสามัญขึ้นมาครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพื่อตรวจสอบเฉพาะกรณีนี้ ให้เวลาสรุปความจริงรอบด้านโดยละเอียดภายใน 15 วัน

ส่องคดีความมั่นคงของรัฐ 4 ปีในศาลยุติธรรม                                                  แม้ยังต้องรอเวลาให้ควันค่อยๆ จางเพื่อเห็นภาพชัดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากถ้อยคำซึ่งอ้างเป็นคำแถลงการณ์ของผู้พิพากษานั้น คือมีบางส่วนทำให้เข้าใจได้ไปในทำนองว่า มีการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่าน โดยประสงค์จะให้แก้ไขเสมือนจะให้ปรับผลจากที่ควรยกฟ้อง เป็นว่าหลักฐานเพียงพอให้ลงโทษ 

      ส่วนนี้เรียกได้ว่าเป็นตัวจุดไฟส่องแสงจ้า ให้สังคมหันมามองวิธีปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมทันทีว่าขั้นตอนปฏิบัตินั้น มีผลกระทบกับผลการตัดสินคดีเพียงใด-อย่างไร จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลลั่นไปถึงความสั่นคลอนของการตัดสินคดีความมั่นคงในกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่าจะมีด้วยหรือไม่ จนฝ่ายราชการอย่าง กอ.รมน. ก็ยังต้องออกมาแถลงยันว่า ฝ่ายทหารไม่เคยมีใครเข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม

ส่องคดีความมั่นคงของรัฐ 4 ปีในศาลยุติธรรม

     แล้วจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในการพิจารณาคดีพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างไร เราลองมาดูตัวเลขทางสถิติคดีที่เผยแพร่ของศาลยุติธรรมกันสักหน่อย เพื่อเป็นข้อมูลติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยผลต่อไป

    สำหรับคดีความมั่นคงของรัฐ ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้การดูแลสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 รับพิจารณาไว้พิจารณา ประกอบด้วย ศาลจังหวัดนราธิวาส , ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนราธิวาส , ศาลจังหวัดนาทวี , ศาลจังหวัดเบตง , ศาลจังหวัดปัตตานี , ศาลเยาวชนฯ จังหวัดปัตตานี , ศาลจังหวัดยะลา , ศาลเยาวชนฯ จังหวัดยะลา , ศาลจังหวัดสงขลา และศาลยาวชนฯ จังหวัดสงขลา รวม 10 แห่ง

    ย้อนหลังไป 4 ปี เริ่มต้นปี 2559 พบว่าระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค.59 มีคดีเก่ารวมกับคดีฟ้องเข้ามาใหม่ รวม 90 คดี , ผลการพิจารณายกฟ้อง 20 คดี ลงโทษ 34 คดี มีสั่งจำหน่ายคดี 1 คดี (หยุดการพิจารณา อาจด้วยเหตุบางประการ เช่น จำเลยหลบหนี จำเลยเสียชีวิต) คงเหลือคดีค้างพิจารณา 35 คดี โดยมีจำเลยประกันตัว 6 ราย  

      ส่วนปีถัดมา 2560 ตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค.60 จำนวนคดีเก่ารวมกับคดีฟ้องใหม่ รวม 115 คดี , ยกฟ้อง 26 คดี ลงโทษ 37 คดี เหลือคดีคงค้างพิจารณา 52 คดี , จำเลยประกันตัว 26 ราย  

      ปี 2561 รายงานสถิติเดือน ม.ค.- ธ.ค.61 คดีเก่ารวมกับคดีฟ้องใหม่ รวม 146 คดี , มีสั่งจำหน่ายคดี 3 คดี ยกฟ้อง 25 คดี ลงโทษ 47 คดี เหลือคดีคงค้างพิจารณา 71 คดี , จำเลยประกันตัว 31 คน

       ล่าสุดปี 2562 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.นี้ คดีเก่ารวมกับคดีฟ้องใหม่ รวม 136 คดี , มีสั่งจำหน่ายคดี 1 คดี ยกฟ้อง 27 คดี ลงโทษ 44 คดี เหลือคดีคงค้างพิจารณา 64 คดี , จำเลยประกันตัว 34 คน

      รวมช่วง 4 ปี มียกฟ้อง 98 คดี และลงโทษ 162 คดี

      โดยถ้าจะดูจำกัดเฉพาะ “ศาลจังหวัดยะลา” จากที่เป็นพื้นที่เกี่ยวพันกับเหตุสะเทือนใจผู้พิพากษายิงตัวเองนั้น ตามสถิติในปี 2559 ศาลจังหวัดยะลา ยกฟ้องคดีความมั่นคงของรัฐ 5 คดี-พิพากษาลงโทษ 4 คดี ส่วนปี 2560 ยกฟ้อง 7 คดี-ลงโทษ 11 คดี , ปี 2561 ยกฟ้อง 4 คดี-ลงโทษ 9 คดี , ปี 2562 ยกฟ้อง 1 คดี-ลงโทษ 14 คดี

     แล้วตัวเลขทางคดีเหล่านี้มีนัยยะสำคัญอย่างไรต่อกรณีศึกษาครั้งนี้ ?

      สถิติเหล่านี้เป็นการแสดงถึงปริมาณให้เห็นด้วยสายตาว่า ในแต่ละปีคดีนั้นมีความเคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งมีทั้งผลคดีที่ยกฟ้อง-คดีที่พิพากษาลงโทษ -จำเลยที่ได้ประกัน สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เล่ากันไปมาเหมือนกับว่าศาลจะลงโทษจำเลยที่ถูกอัยการฟ้องอย่างแน่นอน จำเลยไม่มีทางพ้นจากข้อกล่าวหา 

    ซึ่งความมุ่งหวังผลทางคดีว่าจะยกฟ้องหรือไม่ จะลงโทษมากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีที่อัยการได้ยื่นฟ้องจากหลักฐานที่ได้รวบรวมมาในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยการพิจารณาในระบบกล่าวหา หากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักที่จะฟังได้การกระทำที่ยกขึ้นมาอ้างเป็นความผิด ไม่ครบองค์ประกอบความผิด ศาลควรต้องใช้ดุลยพินิจในการยกฟ้อง แล้วถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนั้นก็ยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ ซึ่งตามกระบวนการคดีต่อสู้กันได้จนถึงชั้นศาลฎีกา ก็กลั่นกรองหลักฐานด้วยเหตุและผล-ข้อกฎหมายกันไปจนถึง 3 ชั้นศาล เช่นเดียวกับฝ่ายจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีถึงที่สุดเช่นกัน รวมถึงการใช้สิทธิขอประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

       เรียกว่า กระบวนการทางกฎหมายนั้นยังคงมีระบบตรวจสอบอยู่ และผู้ที่เข้าสู่กระบวนการทุกคนมีสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยในส่วนคดีความมั่นคงของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อย ทุกภาคส่วนให้ความใส่ใจต่อการปฏิบัติ

     ซึ่งในส่วนของ “ศาลยุติธรรม” หน่วยงานปลายทางในการตรวจสอบข้อกล่าวหา ก็ยังกำหนดแนวปฏิบัติราชการของตุลาการ เช่น รูปแบบคำพิพากษา การใช้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย การรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง การใช้ดุลพินิจของศาลให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง เป็นระเบียบเดียวกันโดยมีมาตรฐานที่ชัดเจนและเหมาะสม

      จึงนำมาสู่การออก “ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562” ที่ให้อำนาจผู้บริหารศาล ในการตรวจร่างคำพิพากษาและการทำความเห็นแย้งได้ตามกฎหมาย โดยระเบียบกำหนดประเภทคดีชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคดีเกี่ยวกับความมั่นคง , ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย , คดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี หรือโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต , คดีเกี่ยวกับยาเสพติดที่เกี่ยวข้องการผลิต-นำเข้า-จำหน่ายในปริมาณมาก ก็อยู่ในนิยามนั้นด้วย

      แต่ก่อนออกระเบียบนี้ ช่วงแรกตั้งแต่ปี 2555 ประธานศาลฎีกา เคยออกเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ที่ให้อำนาจในการตรวจร่างฯ กระทั่งต่อมาออกเป็นระเบียบให้การปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้น ครั้งแรกก็มาเป็นระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560

     โดย “โฆษกศาลยุติธรรม” ย้ำชัดถึงการตรวจร่างคำพิพากษาว่า เป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ ให้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์มากกว่าได้ช่วยเหลือองค์คณะผู้พิพากษา ตรวจทานกลั่นกรองคำพิพากษาเพื่อให้คำพิพากษาของศาลยุติธรรมเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

      ขณะเดียวกันก็ประกันความเป็นอิสระแก่องค์คณะผู้พิพากษาด้วยซึ่งหากองค์คณะยืนยันตามความเห็นเดิมอธิบดีผู้พิพากษาภาคก็จะบังคับให้เปลี่ยนแปลงผลไม่ได้ โดยมีสิทธิแค่ทำบันทึกความเห็นแย้งติดสำนวนไว้เพื่อให้เกิดสิทธิในการอุทธรณ์-ฎีกาต่อไปเท่านั้น

        เมื่อย้อนมาดูคดีที่มีการพูดถึงในสำนวนของท่านผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ตามเอกสารที่อ้างเป็นแถลงการณ์ เขาก็ว่าคดีตัดสินนั้นไม่ใช่คดีเกี่ยวกับความมั่นคง แต่เป็นลักษณะคดีฆาตกรรมที่การกล่าวหาความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ อัตราโทษจำคุกก็น่าจะอย่างสูงเกิน 10 ปี แล้วเช่นนี้การปฏิบัติตามระเบียบที่ออกย่อมจำเป็นอยู่ด้วยใช่หรือไม่ ? นอกเหนือจากที่จะมองว่าเป็นคดีที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคำถามนี้กรอบในระเบียบฯ มีหลักเกณฑ์ให้เห็น 

        ดังนั้น ความหวั่นไหวของกระบวนการยุติธรรมที่มีครั้งนี้ เป็นการเอ่ยอ้างถึงสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในระเบียบหลักเกณฑ์จริงหรือไม่ ? ต้องค่อยๆ ทบทวน!!! 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ