คอลัมนิสต์

เปิดตัวอนุกรรมการสอบเหตุ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา ยิงตัวเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครั้งแรกของศาลยุติธรรม ตั้ง "ก.ต. 3 ชั้นศาล" เฉพาะกิจ ตรวจสอบข้อเท็จจริงละเอียดรอบด้าน ผู้พิพากษายิงตัวเอง กับบทพิสูจน์ความจริงเพื่อศรัทธาในใจประชาชน

     เกศินี แตงเขียว   

    สั่นสะเทือน!! วงการตุลาการอีกครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุ ผู้พิพากษาหัวคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้ปืนยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บภายในบัลลังก์ศาล หลังจากการอ่านคำตัดสินยกฟ้องคดีฆาตกรรม 5 ศพ บันนังสตา ซึ่งล่าสุดแพทย์แถลงอาการพ้นขีดอันตรายไม่ต้องผ่าตัด แต่ยังต้องพักรักษาตัวอีกไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ จากบาดแผลกระสุนปืนจริงยิงเข้าบริเวณทรวงอกล่างด้านซ้าย ทะลุหลังซ้าย อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บที่ม้าม 
     

         นับได้ว่า เป็นเหตุสะเทือนขวัญไม่น้อย กับสังคมที่รับรู้ข่าวผู้พิพากษายิงตัวเองขณะปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ในสังคมออนไลน์ ได้เผยแพร่เอกสาร 25 หน้าที่เรียกว่าเป็นแถลงการณ์ลงชื่อของผู้พิพากษาท่านนั้น ระบุรายละเอียดความกดดันในการพิจารณาคดีที่อ้างว่าถูกผู้บังคับบัญชาก้าวก่ายการออกผลคำพิพากษา ที่ตนเองเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอต้องยกฟ้อง และยังพูดถึงข้อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี แก้กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ไม่ให้มีการส่งสำนวนก่อนการอ่านคำพิพากษาให้ผู้บังคับบัญชาระดับอธิบดีศาล ตรวจทานเพราะกระทบความอิสระการตัดสินคดี และยกระบบการดูแลสวัสดิการเรื่องเงินเดือนของผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยผู้พิพากษาชั้นต้นเรียกได้ว่ามีภาระหนักการพิพากษาคดี
         ซึ่ง 3 วันนับจากเกิดเหตุ “ศาลยุติธรรม” โดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ผ่านการรายงานของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ได้รวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ส่วนผู้พิพากษาที่ทำร้ายตัวเอง คือ นายคณากร เพียรชนะ ยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกาย ยังไม่สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดได้ 
       จากการประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ที่ประชุม ก.ต.ที่มี “นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และคณะ ก.ต. รวม 15 คน ได้มีมติสั่งตั้ง “อนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญ” รวม 3 คน ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้โดยละเอียด และรายงานให้ ก.ต.ทราบภายใน 15 วัน คือไม่เกินสัปดาห์ก่อนสิ้นเดือน ต.ค.นี้

        โดยผู้ที่ประชุม ก.ต.มีมติแต่งตั้ง คือ นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ซึ่งเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา ให้เป็นประธานอนุกรรมการฯ , นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็น ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลอุทธรณ์ และนายสุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ซึ่งเป็น ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นต้น ร่วมเป็นอนุกรรมการฯ 

                                                     เปิดตัวอนุกรรมการสอบเหตุ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา ยิงตัวเอง

                                                              วาสนา หงส์เจริญ        
         จากองค์ประกอบ กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกมิติการตรวจสอบ ที่เลือกให้ “ก.ต.ทั้ง 3 ชั้นศาล” มาร่วมเป็นอนุกรรมการฯ วิสามัญ ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเฉพาะ เพราะปกติชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเป็นกระบวนการตั้งผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์ เป็นกรรมการตรวจ แล้วเสนออนุกรรมการตุลาการ (อ.ก.ต.) และ ก.ต.ตามลำดับชั้น  

                                                      เปิดตัวอนุกรรมการสอบเหตุ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา ยิงตัวเอง

                                                        อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล
      แล้วทำไมครั้งนี้ ถึงขนาดให้ ก.ต.แต่ละชั้นศาล มานั่งเป็น กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง..?

     1.ก.ต.มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการตรวจสอบการกระทำใดเกี่ยวกับผู้พิพากษาอยู่แล้ว

     2. ก.ต.ต้องวางนโยบายดูแลตุลาการ รวมทั้งการคุ้มครองอิสระของตุลาการ

      จากภารกิจ 2 ประการย่อมทำให้ ก.ต.เข้าใจถ่องแท้และชัดเจนถึงกฎ ระเบียบ มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการตามกฎหมายที่มีกรอบเคร่งครัด

                                                    เปิดตัวอนุกรรมการสอบเหตุ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา ยิงตัวเอง

                                                      สุวิชา สุขเกษมหทัย

       และ 3.ที่มาของผู้ที่ได้เป็น ก.ต.นั้น ปกติต้องได้รับเลือกจากผู้พิพากษาแต่ละชั้นศาลด้วย จึงเป็นที่มาความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือ 
      นั่นสะท้อนว่า การคัดสรร “ก.ต.ชั้นศาลฎีกา-ศาลอุทธรณ์-ศาลชั้นต้น” มาตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องการจะให้ครอบคลุมทุกมิติ จนเรียกได้ว่าวุฒิภาวะไม่เป็นที่ติติง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างปมสงสัยที่กระทบกระบวนการยุติธรรม แน่นอนว่าศาลยุติธรรมต้องสร้างความมั่นใจ ความโปร่งใสมากที่สุดในทุกระดับการตรวจสอบ ซึ่งกรณีนี้สำคัญไม่น้อยทั้งความเชื่อถือต่อคนในกระบวนการยุติธรรม และข้อสงสัยที่ปรากฏต่อสายตาสังคมในการอำนวยความยุติธรรม และที่ถูกโยงไปถึงการเมือง การแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงไม่ใช่การแต่งตั้งเพียงผู้พิพากษาระดับตำแหน่งอาวุโสเหนือกว่าผู้ถูกตรวจสอบขึ้นมาเท่านั้นเหมือนเคสร้องเรียนปกติเท่านั้น 
        -โดย “นางวาสนา หงส์เจริญ” ประธานแผนกคดีเยาวชนฯ ในศาลฎีกา ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา ที่เป็นประธานอนุกรรมการฯ มีอาวุโสสูงที่สุดในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งระดับตำแหน่งประธานแผนกคดีนั้น เรียกได้ว่าเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา ประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งการตัดสินคดี และฐานะผู้บริหารศาล มีมามากกว่า 30 ปี
         - ส่วนอนุกรรมการฯ วิสามัญ คือ “นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล” ก.ต.ชั้นศาลอุทธรณ์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ก็ผ่านงานบริหารศาลระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือแม้กระทั่งงานสนับสนุนบริหารศาลในตำแหน่งเลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประสบการณ์ทางคดี บวกกับสายบริหารไม่น้อยกว่า 30 ปีเช่นกัน และยังเคยเป็นอนุกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550  
        ขณะที่ “นายสุวิชา สุขเกษมหทัย” ก.ต.ศาลชั้นต้น ก็เป็นพิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ระดับความอาวุโส สั่งสมประสบการณ์หน้าที่ตัดสินคดีมาร่วม 24 ปี และได้ผ่านประสบการณ์บริหารศาลในตำแหน่ง “หัวหน้าศาล” ที่เป็นการเข้าสู่ระดับผู้บริหารศาลตำแหน่งแรกอย่างเต็มตัวมาแล้ว 3-4 ปี โดยเคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแม่สอด และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงเชียงใหม่ 
        - แล้วการตรวจสอบนี้ จะได้ผลอย่างไร ? เป็นไปได้ที่ว่า

        1.บทสรุปการก่อเหตุนั้น ความเป็นจริงที่แน่แท้ คืออะไร จะใช่เหตุตามที่อ้างในเอกสาร 25 หน้าที่เรียกกันว่าเป็นแถลงการณ์ของผู้พิพากษาท่านนั้นหรือไม่

      2.หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม หรือการทำหน้าที่ผู้พิพากษา เช่นนั้นแล้วมีผู้ใดทำให้เกิด และทำลักษณะอย่างไร แล้วจะล่วงไปถึงการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตุลาการ การรักษาวินัยผู้พิพากษาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตามติดต่อไป 
      - เรียกว่า เป็นนาทีที่ยิ่งใหญ่ของศาล องค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม กับบทพิสูจน์ความจริงเพื่อศรัทธาในใจประชาชน และการสร้างความเป็นธรรม กับภาระหน้าที่ ที่มาพร้อมกับคำว่า “ศาลเป็นพึ่งสุดท้ายประชาชน” 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ