คอลัมนิสต์

เลิก-ไม่เลิกสารพิษต้องชัดเจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทน์ที่ 7 ตุลาคม 2562

 

 

          กลายเป็นกระแสร้อนในสังคมอีกครั้งหลังมีการเปิดประเด็น 2 นักวิชาการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้แก่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัย และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ถูกผู้ไม่หวังดีขู่ฆ่า บีบบังคับให้ลาออก หลังผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด (พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส) ทำเอานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ถึงกับฟิวส์ขาดบริภาษอย่างรุนแรงว่า พวกคนกระจอก หน้าตัวเมีย พร้อมท้าถ้าแน่จริงให้มาทำกับตนเองแทน

 

 

 

 

          ต้องยอมรับว่าสังคมและประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลเสียของการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างชัดเจน ผลเสียไม่ได้เกิดแค่กับเกษตรกรเท่านั้น ประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้รับเคราะห์กรรมในปลายน้ำ การสะสมของสารพิษในร่างกายจะทำให้เสียสุขภาพ เสียเงินทอง และอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตด้วย เช่นเดียวกับรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติต่างก็เห็นพ้องถึงพิษภัยของสารพาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส เหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีคำถามว่าแล้วทำไมการยกเลิกการใช้ถึงยังคาราคาซัง ขนาดสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก มีอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมือ มีคณะทำงานที่มากด้วยฝีมือ ก็ยังไม่สามารถออกมาตรการหรือสังการให้เลิกใช้ 3 สารพิษดังกล่าวได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าหน้าฉากหลังฉากของเรื่องนี้คงไม่ธรรมดา    

 


          ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกการใช้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต โดยสนับสนุนให้รัฐบาลแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เห็นควรให้ยกเลิก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่ารัฐบาลมิได้เพิกเฉยต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พร้อมเสนอแนวทางให้ดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อความโปร่งใสและมิให้เกิดข้อกังวลใจของทุกฝ่าย คือ ให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจได้รับความเดือดร้อน หากยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว, ขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องประกาศนโยบายในประเด็นนี้อย่างชัดเจนให้ประชาชนและผู้แทนของกระทรวงที่ปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้รับทราบตรงกัน และที่สำคัญ การลงมติครั้งนี้ของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ควรกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ




          หลายประเทศเล็งเห็นพิษภัยมีการสั่งห้ามนำเข้าสารพิษเหล่านี้ แต่ในบ้านเรามีเสียงซุบซิบให้ได้ยินกันไปทั่วถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคนบางกลุ่ม บางคน กับการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ที่มีมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี หลังจากทำการตลาดมูลค่าสูงขึ้นไปกว่าเท่าตัว นั่นเท่ากับว่าหากมีการเลิกใช้สารทั้ง 3 ตัวนี้จะกระทบวงจรธุรกิจและบางกลุ่มบางคน ขณะที่สังคมต้องการความชัดเจนว่าปัญหาคืออะไรและติดขัดตรงไหน ข้อเสนอที่จะให้มีการลงมติโดยเปิดเผยจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่กรรมการวัตถุอันตรายทั้ง 29 คน จาก 16 หน่วยงาน ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนั่งเป็นประธาน ควรจะเปิดกว้างรับฟังเพื่อสร้างความเป็นธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากท่านใดเห็นควรให้ใช้สารพิษต่อก็ให้แสดงเหตุผลให้สังคมทราบ เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนอย่างรุนแรง จึงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกคนจะได้รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ