คอลัมนิสต์

"คน 6 ตุลา"  43 ปี ยังต้องลี้ภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ 'ท่องยุทธภพ' โดย 'ขุนน้ำหมึก' 7 ต.ค.62

 

 

**************************

 

ผ่านไปแล้ว สำหรับงานรำลึก 43 ปี 6 ตุลา 19 "ต่างความคิด ผิดถึงตาย" วันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 ที่หอประชุมศรีบูรพา ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

 

 

 

 

 

เมื่อ 43 ปีที่แล้ว มีคนหนุ่มสาวหลายพันคน ต้องจากพ่อแม่ ทิ้งการเรียน เดินทางขึ้นสู่ภูเขา เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ประมาณ 5 ปี ปัญญาชนปฏิวัติทั้งหลายก็กลับคืนเมือง 

 

วันนี้ ยังมี “คนรุ่น 14 ตุลา” และ “คนรุ่น 6 ตุลา” ต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนไปใช้ชีวิตในต่างแดน ไม่ต่างอะไรจากเมื่อปี 2519

 

 

"คน 6 ตุลา"   43 ปี ยังต้องลี้ภัย

จรัลร่วมรำลึก 6 ตุลา

 

 

คนแรก จรัล ดิษฐาอภิชัย” ที่อยู่ระหว่างการทัวร์สหรัฐฯ ได้โพสต์รำลึกเดือนตุลาผ่านเฟซบุ๊ค Jaran Ditapichai ว่า "ผมรอดตาย​ แต่ติดคุกจากกรณี​นองเลือด 6 ตุลาคม​ 2519"

 

จรัลเคยเข้าป่าทางเขตงานภูหินร่องกล้า ก่อนจะเดินทางไปอยู่ที่ฐานที่มั่นน่านเหนือ และออกจากป่าเข้ามอบตัวต่อทางการในปี 2525

 

ก่อนเกิดรัฐประหาร 2557 จรัลเดินทางออกจากเมืองไทย โดยประเมินสถานการณ์จากการชุมนุม กปปส. และเชื่อว่า มันจะตามมาด้วยการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร จรัลจึงหลบหนีผ่านกัมพูชา และมีปลายทางอยู่ที่ฝรั่งเศส

 

ระหว่างอยู่ที่ฝรั่งเศส จรัลได้ทำเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยได้สำเร็จ ปี 2561 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เป็นพลเมืองชาวฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์

 

จรัลเคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ชั่วชีวิตของเขาอาจไม่ได้กลับเมืองไทย หากสถานการณ์การเมืองไทยยังดำรงอยู่เช่นนี้

 

 

 

 

"คน 6 ตุลา"   43 ปี ยังต้องลี้ภัย

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 

 

คนที่ 2 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” กำลังฟื้นฟูร่างกาย อันเนื่องจากเส้นเลือดในสมองด้านซ้ายแตกเมื่อปี 2560 

 

“สมศักดิ์” อยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลายเป็นผู้ต้องหา “คดี 6 ตุลา” 

 

ปี 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 ต่อสภาฯ ทำให้สมศักดิ์และเพื่อนได้รับอิสรภาพ

 

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 สมศักดิ์หนีผ่านช่องทางธรรมชาติไปอาศัยอยู่ในพนมเปญระยะหนึ่ง ก่อนเดินทางต่อไปฝรั่งเศส และทำเรื่องขอลี้ภัย

 

ปัจจุบัน สมศักดิ์ได้สถานะผู้ลี้ภัย และหลังล้มป่วยเส้นเลือดแตก สมศักดิ์ได้รับการรักษาพยาบาล ฝึกทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้สภาพร่างกายดีขึ้น และกลับมาสื่อสารผ่านเฟซบุ๊คได้อีกครั้ง

 

คนที่ 3 วัฒน์ วรรลยางกูร” เพิ่งเดินทางถึงกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 และอยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส

 

 

"คน 6 ตุลา"   43 ปี ยังต้องลี้ภัย

จรัล และวัฒน์ ในฝรั่งเศส

 

 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วัฒน์หนีการล้อมปราบในเมืองหลวง ไปอยู่ในเขตงานภูเตี้ยของ พคท.อีสานเหนือ โดยช่วงที่รอการเดินทางไปฐานที่มั่นภูพาน วัฒน์เขียนบทกวีรำลึกถึงการล้อมปราบชื่อ “จากภูพานถึงลานโพธิ์” หรือ “ดินสอโดม” ตอนหลังมีการใส่ทำนอง กลายเป็นเพลงปฏิวัติที่ได้รับความนิยมทั้งในป่าและในเมือง

 

การรัฐประหารครั้งล่าสุด ทำให้วัฒน์เดินทางข้ามชายแดนไปอยู่ในพนมเปญ ก่อนจะเข้าไปอาศัยใน สปป.ลาว จนกระทั่งเกิดเหตุสุรชัย แซ่ด่าน และคนใกล้ถูกอุ้มฆ่า วัฒน์จึงทำเรื่องขอลี้ภัย ผ่านสถานทูตฝรั่งเศสในลาว ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิต

 

วัฒน์ในวัย 64 ปี กำลังเรียนภาษาฝรั่งเศส และบอกว่า ฝรั่งเศสจะเป็นแห่งสุดท้ายที่เขาจะใช้ชีวิตอยู่

 

*********************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ