คอลัมนิสต์

นปช. กลับลำคดีบุกบ้านป๋าเปรม หวนนึกถึง ชูวิทย์ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นปช. กลับลำคดีบุกบ้านป๋าเปรม หวนนึกถึง ชูวิทย์  คดีรื้อบาร์เบียร์ ทั้งสองคดีตอนแรกให้การปฏิเสธ และต่อมาขอถอนคำให้การปฏิเสธ เป็นยอมรับสารภาพ

          คดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 ที่มีแกนนำ นปช.  อาทิ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ   รวมทั้งนายนพรุจหรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006  เป็นจำเลยในข้อหาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

   ซึ่งเดิมนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา แต่ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป และยังไม่มีกำหนดอ่านคำพิพากษาครั้งใหม่ เนื่องจากจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธและขอต่อสู้คดี เป็นยื่นคำให้การใหม่ขอให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี  ยกเว้นนายนพรุจ   ที่ยังให้การปฏิเสธ เหมือนเดิม 

    สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นจำคุก นายวีระกานต์,นายณัฐวุฒิ ,นายวิภูแถลงและ นพ.เหวง คนละ 4 ปี 4 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำคุก 2 ปี 8 เดือน 

   ต่อมาศาลอุทธรณ์ ลดโทษให้ นายวีระกานต์,นายณัฐวุฒิ ,นายวิภูแถลงและ นพ.เหวง เหลือจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำคุก 2 ปี 8 เดือน เช่นเดิม

         

         โดยเหตุผลสำคัญในการกลับคำให้การ  ณัฐวุฒิ บอกว่า  ได้สำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ได้มีความขัดแย้งเป็นการส่วนบุคคลกับพล.อ.เปรม แต่อย่างใด นอกจากนี้ท้ายคำร้องยังกราบเรียนต่อศาลว่า เมื่อพวกตนได้เสียใจและสำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก็ขอความเมตตาจากศาลได้พิจารณาลงโทษสถานเบา หากโทษนั้นยังคงเป็นการตัดสินจำคุกอยู่ ขอศาลได้โปรดพิจารณารอการลงโทษให้กับจำเลยด้วย

           เสื้อแดง  กำลังอยู่ในช่วงขาลง  ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาก็ได้ออกหมายจับนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช. กับพวก ในคดีที่บุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เนื่องจากศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา แล้วนายอริสมันต์ กับพวก  ไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัด 

          หรือกรณีที่ผู้นำไทยไปประชุมยูเอ็นที่สหรัฐฯ ปกติเสื้อแดงในต่างแดนจะเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก แต่ปีนี้กลับเงียบเหงา เห็นได้จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระหว่างเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 74 ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายนที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า Thai Democracy Now ออกมาประท้วง เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน  แต่ไปๆมาๆ กลายเป็นคนเม็กซิกัน- เปรู  ไม่ใช่คนไทย  

       และเมื่อเขียนถึงคดีแกนนำ นปช. กลับลำในคดีบุกบ้านป๋าเปรม ก็ทำให้หวนถึง"คดีรื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุวิท ซอย 10 " ซึ่งมีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์, บุกรุกในเวลากลางคืน และกักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจให้บุคคลปราศจากเสรีภาพ โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2558 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้  

    คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องนายชูวิทย์  แต่ต่อมาในชั้นศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษากลับว่า นายชูวิทย์ กับพวกอีก 2 คน ที่เป็นนายทหาร มีความผิดจริง จึงสั่งจำคุกคนละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายชูวิทย์ ได้ปล่อยตัวเพราะมีเอกสิทธิ์ การเป็น ส.ส.คุ้มครองในขณะนั้น

     แต่แล้วในวันดังกล่าวก็เกิด"เซอร์ไพรส์ " ขึ้นเมื่อนายชูวิทย์  ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และเปลี่ยนคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมทั้งขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ ทำให้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป

     นายชูวิทย์ บอกว่า ใคร่ครวญเรื่องนี้ดีแล้ว การพูดความจริงทำให้เรารู้สึกปลดปล่อยมากสุดและเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ตนต่อสู้มา 12 ปี ซึ่งความเป็นนักธุรกิจและความโง่เขลาเบาปัญญาและความบีบคั้นจึงทำไป ตนรับสารภาพยอมรับผิด

       "ผมอยากให้ประชาชนดู การทำอะไรไม่เท่ากับการพูดความจริง ผมตรึกตรองมา 2 วัน จึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ทำให้รู้สึกยกภูเขาออกจากอก เราสามารถโกหก พ่อแม่ ภรรยาได้ แต่โกหกตัวเองไม่ได้ " 

     หลังจากนั้นในช่วงปลายปี 2558 นายชูวิทย์ ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจหนีคดีไม่กลับมาฟังคำพิพากษาศาลฏีกา อย่างไรก็ตามเขาเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 17 พ.ย.58 พร้อมโพสต์ยืนยันผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ  'ชูวิทย์ I'm No.5' ด้วยว่าจะไม่หลบหนีคดี

     "ผมเข้าใจว่ามีหลายๆคนหลบหนีเงื้อมมือของกฎหมายออกนอกประเทศ แต่สำหรับผม ตลอดระยะเวลายาวนานของกระบวนการกฎหมาย ผมเดินทางไปขึ้นศาลด้วยตัวเองทุกครั้งไม่เคยขาด เพราะถึงแม้ว่าอิสรภาพสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่ถึงหนีไปได้ ก็หนีไม่พ้นสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจอยู่ดี กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่คนในสังคมยอมรับและต้องใช้ตั้งแต่เกิดยันตาย" นายชูวิทย์ กล่าวเมื่อครั้งเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา

      ต่อมา28 ม.ค.2559 เป็นวันที่ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้อีกครั้ง นายชูวิทย์ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ว่า แม้นายชูวิทย์จะได้ยื่นคำให้การใหม่จากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ เพื่อขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงอาญา แต่ศาลเห็นว่าการสารภาพของนายชูวิทย์ไม่เป็นเหตุให้บรรเทาโทษได้ เพราะการรับสารภาพจะต้องกระทำตั้งแต่ศาลชั้นต้น

       แต่ศาลเห็นว่า นายชูวิทย์ มีเหตุบรรเทาโทษจากการได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายบางส่วนจนเป็นที่พอใจ และได้บริจาคที่ดินบริเวณปากซอยสุขุมวิท 10 ให้เป็นประโยชน์สาธารณะ พิพากษาแก้ให้จำคุกนายชูวิทย์  เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากเดิมที่ศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 5 ปี

          คดีแกนนำ นปช. บุกบ้าน ป๋าเปรม กับคดีชูวิทย์ รื้อบาร์เบียร์  จึงมีความคล้ายกันในเรื่องการกลับคำให้การของจำเลยจากปฏิเสธ เป็นยอมรับสารภาพ 

         อย่างไรก็ตามเนื่องจากในเรื่องของข้อกฎหมายและคดีความ ถือว่า"เป็นศาสตร์แห่งศิลปะ" ไม่ใช่หลักคณิตศาสตร์ ที่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่า 1 +1 ต้องเป็น 2  จึงขึ้นอยู่กับ"ดุลยพินิจ" ของศาลแต่ละคดีไป ผลคดีจะออกมาอย่างไรน่าติดตามชม
       
       

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ