คอลัมนิสต์

"บิ๊กตู่"ติวเข้มกองทัพ แจงงบช้อปอาวุธ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น่าจะเป็น 'โจทย์ใหญ่' อีกหนึ่งข้อของ 'เหล่าทัพ' ในการเตรียมข้อมูล ชี้แจงการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี ต่อการประชุมสภาสมัยวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

       น่าจะเป็น ‘โจทย์ใหญ่’ อีกหนึ่งข้อของ ‘เหล่าทัพ’ ในการเตรียมข้อมูล ชี้แจงการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นและระยะยาว ให้เป็นไปตาม แผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหมในกรอบ 10 ปี (ปี 2560-2569) เพื่อสอดคล้องกับการเพิ่มขีดความสามารถรองรับภัยคุกคาม ต่อการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 

         นั่นหมายความว่า ‘เหล่าทัพ’ ต้องเตรียมพร้อมข้อมูลการจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ ย้อนหลังทุกรายการในห้วง 5 ปี ‘รัฐบาล คสช.’ และรัฐบาลที่มาจาก ‘ประชาธิปไตย’ ภายใต้การบริหารงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงโครงการใหม่ที่เตรียมจัดซื้อในอนาคตข้างหน้า เพราะนอกจากต้องมีความชัดเจนในเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดหาแล้ว ต้องชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็น

     เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” ทราบดีว่า การใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธในห้วงที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังกลายเป็นจุดอ่อน ให้ 7 พรรคฝ่ายค้าน ‘ดิสเครดิต’ รัฐบาล และกองทัพ จึงสั่งการไปยัง ผบ.เหล่าทัพ ชี้แจงให้ชัดเจน เคลียร์ทุกประเด็นให้เกิดความโปร่งใส อย่าให้บานปลาย

     ทันทีที่เว็บไซต์สำนักงบประมาณ เผยแพร่เอกสารการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทุกสายตาจับจ้องไปที่ตัวเลข 2.33 แสนล้านบาทของ ‘กระทรวงกลาโหม’ ที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 6,226 ล้าน คิดเป็น 7.29% ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งภาพรวมต่ำกว่าที่ได้รับการจัดสรร 5 ปี คสช. เฉลี่ยที่ 7.5% และใกล้เคียงยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

      แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 10,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท,

     กองทัพบก 113,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,300 ล้านบาท, กองทัพเรือ 47,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,793 ล้านบาท, กองทัพอากาศ 42,882 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,273 ล้านบาท, กองบัญชาการกองทัพไทย 17,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 558 ล้านบาท และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 1,252 ล้านบาท เพิ่ม 13 ล้านบาท

     โดยเฉพาะ ‘กองทัพบก’ น่าจะถูกฝ่ายค้านล็อกเป้าโจมตีเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากได้รับงบประมาณมากที่สุดเกือบ 50% ของงบประมาณทั้งหมด และที่ผ่านมาในยุค คสช.ได้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หลายรายการ ทั้ง รถถัง VT4 ของจีน  38 คัน เกือบ 7,000 ล้านบาท, รถเกราะล้อยาง VN1 8x8 จากประเทศจีน 30 คัน กว่า 2.2 พันล้านบาท

      และล่าสุด โครงการยานเกราะลำเลียงพลสไตรเกอร์  จำนวน 70 คัน กลายเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านอย่างหนัก เพราะส่วนหนึ่งมีการเบิกงบกลางของรัฐบาล  2.8 พันล้านบาท ในการจัดซื้อจำนวน 37 คัน ส่วนที่เหลือใช้งบประมาณกองทัพบก 850 ล้านบาท

      งบประมาณกองทัพบก ทะลุ 1.13 แสนล้าน ปี 2563 นี้ ส่วนหนึ่งต้องรองรับการจัดซื้อ ยานเกราะลำเลียงพลสไตรเกอร์ อีก 50 คัน ตามที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)เคยระบุไว้ รวมถึงการตั้งหน่วยใหม่ กรมยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ที่กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 112 (ร.112 พัน.1) อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา 

      ขณะที่ เรือดำน้ำชั้นหยวน s 26 T ของจีน แม้จะผ่านการอนุมัติไปแล้วจำนวน 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน และใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดซื้อ แต่ยังเป็นประเด็นตามหลอน ‘กองทัพเรือ’ มาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงการนำไปเชื่อมโยงกับ การจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก แอลพีดี จากจีน ที่ใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาท โดยในงบประมาณปี 2563 กองทัพเรือได้รับการจัดสรร 4.7 หมื่นล้าน

      ส่วนกองทัพอากาศ ตัวเลขอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้าน ซึ่งแน่ชัดแล้วว่า ในอนาคตข้างหน้า ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนใหม่  พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ออกมายืนยันแล้วว่า กองทัพอากาศจะจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมแน่นอน เพื่อรักษาขีดความสามารถของกองทัพ

      การชี้แจงการใช้งบประมาณของ ‘เหล่าทัพ’ ต่อการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่ใช่เรื่องใหม่ และปฏิบัติกันมาทุกปี ประสบการณ์ที่สะสมมา รวมถึงแผนงานที่ได้วางไว้ตามลำดับขั้นตอนภายใต้กรอบกฎหมายน่าจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี

     แต่ปัญหาสำคัญคือ ความต้องการของ ‘เหล่าทัพ’ ที่สวนทางกับความต้องการของประชาชน ที่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  แม้จะเป็นงบคนละก้อน 

         แต่ทุกครั้งที่มีการจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ คำถามที่จะตามมา ซื้อทำไม? จะเอาไปรบกับใคร? ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในมิติงานความมั่นคง นี่ต่างหากคือ ‘โจทย์ใหญ่’ ที่เหล่าทัพต้องทำความเข้าใจ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ