คอลัมนิสต์

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

 

 

          วันนี้ (30 ก.ย.) ตามข่าวบอกว่าตำรวจ สน.บุคคโล จะได้รับรายงานผลตรวจชันสูตรศพ “ลันลาเบล” แบบละเอียดและเป็นทางการ โดยเฉพาะผลตรวจสารคัดหลั่ง และร่อยรอยฉีกขาดบริเวณอวัยวะเพศ

 

 

          คุณแม่และครอบครัวของ “ลันลาเบล” บอกว่า ถ้าผลออกมาตรงกับที่คิด ก็อาจจะหยุดแค่นี้ในทางคดี ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับนายน้ำอุ่น และไม่ได้ประกันตัว ต้องนอนเรือนจำอยู่ในขณะนี้


          แต่หากผลที่ออกมาไม่ตรงกับที่คิดเอาไว้ก็อาจตัดสินใจให้แพทย์ผ่าศพ “ลันลาเบล” เพื่อตรวจพิสูจน์อีกครั้ง

 

 

 

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

 


          คำถามก็คือทำไมครอบครัวของผู้เสียหายต้องรอนานขนาดนี้กว่าจะทราบสาเหตุการตาย และหลักฐานที่ควรรู้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ได้รับรู้ในวันนี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะหากมีข้อสงสัยก็ต้องส่งศพไปผ่าซ้ำอีก ทำไมถึงทำให้จบในขั้นตอนเดียวไม่ได้


          จะว่าไปแล้วคดีการเสียชีวิตของ “ลันลาเบล” เป็นอีก 1 คดีที่มีปัญหาเรื่องการสอบสวนและการชันสูตรพลิกศพรวมไปถึงมาตรฐานการเก็บรักษาของกลาง ตลอดจนวัตถุพยานที่ติดอยู่กับตัวของผู้ตาย


          ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 10 วันแล้วที่พริตตี้สาว “ลันลาเบล” เสียชีวิต แต่น่าแปลกไหมที่ครอบครัวและสังคมยังคงตั้งคำถามและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสาเหตุการตาย เวลาตาย เสื้อผ้าที่สวมใส่ก่อนเสียชีวิตสูญหายไป (ปัจจุบันยืนยันแล้วว่าไม่หาย แต่ก่อนหน้านี้มีการตั้งคำถาม) และผลตรวจชันสูตรศพล่าช้าจนครอบครัวต้องพักการประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อส่งไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพราะอาจต้องมีรายการผ่าพิสูจน์ความจริงกันอีกรอบหนึ่ง


 

 

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

 


          จากการพูดคุยกับแพทย์นิติเวชวิทยา ได้ข้อมูลและข้อสังเกตน่าสนใจว่า ก่อนอื่นทุกฝ่ายต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “การชันสูตรศพ” กับ “การผ่าศพ” ในประเทศไทย เป็นคนละส่วนกัน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา บังคับให้มีการชันสูตรพลิกศพเมื่อมีการตายผิดธรรมชาติเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้บังคับให้ต้องผ่าศพ เพราะการผ่าศพเป็นดุลพินิจ จะผ่าก็ต่อเมื่อต้องการค้นหาสาเหตุการตาย เมื่อการชันสูตรทั่วไปยังหาสาเหตุไม่ได้


          ฉะนั้นหากตำรวจหรือญาติไม่ติดใจก็จะไม่มีขั้นตอนการผ่าศพเพื่อชันสูตร บางคดีนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้วเป็นเวลาหลายคืนเพิ่งจะส่งศพให้นิติเวชผ่าพิสูจน์ก็มี หนักกว่านั้นคือเผาศพไปแล้ว ลอยอังคารไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังต้องบอกว่าทำอะไรไม่ได้อีกเลยเพราะเหลือแต่เถ้ากระดูก


          เหมือนคดีการเสียชีวิตของ “เสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั้ง” ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อหลายปีก่อน ทีแรกญาติเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุแต่ภายหลังสงสัยว่าอาจเป็นฆาตกรรมอำพราง แต่ศพเผาไปแล้ว (จากคำแนะนำของผู้ต้องสงสัยในอดีตด้วยซ้ำ) ทำให้ตำรวจต้องหาหลักฐานด้วยวิธีอื่น ซึ่งยากขึ้นไปอีก

 

 

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

 


          คำถามก็คือการตายผิดธรรมชาติที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย คืออะไร? คำตอบอยู่ที่ ป.วิอาญา มาตรา 148 ที่ระบุเอาไว้ 5 รูปแบบ คือ ฆ่าตัวตาย, ถูกผู้อื่นทำให้ตาย, ถูกสัตว์ทำร้ายตาย, ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ


          กฎหมายระบุว่า ถ้าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อนี้ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ (ไม่ใช่ผ่าศพ) ซึ่ง ป.วิอาญามาตรา 150 กำหนดให้พนักงานสอบสวนในท้องที่นั้น ซึ่งก็คือ “ตำรวจ” กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ ทำการชันสูตรพลิกศพ จากนั้นก็ทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ระบุว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิด เท่าที่จะทราบได้


          สำหรับรายงานความเห็นที่ว่านี้เป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 154


          กรณีของ “ลันลาเบล” ถือว่าผ่านขั้นตอน “การชันสูตรพลิกศพ” เรียบร้อยแล้ว แต่ผลชันสูตรบางตัวยังไม่ออกอย่างเป็นทางการ ฉะนั้นความสงสัยของครอบครัวและดุลพินิจของตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนจึงสำคัญมาก หากไม่มีใครสงสัยเลยก็จะไม่มีการผ่าชันสูตรศพ ซึ่งการจะผ่าหรือไม่ผ่าเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน (ถ้าญาติผู้ตายสงสัยก็ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อมีคำสั่งให้ผ่าศพ)

 

 

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

 


          กระบวนการแบบนี้แตกต่างจากประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกาอย่างสิ้นเชิง เพราะในประเทศเหล่านั้นมี “แพทย์ชันสูตรเฉพาะ” ประจำอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ บางประเทศมี “ศาลชันสูตร” เลยด้วยซ้ำ ในกฎหมายของประเทศเหล่านั้นจะระบุเลยว่ากลุ่มเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย ทั้งผู้หญิง เด็ก คนชรา เมื่อมีการตายเกิดขึ้นต้องผ่าชันสูตรทุกกรณี


          นอกจากนั้นยังขยายผลในรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตายด้วย เช่น ตายบนทางเท้า ตายในโรงแรม ตามตามโรงเลี้ยงเด็ก ตายนอกเคหสถาน ตายจากความรุนแรง ฯลฯ เหล่านี้ต้องผ่าชันสูตรศพเท่านั้น ไม่ต้องรอดุลพินิจของตำรวจ หรือรอญาติแห่ศพประท้วงเหมือนบ้านเรา


          อีกด้านหนึ่งคือข้อสงสัยเรื่องการเก็บหลักฐาน วัตถุพยาน โดยเฉพาะ “เสื้อผ้าผู้ตาย” ซึ่งมีความสำคัญมากในบางคดี อย่างเช่น คดีลันลาเบลที่สามารถหาหลักฐานจากชุดที่สวมใส่ได้ หรือคดีน้องหญิงตกรถเทรลเลอร์เมื่อปีก่อนที่มีประเด็นเรื่อง “กางเกงชั้นในหาย” ระหว่างถูกส่งเข้ารักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาล จนกลายเป็นคำถามว่าสรุปแล้วเป็นหน้าที่ของใครในการเก็บรักษาวัตถุพยานในส่วนนี้ (คดีน้องหญิง ศาลชั้นต้นยกฟ้อง “นายออฟ” คนขับรถเทรลเลอร์ด้วย)


          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ป.วิอาญา ระบุชัดเจนให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน กฎหมายไม่ได้กำหนดให้โรงพยาบาล หรือแพทย์ พยาบาล ต้องเก็บหลักฐานหรือสิ่งของของคนไข้เพื่อประโยชน์ในทางคดี เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าคนไข้แต่ละคนที่เข้ามารับการรักษาจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีอาญาหรือไม่


          ฉะนั้นที่ผ่านมาจึงใช้ระบบการสอนกันแบบ “บอกต่อ” เช่น วิธีสังเกตว่าหลักฐานหรือสิ่งของที่ติดตัวคนไข้อาจเป็นประโยชน์กับรูปคดี เจ้าหน้าที่ที่พอมีเซนส์ก็จะเก็บไว้ แต่หลายเคสก็มุ่งเน้นไปที่การรักษาเยียวยาคนเจ็บเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น มีคนไข้กินยาฆ่าแมลงเข้าไปเพื่อฆ่าตัวตาย พอมาถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ทำการล้างท้องให้ สิ่งที่ได้มาจากท้องคนไข้โรงพยาบาลก็นำไปทิ้งหมด ต่อมาคนไข้เสียชีวิต ญาติสงสัยว่าคนไข้ถูกวางยาหรือเปล่า อาจไม่ได้กินยาเข้าไปเอง ก็จะไม่สามารถพิสูจน์หลักฐานจากส่วนนี้ได้ เพราะยาหรือสารพิษนั้นถูกทำลายไปแล้ว

 

 

จากคดี น้องหญิง ถึง ลันลาเบล ปัญหาการเก็บหลักฐานนิติวิทย์

 

 


          นี่คือปัญหาของข้อกฎหมายที่อาจยังไม่รัดกุมพอ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในส่วนนี้ โดยเฉพาะเรื่อง “พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์” คือต้องมีการกำหนดมาตรการเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ตั้งแต่เก็บหลักฐานจากร่างกายมาใส่ภาชนะ นำภาชนะไปเก็บ รอพนักงานสอบสวนมารับ ถ้าพนักงานสอบสวนไม่มารับไปก็จะมีการกำหนดเวลาเก็บไว้จนกว่าจะนำไปทิ้งทำลาย


          ส่วนเรื่องการผ่าชันสูตรศพควรกำหนดเป็นบรรทัดฐานชัดเจนว่าการตายแบบไหน หรือผู้ตายเป็นใครบ้างที่จะต้องส่งศพไปผ่าพิสูจน์ทันที โดยไม่ต้องรอญาติแห่ศพประท้วง หรือต้องรอดุลพินิจของตำรวจเหมือนที่ผ่านๆ มา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-รวยมาจากไหน แฉบ้านปาร์ตี้จ้าง ลัลลาเบล หาเด็กทุกวัน
-ทามไลน์ก่อน "น้ำอุ่น" จนมุมคาปั๊มน้ำมัน
-ญาติลันลาเบล ระบุยังไม่ฌาปนกิจจนกว่าคดีชัดเจน
-นาฬิกาลัลลาเบลบอกเวลาตายอยู่กับใคร

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ