คอลัมนิสต์

ฝ่ากระแส เลิกเกณฑ์ทหาร กองทัพ ขอเจอครึ่งทาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ถอดรหัสลายพราง โดย... พลซุ่มยิง

 

 

 

          ตกเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของกองทัพ หลังฝ่ายค้านนำโดย ‘พรรคอนาคตใหม่’ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบสมัครใจ เข้าสภาในสมัยประชุมหน้า เพราะรู้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถทำได้เนื่องจากกระทบโครงสร้างกำลังพลและความมั่นคงของประเทศ แต่หากจะปฏิเสธก็สวนกระแสสังคมที่คล้อยตามไปแล้ว

 

 

          ต้องยอมรับว่าการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนมาสมัครใจได้รับเสียงตอบรับจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง หลัง ‘อนาคตใหม่’ ชูแคมเปญนี้ หาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ร่วมถึงในกลุ่มนักวิชาการ หรือแม้แต่กองทัพบกก็เคยศึกษาถึงความเป็นไปได้และผลกระทบที่จะตามมา


          เบื้องต้นกองทัพบกพบว่า พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารกระทบต่อกฎหมายหลายฉบับของกระทรวงกลาโหม รวมถึงกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นภาระงบประมาณและความพร้อมสถานภาพกำลังรบ ตลอดจนถึงระบบฐานข้อมูลกำลังพลซึ่งล้วนส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศทั้งสิ้น


          ในแต่ละปีกองทัพต้องการทหารกองประจำการปีละประมาณ 90,000-100,000 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร เพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่ความมั่นคง รักษาอธิปไตย รวมถึงการบรรเทาสาธารณภัย โดยจัดสรรให้กองบัญชาการกองทัพไทยประมาณ 1,900 นาย กองทัพบกประมาณ 70,000 นาย กองทัพอากาศประมาณ 13,000 นาย กองทัพเรือประมาณ 6,000 นาย ส่วนที่เหลือให้แก่กระทรวงกลาโหม 


          จากข้อมูลย้อนหลัง พบชายไทยสมัครใจเข้ารับใช้ชาติ ปี 2557 จำนวน 35% ปี 2558 จำนวน 44% ปี 2559 จำนวน 47% และสูงสุดในปี 2560 จำนวน 49% ปี 2561 จำนวน 45% และล่าสุดปี 2562 ตัวเลขอยู่ที่ 46% โดยกองทัพบกประเมินว่าปัจจัยทำให้ผู้มาสมัครไม่ครบ 100% เกิดจากขาดแรงจูงใจในเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการที่ในปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนตามค่าแรงขั้นต่ำและเบี้ยเลี้ยง 10,000 กว่าบาทต่อเดือน



          หาก พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหารถูกบังคับใช้ หมายความว่าทหารกองประจำการจะหายไปครึ่งหนึ่งของกองทัพ แม้ในเนื้อหา พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ เป็นสองเท่าพร้อมทั้งให้ทุนเรียนปริญญาตรีจนจบ เพื่อเป็นแรงจูงใจ แต่ต้องยอมรับว่าจะกลายเป็นภาระงบประมาณในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          แม้ ‘กองทัพบก’ จะมีข้อมูลเก่าอยู่ในมือแล้วแต่ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อดีข้อเสีย พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง ตามคำสั่งการของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยให้แล้วเสร็จก่อนพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสภาในสมัยประชุมหน้าเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการชี้แจง


          โจทย์สำคัญ ‘กองทัพบก’  ต้องหาวิธีอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่สามารถทำได้ ในขณะเดียวกันต้องเตรียมข้อมูลรับมือฝ่ายค้าน เพราะทันทีที่อ้างเรื่องงบประมาณก็จะถูกตีรวนให้ตัดงบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น เรือดำน้ำ ของกองทัพเรือ, ยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ของกองทัพบก


          เจตนาแท้จริงของ ‘กองทัพบก’ ไม่ต้องการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะต้องยอมรับความจริงว่ากระแสสังคมต้องการให้กองทัพเลิกเกณฑ์ทหาร เพียงแต่จะนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาพัฒนาเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา และหาจุดกึ่งกลางให้ได้ทางออกในเรื่องนี้โดยไม่ให้กระทบงานมั่นคงในภาพรวม ขณะเดียวกันประชาชนก็รับได้


          โดย ‘กองทัพบก’ มีแนวคิดเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชายไทยสมัครใจเป็นทหารกองประจำการโดยยึดรูปแบบพลอาสากองพันจู่โจมค่ายเอราวัณ  จ.ลพบุรี ที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดอยู่ระหว่าง 12,000-13,000 บาท 


          โดยจะพิจารณาแบ่งเป็นระยะและปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ ไม่เป็นภาระงบประมาณ


          เมื่อดำเนินการไปถึงจุดที่มีชายไทยมาสมัครเกิน 80% นั้นหมายความว่าประชาชนเริ่มพอใจ และกองทัพก็รับได้กับตัวเลขดังกล่าว สุดท้ายแล้ว ‘การเกณฑ์ทหาร’ ก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย 


          แต่กว่าเวลานั้นจะมาถึงพรรคฝ่ายค้านในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และกองทัพในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว เปิดใจพูดคุย โดยปราศจากอคติ หรือการตั้งแง่เพื่อหาจุดสมดุลนำไปสู่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ