คอลัมนิสต์

สร้างพลังบวกสังคมเข้มแข็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2562

 

 

          ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาประการหนึ่งของสังคมไทยที่ยังเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากลำบากคือปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มทุกอาชีพและหลากหลายวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน ที่ล่าสุดก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังฆ่าตัวตาย และหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องปรับแผนอย่างจริงจังเพื่อป้องกันบุคลากรในหน่วยงานฆ่าตัวตายเช่นกัน จึงเกิดคำถามว่าด้วยเหตุใดทำไมคนจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายมากขึ้น และจะมีวิธีการใดป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย ปัญหานี้มีหลายหน่วยงานทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและองค์กรด้านสุขภาวะได้พยายามตีโจทย์พร้อมเสนอแนวทางสร้างเกราะป้องกันตลอดจนแนวทางพัฒนาสุขภาวะทางจิตและการประคับประคองดูแลพร้อมแนะนำให้ครอบครัวรวมทั้งบุคคลที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของผู้ที่อ่อนแอมีปัญหาเข้ามาร่วมช่วยเหลือ

 

 

          วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) กรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยถึงสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ในปี 2561-2562 หากเปรียบเทียบตัวเลขรอบ 6 เดือน พบปี 2561 รอบ 6 เดือนแรก มีสัดส่วน 3.14% ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนรอบ 6 เดือนหลัง 3.18% ต่อประชากร 1 แสนคน และในปี 2562 รอบ 6 เดือนแรก อยู่ที่ 3.08% ต่อประชากร 1 แสนคน เฉลี่ยประมาณ 11-12 รายต่อวัน โดยพบว่าสาเหตุมาจากเรื่องความสัมพันธ์ 53.04%, ปัญหาจากสุรา 29%, โรคทางกาย 25.7, ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 19%, โรคทางจิต 12% และโรคซึมเศร้า 7.8% นอกจากนี้ในปี 2561 จากข้อมูล 183 ประเทศ พบว่าไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน

 


          กรณี “น้องต๊อด” อายุ 22 ปี นักศึกษา ปวช.ชั้นปี 2 แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้พิการครึ่งท่อน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กขอความช่วยเหลือหาสถานที่ฝึกงานจนสร้างกระแส “พลังบวก” ให้แก่สังคมอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและการไม่ยอมล้มเลิกหรือสิ้นหวังต่อการพัฒนาตัวเอง ไม่ยอมจมอยู่กับความท้อแท้แต่สามารถสร้างพลังใจในการก้าวเดินในชีวิต ขณะเดียวกัน สสส.ได้มีแนวทางเรื่อง “สร้างพลังบวกขจัดพลังลบ” เพราะการที่ไปจดจ่อกับเรื่องด้านลบก็เปรียบเสมือนว่ากำลังวางยาพิษให้แก่จิตใจของตัวเองและทำให้ทุกอย่างอ่อนแอตามไปด้วย จึงมีหลักต้องให้กำลังใจตัวเองและมองข้อผิดพลาดให้เป็นเรื่องบวก มองเป็นการเรียนรู้ ที่สำคัญคือต้องหมั่นฝึกสร้างพลังบวกให้สม่ำเสมอเพื่อมีวัคซีนต้านความทุกข์เศร้า เมื่อถึงจุดนั้นปัญหาต่างๆ จะสามารถแก้ไขลุล่วงได้




          สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันและเสริมสร้างพลังในด้านสุขภาวะทางจิตมากเท่ากับการรักษาสุขภาพกาย และยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าและความสัมพันธ์ในสังคมมีความซับซ้อนหลายมิติมากขึ้น ยิ่งสามารถสร้างผลกระทบต่อจิตใจได้มากขึ้น อย่างเช่นในโลกออนไลน์ที่มีข้อความด้านเกลียดชังหรือเฮทสปีชตลอดจนการกลั่นแกล้งคุกคามในโซเชียลมีเดียก็มีไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งความใกล้ชิดในสังคมระดับครอบครัวอาจน้อยลง จะด้วยสภาพแวดล้อมหรือความจำเป็นด้านเศรษฐกิจยิ่งทำให้โจทย์ในการแก้ปัญหาก็ซับซ้อนตามไปด้วย ดังนั้นหลักองค์รวมสำคัญจึงควรเริ่มจากตนเองก่อนในการสร้างพลังบวกและสติให้เข้มแข็ง รวมทั้งขยายออกไปโดยสังคมทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนสร้างกำลังใจ สร้างเกราะป้องกันที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนบุคคล รวมทั้งส่วนรวมเพราะปัญหานับวันจะรุนแรงขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ