คอลัมนิสต์

น้ำมานาล่ม ปีนี้คงไม่มีข้าวกิน... เสียงบอกเล่าจากคนลุ่มน้ำชี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  สิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี

 

 

 

 

          “หลังน้ำลดชาวบ้านต้องมาคิดหนักถึงเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะข้าวที่ใช้กินให้ถึงสิ้นปีนี้ก็เกือบหมดยุ้งแล้ว เพราะว่าเรามีความหวังกับข้าวนาปีที่เราได้ลงทุนลงแรงไปแล้ว แต่ตอนนี้ถูกน้ำท่วมตายหมดแล้ว ปีหน้าเราคงต้องหาซื้อข้าวกิน”

 

 

          จ.ร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมขังในห้วงพายุโพดุลซัดกระหน่ำ ชาวอีสานโดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางเดือดร้อนกันถ้วนหน้า หลายครอบครัวแทบสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ข้าวของเครื่องใช้จมหายไปกับน้ำ 


          ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นาข้าวที่ลงทุนลงแรงปลูกไปหวังจะได้เก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่เดือนกลายเป็น นาล่ม เหลือไว้ให้ดูเพียงข้าวเน่าเต็มท้องนา


          บ้านดอนแก้ว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ติดแม่น้ำชีทางทิศตะวันออก และมี กุดแขแซ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากห้วยน้ำเค็มล้อมรอบหมู่บ้าน ที่นี่จึงมักมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำท่วมหลากเมื่อฤดูฝนมาถึง ซึ่งลักษณะลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงแบบนี้ชาวบ้านเรียกว่า พื้นที่ทาม 

 

 

 

น้ำมานาล่ม ปีนี้คงไม่มีข้าวกิน... เสียงบอกเล่าจากคนลุ่มน้ำชี

 


          วิถีชีวิตของชาวบ้านดอนแก้ว ส่วนใหญ่ทำนาปีเป็นหลัก โดยมีเนื้อที่ประมาณ 1,300 กว่าไร่ ข้าวที่นิยมปลูกคือข้าวเหนียว ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจหลักที่่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก


          ส่วนอาชีพเสริม หลังหน้านาก็หาปลาในแม่น้ำชีและกุดแขแซ  เมื่อได้ปลามาจำนวนมากมักนำไปแปรรูปด้วยการ ตากแห้ง ปลาส้ม ปลาร้า เป็นต้น ขณะที่บางครอบครัวยึดอาชีพเลี้ยงวัว และหาของป่าทามตามฤดูกาล 

 

          จะเห็นได้ว่าวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านดอนแก้ว มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับฐานทรัพยากรอย่างมากและเข้าไปใช้ประโยชน์อย่างเข้าใจ




          เมื่อทำเลที่ตั้งชุมชนเหมาะกับการปลูกข้าว การทำนา จึงถูกสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ข้าว จึงถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงพวกเขามาโดยตลอด


          ชาวนาบ้านดอนแก้ว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเก็บไว้กินได้ตลอดปีโดยไม่ต้องหาซื้อให้สิ้นเปลือง โดยผลผลิตข้าวที่ได้จะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน 


          ส่วนที่หนึ่ง เก็บไว้บริโภคจนถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม ก่อนที่ข้าวใหม่จะเริ่มเก็บเกี่ยว 


          ส่วนที่สอง เก็บไว้ทำพันธุ์ข้าวในปีต่อไป ซึ่งการเก็บข้าวไว้ทำพันธุ์นั้นจะเก็บไว้ปีเว้นปี เพราะถ้าเก็บไว้ตลอดข้าวจะแข็งเวลานึ่ง 

 

 

น้ำมานาล่ม ปีนี้คงไม่มีข้าวกิน... เสียงบอกเล่าจากคนลุ่มน้ำชี

 


          ส่วนที่สาม แบ่งขายซึ่งจะเป็นสองช่วงคือ ช่วงที่หนึ่งแบ่งขายเพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าเก็บเกี่ยวผลผลิต และเก็บไว้เริ่มลงทุนในปีต่อไป ส่วนที่สองขายข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งข้าวให้หมดเพื่อเตรียมรองรับข้าวใหม่ หลังคำนวณแล้วไม่เกิดปัญหาด้านน้ำท่วม ซึ่งเป็นการวางแผนของชาวนาบ้านดอนแก้ว


          ทว่าปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ โขง ชี มูล เข้ามา ทำให้บ้านดอนแก้วและอีกหลายหมู่บ้านประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำขึ้นเร็วแต่กลับลงช้า เนื่องจากลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตรอยู่ที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง แล้วยังมีเขื่อนขวางกั้นลำน้ำชีอีก โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด, เขื่อนยโสธร-พนมไพร เป็นต้น ทำให้ปริมาณน้ำไหลไม่ปกติเหมือนอดีต ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าว ที่อยู่อาศัย และทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่ไม่ปกติสุข


          จันทา จันทาทอง อายุ 44 ปี ชาวบ้านดอนแก้ว เล่าว่า ปัญหาน้ำท่วมผิดปกติแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชี ทำให้น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อเริ่มมีการสร้างเขื่อนและทดลองกักเก็บน้ำประมาณปี 2543 เป็นต้นมา บางปีฝนไม่ตกก็ท่วม บางปีกำลังดำนาอยู่น้ำก็เอ่อมาท่วม  ปีนี้มีพายุเข้ามาแค่สองลูกฝนตกไม่กี่วัน น้ำก็ท่วมนาข้าวแล้ว


          จันทา บอกว่า ปีนี้น้ำท่วมนาข้าวของเขาตั้งแต่ 29 สิงหาคม ข้าวที่ปลูกไว้กำลังสวย ต้นข้าวสูงเลยเอวแล้ว คาดว่าจะได้เก็บเกี่ยวเอาไว้กินและไว้ขายใช้หนี้ เพราะปีนี้ไม่เห็นทีท่าว่าน้ำจะท่วม แถมยังกลัวแล้งด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายกลับถูกน้ำเอ่อท่วมจนได้


          “ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยวันละ 60 เซนติเมตร วันที่สาม ผมและชาวบ้านต้องพากันมาสร้างเพิงพักชั่วคราวบนพนังกั้นน้ำแล้วค่อยอพยพข้าวของทั้ง รถยนต์ รถไถนา รถจักรยานยนต์ บางครอบครัวต้องย้ายสัตว์เลี้ยงอย่างวัวขึ้นมาไว้บนพนังกั้นน้ำด้วย หมู่บ้านอื่นหลายหมู่บ้านก็เริ่มทยอยถูกน้ำท่วม บ้านดอนแก้วถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมรถขนาดเล็กสัญจรไม่ได้ ต้องใช้เรือแทน ผมได้แต่ยืนมองน้ำเอ่อขึ้นเรื่อยๆ ที่นา 56 ไร่ ที่ผมลงทุนไปทั้งค่าไถ ค่าหว่าน ค่าเมล็ดพันธุ์ ไหนจะค่าแรง เราก็หวังว่าจะได้เก็บเกี่ยวเพื่อมาเป็นทุนใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นทุนในการทำนาต่อไป กลับละลายไปกับน้ำหมด” 


          เขายังเล่าอีกว่า ถึงแม้ว่าวันนี้น้ำจะเริ่มลดจากถนน ทำให้บางหมู่บ้านหรือบ้านเขาเองสามารถใช้รถสัญจรได้ แต่ต้นข้าวเน่าเสียหายส่งกลิ่นเหม็น ที่สำคัญตอนนี้ข้าวเปลือกที่เก็บไว้กินเหลืออยู่เพียง 4 กระสอบ บางครอบครัวเหลือ 10 กว่ากระสอบ การกินก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวไหนมีสมาชิกน้อย ครอบครัวไหนสมาชิกมาก 


          “ชาวนาต้องมาซื้อข้าวกินนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นเรื่องผิดปกติมาก เพราะเราทำนาก็เพื่อไว้เลี้ยงชีพและไว้ขาย เป็นความทุกข์ซ้ำซ้อนที่เราเจอมาแบบนี้ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน เพราะเขื่อนไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้เป็นแบบธรรมชาติได้ จึงทำให้ที่นากลายเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง จึงทำให้วิถีเปลี่ยนต้องดิ้นรนมาทำนาปรัง”


          ทุกข์ของ จันทา เป็นทุกข์เดียวกับ อมรรัตน์ วิเศษหวาน ชาวบ้านดอนแก้ว วัย 57 ปี 


          เธอเล่าว่า หลังจากน้ำลดหลายครอบครัวต้องมาคิดถึงเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจครอบครัว เพราะชุมชนของพวกเขามีอาชีพทำนาเป็นหลัก ความสุขของชาวนาคือการเห็นยุ้งข้าวมีข้าวไว้กิน และขายเพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายภายในครัวเรือน แต่สิ่งที่คิดกลับย้อนแย้งกัน ปีนี้เจอปรากฏการณ์น้ำท่วมทำให้หลายคนเริ่มมาคิดหนักถึงสองเท่าว่าปีหน้าจะเอาข้าวที่ไหนกินให้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในปีต่อไป ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาวนาอย่างพวกเธอ


          “ชาวนาต้องซื้อข้าวกินนั้นผิดปกติจริงๆ เพราะชาวนาจะต้องทำนาเอาผลผลิตไว้เลี้ยงชีพ ขายและแบ่งปันเท่านั้น อย่างปีนี้ราคาข้าวเหนียวแพงมากเราจะมีกำลังซื้อข้าวเหนียวกินถึงปีหน้าหรือเปล่า ชาวนาพอเวลาขายข้าวเปลือกกิโลละ 8-12 บาท แต่พอเวลาจะซื้อข้าวสารกิโลละ 45-50 บาท แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ บางครอบครัวได้นำเงินไปลงทุนข้าวนาปีแล้วเป็นส่วนใหญ่ วันนี้ถึงน้ำจะเริ่มลดแต่หลายครอบครัวก็เครียด ซึมเศร้า เพราะข้าวในนาไม่เหลือ”


          อมรรัตน์ เชื่อว่า ต้นตอสำคัญของปัญหาน้ำท่วมนานในพื้นที่เกิดจากการสร้าง เขื่อนกั้นน้ำชี ทำให้น้ำไหลช้ามาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เวลาพายุเข้าแต่ละทีการบริหารจัดการน้ำก็เปลี่ยนไป บางเขื่อนเปิดประตูแขวนบาน บางเขื่อนยังไม่แขวนบาน แล้วน้ำที่ไหนจะไหลสะดวก


          นี่เป็นอีกเสียงสะท้อนจาก คนลุ่มน้ำชี ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวของปัญหาน้ำท่วมที่ไม่ปกติในหลายพื้นที่ เพื่อสื่อสารไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ขอให้กลับมาสรุปบทเรียนแล้วเริ่มหันหน้าพูดคุยกับชุมชนเพื่อหาทางออกให้แก่ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำต่างๆ  ได้แล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ