คอลัมนิสต์

เกมซักฟอก รบ. ของ"ฝ่ายค้าน" ไม่จบแค่ในสภาฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตอบไม่ชัดเจนในการซักฟอกรัฐบาลวันพรุ่งนี้ สิ่งที่ฝ่ายค้านจะเรียกร้องต่อไป คือ การรับผิดชอบทางการเมืองถึงขั้นลาออกรวมทั้งใช้กลไกทางกฎหมาย

   ขนิษฐา เทพจร

      ก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 18 กันยายนนี้ สภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณา ซึ่งนัดเป็นพิเศษ คือ การอภิปรายทั่วไป "คณะรัฐมนตรี" โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่ง7พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นใช้เป็นคราวแรก นับแต่มีสภาฯ หลังการเลือกตั้ง

 

      สำหรับประเด็นอภิปรายที่จะเกิดขึ้น ตามรายละเอียดที่ "พรรคฝ่ายค้าน" บอกโจทย์ให้ "คณะรัฐมนตรี" รู้เพื่อเตรียมตัวตอบ มี 2 ประเด็น คือ 1.กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กำหนดไว้  ซึ่ง "ฝ่ายค้าน" ตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นการกระทำที่จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ​

      และ 2.การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ช่วงวันที่ 25 - 26 กรกฎาคม ที่ขาดการชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้ดำเนินการตามนโยบาย

      ตามประเด็นที่บอกโจทย์ไป "สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย" ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน บอกกับ ทีมข่าว'คมชัดลึกออนไลน์'ว่า จะมีรายละเอียดอื่นๆ ที่จะอภิปรายเพื่อสนับสนุนโจทย์ทั้ง 2 ข้อให้เด่นชัดมากขึ้น และเพื่อนำไปสู่คำตอบที่ "พรรคฝ่ายค้าน" ตั้งประเด็นตรวจสอบ "รัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์" ในขั้นตอนทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ 

       และจะมีการตั้งคำถามที่ "บิ๊กตู่" ต้องตอบให้ชัดเจน ซึ่งหากตอบไม่ชัดเจน ไม่ละเอียด หรือไม่กระจ่างแจ้ง สิ่งที่พวกเขาจะเรียกร้องต่อไปในชั้นของการประชุมสภาฯ​นัดพิเศษ คือ ให้ "พล.อ.ประยุทธ์" รับผิดชอบทางการเมือง

    แต่กว่าจะให้ "หัวหน้ารัฐบาล" รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเพียงผู้เดียวนั้น เชื่อแน่ว่า ไม่ใช่งานง่าย เพราะ "ทีมรัฐบาล" ต้องเตรียมสิ่งที่จะตอบ ตามโจทย์ใหญ่ 2 ประเด็น โดยเฉพาะทีมงานด้านกฎหมาย การเงิน-การคลัง

     เดาใจตามประเด็นสำคัญ คือ "กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน" ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินและนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พร้อมอธิบายในรายละเอียดถึงเหตุผลไม่สามารถรับคำร้อง เพราะเป็นประเด็นทางการเมืองและเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์

      "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคำตอบที่ชัดเจนคือ เหตุที่ไม่สามารถรับไว้วินิจฉัย เนื่องจากไม่มีอำนาจ ขณะที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นเอง ไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบได้เช่นกัน ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านมองว่ากระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาผู้แทนราษฎร คือ องค์กรทางการเมืองที่มีสิทธิ์ตรวจสอบเรื่องนี้ได้" สุทิน ย้ำประเด็นตามสิทธิที่เชื่อว่าทำได้

        แต่กับประเด็นสำคัญ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเงื่อนไขสำคัญ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ คือ มาตรา 161 การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์​ ที่ "องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล" เตรียมใช้เป็นแนวตอบโต้ และสรุปรวบว่า เป็นความสมบูรณ์ที่รัฐบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลังจากนั้น

      กับมุมโต้แย้งนั้น "สุทิน" ไม่เถียงในเรื่องกระบวนการที่คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติ และจะไม่นำประเด็นกระบวนการ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์มาอภิปรายในที่ประชุม ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันกับหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วที่จะไม่แตะต้องและก้าวล่วง

     แต่ที่พรรคฝ่ายค้านยืนยันเดินหน้าอภิปรายเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่อยากชี้ให้สังคมเห็น ไม่ใช่เรื่องกระบวนการ แต่เป็น "สาระ"

    "รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เขียนไว้ชัดเจนว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ ผมขอย้ำว่า ถ้อยคำต่อไปนี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้กล่าวไม่ครบถ้วน นี่ต่างหาก คือสาระสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบ เพราะการกล่าวถ้อยคำไม่ครบ หรือทำให้สาระสำคัญไม่สมบูรณ์ คือ การจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และเป็นผลที่กระทบต่อสถานภาพของคณะรัฐบาล ที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ และ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบทางการเมือง" ประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันและพร้อมจะขยายประเด็นนี้ต่อที่ประชุมสภาฯ วันที่ 18 กันยายน นี้

       ความรับผิดชอบทางการเมืองที่ "ประธานวิปฯ ฝ่ายค้าน" และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องการ คือ ให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ  แทนการใช้อำนาจยุบสภา เพราะกรณียุบสภา คือ การแก้ปัญหาที่เกิดระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ชั้นนี้เป็นความผิดเฉพาะตัวของนายกฯ ดังนั้น การลาออก คือคำตอบเดียว

      กับประเด็นที่ 2  ว่าด้วยการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งขาดรายละเอียดของงบประมาณนั้น "สุทิน" ขยายความว่าเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นกัน ในชั้นการชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ​นัดพิเศษ ยังให้สิทธิ์ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงในรายละเอียดที่ขาดหายได้

     สำหรับ "ขุนพลฝ่ายค้าน" ที่จะเรียงลำดับขึ้นอภิปราย "ประธานวิปฯ ฝ่ายค้าน" บอกจำนวนที่แน่ชัด คือ 20 ขุนพล ประกอบด้วย แกนนำของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ "สมพงษ์​ อมรวิวัฒน์" จากพรรคเพื่อไทย, "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" จากพรรคเสรีรวมไทย, "ปิยบุตร แสงกนกกุล- พรรณิการ์ วานิช" จากพรรคอนาคตใหม่ และมีผู้อภิปรายหลัก อีก คือ "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ - นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" จากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น ส่วนการจัดสรรเวลาให้แต่ละคนเท่าไรนั้น จะเป็นไปตามสมควรของเนื้อหาสาระ

       ขณะที่เวลาอภิปรายที่กำหนดไว้เบื้องต้น 09.30 - 24.00 น. นั้น "ประธานวิปฯ ฝ่ายค้าน" คาดว่าจะใช้ไม่ถึง เพราะหากได้สาระที่สมบูรณ์ครบถ้วน จะยุติบทบาทตรวจสอบไว้แค่นั้น เพราะบทสรุปสุดท้าย​ ไม่ต้องลงมติชี้ขาดแล้ว 

       อย่างไรก็ดีในคำตอบที่ว่า "ได้สาระที่สมบูรณ์​ ครบถ้วน"  มีสิ่งที่ตามต่อ คือ การตั้งเวทีคู่ขนานนอกห้องประชุม ผ่านคณะทำงานเช็คลิสต์ประเด็นคำถาม และคำตอบของ "รัฐมนตรี" รวมถึง "พล.อ.ประยุทธ์"  ที่ พรรคฝ่ายค้าน เตรียมใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองต่อไป ทั้งกลไกทางกฎหมาย ผ่านการยื่นเรื่องต่อ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" หรือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" รวมถึงใช้ผ่านกลไกทางการเมืองนอกสภาฯ  ซึ่ง "สุทิน คลังแสง" ยอมรับว่านอกจากเวทีอภิปรายในสภา จะจัดทีมทำงานคู่ขนานคอยเช็คประเด็นคำตอบ 

      กับประเด็นส่งท้าย "ประธานวิปฯ ฝ่ายค้าน" บอกว่า ไม่กลัวกับอารมณ์ร้อนของผู้นำรัฐบาล แต่มีสิ่งที่อยากบอก คือ กลไกตรวจสอบของสภาฯ ถือเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่ไม่มีเจตนาไล่ หรือล้มรัฐบาล แต่กระบวนการตรวจสอบที่เกิดขึ้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ รู้ตัวว่าทำผิด ขอให้ยอมรับออกมาอย่างชายชาติทหาร

     "คนที่รู้ว่าตัวเองทำผิด แล้วยอมรับผิด ยังน่านับถือยิ่งกว่าคนที่รู้ว่าตัวเองผิด ยังเดินหน้าทำสิ่งที่ผิด และหนีความผิดไปวันๆ"

     ดังนั้นการประชุมสภาฯ​นัดพิเศษ วันที่ 18 กันยายนนี้ ต้องจับตาให้ดี กับบทบาทครั้งแรกของ "พล.อ.ประยุทธ์" ที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของสภาฯ.

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ