คอลัมนิสต์

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์ คมชัดลีก ฉบับวันที่ 14-15 ก.ย.62

 

*****************************

 

มาช้ายังดีกว่าไม่มา...แต่ควันหลงยังไม่จางหายกับดราม่าภาพวาด พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ซึ่งจัดแสดงที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา

 

เรื่องนี้จบไปเบื้องต้นเมื่อเจ้าของงานซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงปี 4 หลักสูตรศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เดินทางไปกราบขอขมาต่อพระเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้ใหญ่หลายท่านประกบใกล้ชิด

 

 

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

ภาพต้นเรื่องที่เวลานี้ได้ข่าวว่าราคาประมูลไปไกลหลักล้านแล้ว

 

 

น้ำตาหยดเล็กๆ ของผู้รังสรรค์ผลงานอาจทำให้หลายคนเห็นใจและพากันเข้าไปให้กำลังใจเธอในเฟซบุ๊ก นิ่ม เต๊อะเติ๋น” แต่มากกว่านั้นคือคำถามว่าที่สุดแล้ววิวาทะระหว่าง “เสื่อม” กับ “ศิลป์” คงต้องวนเวียนแบบนี้ทุกกาลสมัย เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

 

แต่หากคำคมของ ศ.ดร.ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” ยังคมอยู่ ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภาพวาดงานศิลป์ในท่วงทำนองเดียวกันนี้เราน่าจะเห็นแล้วว่าอะไรเกิดขึ้น แล้วดับไป แต่อะไรที่ยังคงอยู่?

 

 

คนละมุม คนละความ

 

ราวปี 2514 ซึ่งนับว่าไกลมากจากยุคเอไอ-ไซเบอร์แบบตอนนี้ บรรยากาศงานศิลปะของไทยเราที่เปิดเผยในวงกว้างให้คนไทยตามซอกซอยได้มีโอกาสรู้เห็น อาจวนเวียนอยู่กับคนไม่กี่คนที่เป็นคนดัง

 

หนึ่งยอดฝีมือที่รั้งแชมป์ตลอดกาล อย่าง "ถวัลย์ ดัชนี" ช่างเขียนรูปแห่งดอยสูงเชียงราย ก็ยังหนีไม่พ้นดราม่า แถมที่เคยเจอยังแย่กว่าที่คิด

 

เพราะเช้าวันที่่ 6 ตุลาคม 2514 หนังสือพิมพ์ลงข่าวภาพเขียนของ อ.ถวัลย์ ที่ถูกทำลายจากฝีมือของนักเรียนขาสั้นกลุ่มใหญ่ที่เข้าไปทุบตีเฟรมภาพ กรีดทำลายภาพวาด ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (ราชเทวี กรุงเทพฯ) หลังจากที่ก่อนหน้านั้น 2-3 วัน มีคนเข้ามาดูภาพแล้วถ่ายรูปไปก่อนที่จะเกิดเหตุนี้

 

ศิลปินร่างใหญ่ หลังเสร็จธุระข้างนอกกลับมาเห็นถึงกับไฟลุก น้ำตาหลั่ง แต่อะไรคงไม่ลามไกลเท่ากับข่าวที่พากันรายงานเรื่องและนำภาพไปลงจนกลายเป็นไฟลามทุ่ง

 

โดยภาพที่จัดแสดงทั้งหมดราว 30 ภาพ มี 4-5 ภาพที่โดนวิจารณ์และถูกทำลาย คือภาพผู้ชายกล้ามใหญ่แต่มีศีรษะเป็นวัว ยืนถือเศียรพระพุทธรูปที่ถูกตัดเอาไว้ในมือ, ภาพผู้ชายยืนหันหลังเปลือยกาย แต่หัวเป็นเหมือนเศียรพระพุทธรูป, ภาพผู้ชายเปลือยกายหันหน้าแต่เอาระฆังวัดไปแขวนไว้ที่อัณฑะ มีหลังคาโบสถ์แทนที่ตรงศีรษะ และภาพพระสงฆ์ที่ถือตาลปัตรเป็นรูปลูกตาแทนศีรษะ

 

 

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

 

 

วันนั้นเจ้าของผลงานกล่าวหลายคำ แต่คำหนึ่งเขาสรุปว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีความเลว แล้วเราจะรู้ว่าคนดีนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าคนที่ดูภาพเขียนนั้นได้แปลความหมายของภาพเขียนนั้นผิดไป”

 

เป็นอันว่าคนไทยในยุคนั้นรับไม่ได้กับภาพของถวัลย์ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนเจ้าของผลงานตกเป็นจำเลยสังคม ต้องหลบลี้หนีไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศอย่างกับนกปีกหัก

 

แต่นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 48 ปีก่อน หรือเกือบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นความท้าทายของคนอย่างศิลปินจากเหนือสุดสยามที่กล้านำงานศิลป์-งานพุทธ มาตีแผ่อย่างร้อนแรงไว้ในเฟรมเดียวกัน

 

และยังเป็นความย้อนแย้งอย่างสุดขั้วเมื่อเทียบกับยุคสมัยที่คนไทยยังอาจมีมุมคิดที่ถูกตีกรอบข่าวสารไว้แค่ทีวีไม่กี่ช่องกับหนังสือพิมพ์ไม่กี่หัว

 

 

 

มองบัวไม่เป็นบัว

 

แม้ที่สุดแล้วเรื่องราวของถวัลย์ ดัชนี จะผ่านร้อนหนาว-หลับตื่น มาจนได้รับการยอมรับเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2544 เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกของศิลปะ

 

สังคมไทยก็เติบโตไปกับบรรยากาศแห่งยุคสมัยที่เรียกว่า “โลภาภิวัตน์” ตามระเบียบโลกใหม่ที่เน้นการค้าเสรีด้วย

 

แต่ในปี 2547 คนไทยต้องถกเถียงกันอีกครั้งกับภาพชุด อย่าเห็นกงจักร ยักษ์เป็นดอกบัว” ของ สมศักดิ์ รักษ์สุรรณ” ศิลปินชาวตรัง ที่ถูกผู้คนที่เรียกตัวเองว่า ผู้รักความเป็นไทย” ตราหน้าว่าจิตรกรได้ลบหลู่ครูบาอาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์โขนของไทยเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

อย่าเห็นกงจักร ยักษ์เป็นดอกบัว” ของ สมศักดิ์ รักษ์สุรรณ”

 

 

กับภาพหัวโขนยักษ์ประกอบภาพหญิงเปลือยที่เน้นคำว่า NUDE โดยลักษณะของยักษ์ที่ศิลปินวาดคือรูปยักษ์โขนที่ถือเป็นครูบาอาจารย์ของโขน แถมทุกภาพจะมีภาพหญิงเปลือยประกอบอยู่หมด

 

หากหนนี้ศิลปินมีโอกาสได้แจงผ่านสื่อโทรทัศน์รายการดัง สองฝั่งฝ่ายโต้เถียงกันในรายการเสมือนตัวแทนของคนไทยวงนอกที่ก็ทุ่มเถียงไปมาเช่นกัน

 

ฝ่ายศิลปินที่มีกองหนุนเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ฝ่ายเห็นต่างมาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ แน่นอนฝ่ายแรกขอให้มองที่ “เจตนา” ของการสร้างงานของศิลปิน

 

ขณะที่เจ้าตัวก็แจงว่าตนมิได้มีจิตคิดลบหลู่ หากต้องการนำเสนอความคิดแปลกใหม่สำหรับศิลปะร่วมสมัย

 

แต่สุดท้ายเมื่อทางรายการได้เปิดโหวตผ่านทาง SMS อันเป็นนวัตกรรมที่คนไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์กับคำถามว่า “อิสระของศิลปินในงานชุด อย่าเห็นกงจักร ยักษ์เป็นดอกบัว" เห็นด้วยหรือไม่

 

ผลปรากฏว่า คนไทยจำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย พูดง่ายๆ ว่าพวกเขาไม่ยอมรับงานชุดนี้และยังมีถ้อยคำที่แสดงความคิดผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์อย่างรุนแรงอีกด้วย

 

ทุกวันนี้ อ.สมศักดิ์ ยังคงทำงานศิลป์ต่อไป ปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย เป็นบุคคลที่ชาวตรังภูมิใจ

 

มีนาคมที่ผ่านมาเพิ่งจัดแสดงผลงานชุด “สำรวจตัวเอง” ออกสู่วงกว้าง และยังคงถ่ายทอดภาพหญิงสาวเปลือยกายและตนเองในศิลปะเชิงนู้ด สื่อความหมายถึงกิเลส เป็นท่วงทำนองเดิมๆ ที่เป็นสไตล์ของเขาต่อไป

 

 

 

แก่นแท้ตรงไหน

 

ถ้าจะกล่าวถึงคำว่าศิลปะ “ร่วม” สมัย แบบไม่ต้องเปิดตำรา ดูเหมือนว่าบริบทของสังคมที่เกิดขึ้นนับเนื่องมา ได้อธิบายคำคำนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

 

ที่สุดเมื่อต่อเนื่องมาถึงกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์ค คนไทยยังคงได้ยินข่าวคราวลักษณะนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันด้วยความเร็วของสื่อ หากคราวนี้เราเริ่มสัมผัสได้ถึงกระแสเปิดกว้าง

 

ปี 2550 เรามีเคสของ อนุพงษ์ จันทร ศิลปินชาวปราจีนบุรี บัณฑิตและมหาบัณฑิตจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้รังสรรค์งานอย่าง ภิกษุสันดานกา”

 

 

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

 

 

งานนี้ศิลปินไม่เพียงวาดภาพพระสงฆ์สองรูปที่มีปากเป็นปาก “กา” และมีรอยสักเต็มตัวขณะที่กำลังแย่งสายสิญจน์กับตะกรุดที่อยู่ในบาตร แต่ถ้ามองดีๆ ลายสักยังเป็นรูปกบและตุ๊กแก แถมงานนี้ยังเป็นเทคนิคสีอะคริลิกบน “ผ้าจีวร” อีกด้วย

 

เจ้าตัวบอกว่าได้ความเชื่อเรื่อง “เปรตภูมิ” ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ใช้เตือนสติให้มนุษย์มีความเกรงกลัวต่อผลแห่งกรรมและสร้างสำนึกให้ตั้งอยู่บนรากฐานของศีลธรรม

 

หากบังเอิญว่าในภาพเป็น “พระ” สังคมไทยส่วนหนึ่งก็ออกแนวรับไม่ได้ ช่วงนั้นหากจำได้ พระสุธีวีรบัณฑิต หรือ พระมหาโชว์ ทัศนีโย แกนนำสมัชชาชาวพุทธแห่งชาติออกมาต่อต้านอยู่พักหนึ่ง

 

แต่ดูเหมือนกระแสไม่เอาภาพชุดนี้จะน้อยกว่ากระแส “มองมุมกลับ” ที่ได้ก่อให้เกิดการเปิดพื้นที่พูดคุยมากขึ้นกว่าการก่นด่าแบบที่เคยเป็นมา

 

อนึ่ง ภาพนี้ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองประเภทจิตรกรรมศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 และอีกหลายรางวัลการันตีฝีมือ

 

ปี 2554 เรามีเคสของศิลปินใหญ่จากเชียงรายอีกคน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ไอเดียบรรเจิดสร้างงานออกมาเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีทั้งโดราเอม่อน อุลตร้าแมน คิตตี้ ฯลฯ ที่ถูกวาดลงบนฝาผนังในวิหารที่วัดร่องขุ่น อ.เมือง จ.เชียงราย

 

 

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

 

 

ศิลปินแห่งชาติคนนี้ได้แจงตามสไตล์ว่า แท้ที่จริงแล้วฮีโร่ไม่มีในโลกนี้ แต่ฮอลลีวู้ดหรือญี่ปุ่นพยายามจะสร้างฮีโร่ขึ้นมา แต่ฮีโร่ที่แท้จริงก็คือมนุษย์ที่มีเมตตาไม่เบียดเบียนกัน

 

ไม่ต้องนับช่วง ปี 2555-2556 เรามีเคสเบาๆ ยิบย่อยสองเคส เป็นภาพว่อนเน็ต ภาพแรกคือพระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์ อีกภาพคือพระพุทธรูปปางยับ-ยุม ทั้งสองภาพคนไทยโวยวายอยู่พักหนึ่งเรื่องก็เงียบเพราะไม่มีเจ้าภาพ

 

 

ดราม่าสั้น ศิลปะยืนยาว

 

 

จนมาถึงปี 2562 ยุคสมัยแห่ง “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” หากเทียบกับที่แล้วมาเราอาจบอกว่าเคสหลังนี่ “ใสๆ” 

 

เพราะทางหนึ่งบรรดาคนที่พากันแจ้งความดำเนินคดีต่อนักศึกษาเจ้าของผลงานและผู้เกี่ยวข้อง การกระทำนี้หลายคนเรียกว่า “ดราม่า” แต่ทางหนึ่งโลกออนไลน์ได้แชร์ข่าวภาพนี้ว่าได้รับการประมูลปั่นราคาต่อไปจนมีแตะหลักแสนหลักล้าน เพื่อนำเงินไปช่วยทางการแพทย์

 

หลายคนบอกแม้ภาพจะถูกทำลาย แม้ภาพจะหายไป ต่อให้การประมูลไม่ประสบความสำเร็จแต่โลกทุกวันนี้ได้บันทึกทุกอย่างไว้หมดแล้ว ดังนั้นภาพนี้จึงได้ทำหน้าที่ของมัน และเชื่อว่าคงจะทำหน้าที่บางอย่างต่อไปในคนรุ่นหลัง

 

******************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ