คอลัมนิสต์

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

 

 

          คนในสังคมทั่วไป หรือแม้แต่ในสังคมออนไลน์ ต่างรับรู้และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการ “รับหิ้ว” สินค้าแบรนด์เนม หรือพรีออเดอร์ต่างๆ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่เพ่งเล็งไปที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน(บางคน) ของแต่ละสายการบิน ไม่ว่าจะเป็น “สจ๊วต” หรือ “แอร์โฮสเตส” เนื่องจากต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งทำกันมานานจนกลายเป็น “ธุรกิจรับจ้างหิ้ว” ที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ และยิ่งตอกย้ำความน่าจะเป็นจากข่าวฉาวที่ปรากฏว่าสจ๊วตกับแอร์การบินไทยลอบขนสินค้าหนีภาษี โดยกรณีล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากแอร์สาวลักลอบขนสินค้าแบรนด์เนมจากประเทศอิตาลี

 

 

 

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

 

 

          การหิ้วที่ว่านี้มีทั้งแบบหิ้วมาขายเองและรับจ้างหิ้วไปส่งให้ร้านที่ขายแบรนด์เนม แต่ในช่วงหลังที่ตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาท จึงทำให้ธุรกิจหิ้วแบรนด์เนม หรือสินค้าพรีออเดอร์ขยายตัวมากขึ้น เพราะช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้ามีโอกาสพบเห็นและสั่งซื้อ-สั่งจองสินค้าได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ ไลน์ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะจ้างสจ๊วตหรือแอร์หิ้วสินค้าเข้ามา ก็เริ่มขยายวงไปจ้างกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะ ไกด์ซึ่งพาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ หรือจัดกรุ๊ปทัวร์ไปเที่ยว แต่คนในกรุ๊ปส่วนใหญ่ล้วนไปรับจ้างหิ้วของเข้ามานั่นเอง


          แน่นอนเรื่องรายได้เป็นแรงจูงใจให้คนรับหิ้ว แต่คนในสังคมก็ตั้งข้อสังเกตว่าสจ๊วตกับแอร์ซึ่งเป็นอาชีพใฝ่ฝันของใครหลายคนทำไมถึงเสี่ยงทำ ทั้งที่บินไปต่างประเทศก็มีเบี้ยเลี้ยงนอกเหนือจากเงินเดือนประจำที่ได้รับทุกเดือน ซึ่งสาเหตุอาจมาจากความต่างค่าเบี้ยเลี้ยงของลูกเรือระหว่างนักบินกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

 

 

 

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

 

 

          สำหรับการบินไทยนั้นมีที่มาที่ไปของเบี้ยเลี้ยง(Per Diem)ลูกเรือระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยในอดีตผู้ถือหุ้นบริษัทการบินไทย คือบริษัทเดินอากาศไทย ถือหุ้น 70% และสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์(SAS) ถือหุ้น 30% ช่วง 5 ปี แรก SAS เป็น ผู้รับผิดชอบทั้งหมด รวมทั้งผลประกอบการ ถ้าขาดทุน SAS เป็นผู้รับผิดชอบ ถ้ามีกำไรก็แบ่งตามสัดส่วน คือ 70 ต่อ 30 เพราะภาษีรายได้ของพนักงานในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนสูงมาก ข้อตกลงระหว่างสหภาพฯ และฝ่ายบริหาร SAS จึงกำหนดรายได้ประจำไว้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับสายการบินในทวีปยุโรป แต่ให้จ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงที่มีจำนวนสูงแทน เพราะไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากรายได้ดังกล่าวนั้นจ่ายในต่างประเทศ SAS จึงนำระบบนี้มาใช้กับการบินไทย แล้วก็ราบรื่นดี

 

 

 



          ในอดีตลูกเรือทุกคนจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเท่ากันทั้งหมด ยกเว้นกัปตันจะได้เพิ่มอีก 10% ซึ่งจำนวนเงินเบี้ยเลี้ยงขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของแต่ละประเทศที่ทำการบิน และเวลาทำงาน ถ้าทำงานเกิน 12 ชั่วโมง จะได้เบี้ยเลี้ยง 100% ถ้าต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ก็จะได้ 50% ถ้าต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ก็จะได้ 25% การคิดค่าเบี้ยเลี้ยงจะนำเอาราคาอาหาร ณ โรงแรมที่ลูกเรือพักไปคำนวณ คืออาหาร 3 มื้อ บวก 20% สำหรับค่าบริการและภาษีเช่น เบี้ยเลี้ยงที่ประเทศญี่ปุ่น ในอดีต ช่วง 24 ชั่วโมง คือ 4,000 บาท ส่วนที่สิงคโปร์คือ 2,500 บาท เบี้ยเลี้ยงจะเริ่มต้นจากเวลาตามตารางการบินที่ออกจากกรุงเทพฯ และจบที่เวลากลับถึงกรุงเทพฯ เช่นออกเวลา 09.00 น. บินไปญี่ปุ่นแล้วกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้นเวลา 16.00 น. จะได้เบี้ยเลี้ยงหนึ่งวันครึ่ง คือ 6,000 บาท ส่วนบินไปสิงคโปร์ ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 19.00 น. แล้วกลับถึงกรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้น เวลา 09.00 น. จะได้เบี้ยเลี้ยงหนึ่งวัน คือ 2,500 บาท ซึ่งนับเป็นระบบที่ดี และการจัดตารางการบินก็จะเฉลี่ยเพื่อให้ทุกคนมีรายได้ทัดเทียมกัน แต่ระบบที่ดีเช่นนี้กลับถูกทำลายลง เพราะมีการ “ล่าเบี้ยเลี้ยง” จากสาเหตุนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงระบบเบี้ยเลี้ยงหลายครั้ง และยิ่งเปลี่ยนก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างนักบินกับพนักงานต้อนรับ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

 

 


          เกี่ยวกับปัญหานักหิ้ว กรมศุลกากร เตรียมมาตรการที่เข้มข้นขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่า “ดับฝันนักหิ้ว” ด้วยการใช้เครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานกระเป๋าทุกใบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีต้นปี 2563 นี้ โดยจะทำงานร่วมกับสายการบินไทย เพื่อสกัดจับลูกเรือที่ลักลอบหิ้วสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษี หลังจากพบว่าในรอบ 11 เดือน สามารถจับสินค้าเลี่ยงภาษีพุ่งสูงถึง 90 ล้านบาท


          นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร บอกว่า กรณีลูกเรือการบินไทยถูกจับหลังลักลอบหิ้วสินค้าแบรนด์เนมจากประเทศอิตาลีเข้าประเทศไทยนั้น ทางศุลกากรได้ประสานกับทางสายการบินเพื่อสกัดจับลูกเรือที่รับหิ้วสินค้าเเละเลี่ยงภาษี เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังมีผลต่อภาพลักษณ์ของสายการบินด้วย ที่ผ่านมาได้มีการจับกุมลูกเรืออย่างต่อเนื่อง สินค้าที่นิยมหิ้วเข้ามาส่วนใหญ่เป็นกระเป๋า นาฬิกา เข็มขัด น้ำหอม โดยที่ศูนย์ลูกเรือการบินไทย ทางกรมศุลกากรมีการอำนวยความสะดวก มีช่องทางการสำแดงสิ่งของ หรือ “ช่องแดง” และ “ช่องเขียว” ไว้อยู่เเล้ว หากนำสินค้าที่มีมูลค่าสูงกกว่า 20,000 บาท ก็ควรสำเเดงเพื่อเสียภาษีอากรปากระวาง

 

 

 

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

ชัยยุทธ คำคุณ

 


          “กรมศุลกากร อยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งเครื่องเอกซเรย์กระเป๋าคร่อมสายพานกระเป๋า จำนวน 23 เครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะใช้งานได้ช่วงต้นปี 2563 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งของต้องห้าม และตรวจจับสิ่งของผิดกฎหมายได้มากขึ้น” นายชัยยุทธ กล่าวย้ำ และว่า การจัดเก็บรายได้ ช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรได้จับกุมสินค้าแบรนด์เนมที่เลี่ยงภาษีได้มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าที่ ทั้งปีจับกุมมีมูลค่า 60 ล้านบาท ส่วนรายได้รวม ปีงบประมาณ 2562 (1 ต.ค.2561-3 ก.ย.2562) จัดเก็บรายได้ศุลกากร จำนวนกว่า 100,312 ล้านบาท


          ทว่ามาตรการการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะพิธีการศุลกากรที่ปฏิบัติกับบรรดาลูกเรืออาจเป็นช่องโหว่ ให้ลูกเรือสายการบินต่างๆ อาศัยตรงนี้เสี่ยงดวงหิ้วของตามออเดอร์ เนื่องจากลูกเรือและทูตต่างประเทศเมื่อลงจากเครื่องจะผ่านช่องเอกสิทธิ์ทูตต่างประเทศและลูกเรือ (FOREIGN DIPLOMATS AND CREW) ซึ่งศุลกากรจะทำการสุ่มตรวจสำภาระ หรือไม่ตรวจเลย เว้นแต่ได้รับแจ้งเบาะแส หรือมีข้อมูลการลักลอบกระทำผิด ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นลูกเรือคนไทยก็มีความไว้ใจปล่อยผ่าน หรือบางครั้งอาจจะทำเป็นปิดตาข้างเดียว เพราะเรื่องลูกเรือหรือผู้โดยสารรับหิ้วของไม่ใช่เพิ่งเกิดแต่มีมานานแล้ว อยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะจริงจังและเข้มงวดแค่ไหน

 

 

 

ดับฝัน.. นักหิ้วพรีออเดอร์ 

 


          ขณะที่ นายสุธีรัชต์ ศิริพลานนท์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด เผยว่า บริษัทมีนโยบายที่จะป้องปรามและปราบปรามพนักงานที่มีพฤติกรรมนำสินค้าผิดกฎหมายและนำสินค้าเกินจำนวนที่ศุลกากรกำหนดเข้าประเทศไทยและเลี่ยงการเสียภาษีให้หมดจากการบินไทย โดยบริษัทได้มีการติดตามดูพฤติกรรมของพนักงานที่น่าสงสัยและประสานงานกับศุลกากรอย่างต่อเนื่อง พร้อมช่วยแจ้งเบาะแสให้ศุลกากรทราบเพื่อตรวจจับ นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษพนักงานที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ตามระเบียบของบริษัท ซึ่งโทษสูงสุด ถึงขั้นไล่ออก นอกจากนี้จากกรณีดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการลงโทษทางวินัยกับพนักงานคนดังกล่าว และจะดำเนินนโยบายปราบปรามผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ให้หมดไปจากการบินไทย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเพื่อชื่อเสียงของบริษัทอีกด้วย


          ต้องรอติดตามว่ามาตรการที่เข้มงวดจริงจังของกรมศุลฯ และการบินไทยจะแก้ปัญหาดับฝันนักหิ้วพรีออเดอร์ได้มากน้อยขนาดไหน..!!

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ