คอลัมนิสต์

คลี่ปม นปช.ไม่ผิด'ก่อการร้าย'แต่ชดใช้ค่าเสียหายวางเพลิง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้ว่าแกนนำ นปช. อย่าง ตู่-เต้น-กี้ร์ รอดคดีก่อการร้าย แต่ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกวางเพลิง.. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ที่นี่มีคำตอบ

      เกศินี แตงเขียว

     ศาลฎีกาเพิ่งออกหมายจับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ที่พากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีชรีสอร์ท เมืองพัทยาเมื่อปี 2552 หลังจากเบี้ยวไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัด ซึ่งแกนนำคนสำคัญที่ถูกออกหมายจับ ก็มีทั้ง นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ,นายนิสิต สินธุไพร,นายพายัพ ปั้นเกตุ ,นพ.วัลลภ ยันตรง และนายสิงห์ทอง บัวชุม 

       ก่อนหน้านี้ศาลได้พิพากษาคดีเกี่ยวกับแกนนำ นปช. ใน‘คดีก่อการร้าย’ แต่“จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช , “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช. , “อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง” แกนนำ นปช. และแกนนำคนอื่นๆ โล่งอกไปในยกแรก!!! พ้นข้อกล่าวหาคดีอาญาร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 , 135/2 โดย ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องทุกข้อหาไป เมื่อวันที่ 14 ส.ค.62

      ที่น่าสนใจ เหตุที่ยกฟ้องเพราะความผิด “ก่อการร้าย” จะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1)(2)(3) คือ

   1.ต้องมีลักษณะ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ

     2.กระทำการใดๆ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นประโยชน์สาธารณะ 

    3.กระทำการใดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

     โดยศาลวินิจฉัยว่า ในการกระทำดังกล่าวทั้ง 3 ข้อนั้น ‘ผู้กระทำ’ ต้องมีเจตนาพิเศษด้วยที่มีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ หรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

     โดย “ศาล” เห็นว่า แม้พยานโจทก์เบิกความระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ กับที่ประชาชนเรียกร้องการต่อต้านทำรัฐประหารนั้นไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย ส่วนที่ให้อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ขณะนั้น ประกาศยุบสภา-จัดเลือกตั้งใหม่ก็เป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมต่อการเรียกร้องทางการเมืองที่ทำได้ การเดินขบวน , ชุมนุม , ประท้วง , โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ส่วนที่แกนนำ นปช. ปราศรัยบนเวที ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุมหรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้มีการเผานั้น ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน

       แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน (22 ส.ค.62) “ตู่ จตุพร” , “เต้น ณัฐวุฒิ” , “กี้ร์ อริสมันต์” แกนนำ ก็ต้องยืดอก ยอมรับกับผลพิพากษาถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาคดีแพ่งอีกสำนวน ที่ตกเป็นจำเลยที่ 6,7,8 ซึ่งศาลฎีกาตัดสินให้ต้องร่วมรับผิดชดใช้โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์ 3 คูหาเปิดร้านนวดแผนโบราณ , ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และหอพักสตรี ย่านราชปรารภ เขตราชเทวี กทม. ซึ่งอยู่บริเวณประกาศพื้นที่ควบคุมชุมนุมที่มีการวางเพลิง เป็นเงิน 1,347,000 บาท , ชดใช้ให้คู่สามี-ภรรยา โจทก์ที่ 2-3 อีกรายละ 12 ล้านบาท ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ 10 คูหาประกอบธุรกิจส่วนตัว และที่พักอาศัย ย่านราชปรารภ เขตราชเทวีเช่นกัน กับ บจก.ยูแอลซี ซอฟแวร์ โจทก์ที่ 4 ด้วยจำนวน 6 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันถัดฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

     จากคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจย่านราชปรารภ 4 ราย ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงระหว่างการชุมนุมปี 2553 ซึ่งรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นพื้นที่ควบคุมโดยกำลังทหารภายใต้อำนวยการของ ศอฉ. ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งกับหน่วยงานรัฐไม่ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ละเลยไม่ควบคุมแก้ไขสถานการณ์ และแกนนำ นปช.ที่นำการชุมนุม 

      โดยศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง 3 แกนนำ นปช. รวมทั้งกระทรวงการคลัง , กระทรวงกลาโหม , กองทัพบก , กรุงเทพมหานคร , นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยร่วม โดยผู้ประกอบธุรกิจที่เสียหาย ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฎีกาชั้นสุดท้าย

         ขณะที่เหตุผล “ศาลฎีกา” มีคำพิพากษาแก้ให้ “3 แกนนำ นปช.” ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เงินต้นทั้งหมดรวมกว่า 31 ล้านบาทนั้น ก็เพราะเห็นว่าทั้ง “ตู่-เต้น-กี้ร์” อยู่ในกลุ่มหัวหน้าที่ชุมนุมและถ้อยคำที่แกนนำทั้งสามคนยอมรับว่าได้พูดปราศรัยในที่ชุมนุมนั้น มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวโดยไม่ต้องแปลความซึ่งล้วนเป็นการปราศรัยที่ยุงยงส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมร่วมแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ศอฉ.ต่อการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม ตามเงื่อนไขที่จำเลยเสี้ยมสอนปลุกเร้าเอาไว้ในคำปราศรัย โดยส่วนที่ “นายณัฐวุฒิ” จำเลยที่ 7 พูดไว้ที่เขาสอยดาวก่อนเกิดเหตุ 3 เดือนทำนองว่าหากเกิดเหตุตูมตามตกใจให้วิ่งเข้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ กับที่ “นายอริสมันต์” จำเลยที่ 8 ปราศรัยช่วงเดือน ม.ค.53 ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมนำน้ำมันเชื้อเพลิงมาทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นทะเลเพลิงนั้น ไม่ถือว่าแยกการกระทำเป็นคนละส่วนกันกับการชุมนุมใหญ่ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.53 

       เพราะทางนำสืบได้ความว่าการชุมนุม นปช. ทั้ง 2 ครั้ง เมื่อปี 2552 และวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.53 ออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของประชาชน เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน จึงเป็นข้อเท็จริงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคำปราศรัยของจำเลยต่อที่ชุมนุมของ นปช. ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน 

      ขณะที่คำพูดเช่นนั้นก็เป็นการยั่วยุปลุกเร้าให้ผู้ร่วมชุมนุมเกิดความโกรธแค้น ซึ่งจำเลยย่อมคาดหมายได้ว่าจะเกิดผลขึ้นตามคำปราศรัย ถือได้ว่าเจตนาเล็งเห็นผลว่าผู้ร่วมชุมนุมจะปฏิบัติตามคำเสี้ยมสอนในคำปราศรัยนั้น และแม้ “ตู่ จตพร” จำเลยที่ 6 ประธาน นปช.ไม่ได้ใช้คำพูดทำนองปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมตอบโต้อำนาจรัฐโดยการเผาบ้านเผาเมือง เพียงพูดลักษณะให้ไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดแต่จำเลยแสดงบทบาทเป็นหลักเป็นแกนนำคนสำคัญในการชุมนุมโดยตรงและอยู่ร่วมรับรู้การกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 7-8 ตลอดมา พฤติการณ์มีเหตุให้เชื่อได้ว่า ผลความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จากคำปราศรัยจำเลยที่ 6,7,8 เข้าลักษณะเป็นผู้ยุยุง ส่งเสริม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่บัญญัติ ให้ถือว่าผู้ยุยงส่งเสริมเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกัน ต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหม

     โดย “ศาลฎีกา” เห็นว่า แม้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูดปราศรัยต่อผู้ร่วมชุมนุมได้ แต่ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น และไม่มีสิทธิจะกุเรื่องราวขึ้นเพื่อสร้างสรรค์แรงจูงใจให้ผู้ร่วมชุมนุมรู้สึกสนุกสนานเพื่อจะได้ร่วมยืนหยัดในการชุมนุมต่อไป โดยไม่คำนึงถึงผลคำปราศรัยที่อาจกระทบกระทั่งจนเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้

    สำหรับ “นายทักษิณ” จำเลยร่วมที่ 11 ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ถ้อยคำและพฤติกรรมต่างๆ ที่ร่วมปราศรัยกับแกนนำ นปช.นั้น พูดชักจูงลักษณะให้คล้อยตาม ที่จะเป็นการยั่วยุและส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมเกิดความคิด ความรู้สึกโกรธแค้นต่อการกระทำของรัฐนั้น “ศาลฎีกา” เห็นว่า ขณะเกิดเหตุในพื้นที่ควบคุมมีแต่กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่ยังไม่ยอมออกจากพื้นที่ประจันหน้ากันอยู่เท่านั้น จนเมื่อเกิดการปะทะจนกำลังทหารต้องใช้กระสุนจริงยิงเพื่อกระชับพื้นที่กดดันจนแกนนำ นปช. ยอมประกาศสลายการชุมนุมจากแยกราชประสงค์ แต่ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนปักหลักในพื้นที่จนรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิว จึงชี้ให้เห็นว่าบุคคลก่อเหตุวางเพลิงนั้นจะเป็นบุคคลกลุ่มอื่นไม่ได้เลยนอกจากกลุ่ม นปช.ที่ยังคงดื้อดึงขัดขืนอยู่ในพื้นที่ควบคุมนั่นเอง

        ซึ่งหากกำลังเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำจุดตรวจต่างๆ ตามแผนปฏิบัติงาน ศอฉ.จะลงมือวางเพลิงเองก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายและไม่น่าเชื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนเชื่อฟังคำสั่งกระทำในสิ่งที่ไร้จิตสำนึกในหน้าที่ราชการ และหากเป็นผู้เผาทำลายที่การวางเพลิงกระจายหลายพื้นที่ คงยากที่จะเล็ดลอดไปจากการรู้เห็นของสื่อมวลชนต่างๆ ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่ที่ดูจากถ้อยคำที่ว่า “หาก ศอฉ.ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ขอให้พี่น้องประชาชนไปรวมตัวกันที่ศาลากลาง” นั้น ก็ยังไม่ใช่เป็นการยุยงส่งเสริมให้เผาทำลายทรัพย์สินของราชการ ถ้อยคำยังฟังไม่ถนัดว่าจะมีผลทำให้บุคคลในกลุ่ม นปช. เมื่อถูกกำลังทหารกระชับพื้นที่สลายการชุมนุมแล้วให้เผาทำลายอาคารของโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมรับผิด

     ส่วนจำเลยกลุ่มหน่วยงานรัฐนั้น เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหาร มีคำสั่งให้ประชาชนที่พักอาศัยบริเวณราชปรารภออกจากอาคาร จึงนับว่าเป็นไปเพื่อความปลอดภัย ป้องกันอันตรายแก่ชีวิต-ร่างกาย ความเสียหายที่อาจมีขึ้น ถือว่าเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามวิธีการ ภาวะวิสัย รวมทั้งพฤติการณ์ที่พึงปฏิบัติแล้ว

   จากคำพิพากษาทั้ง 2 คดีที่แม้ “3 แกนนำ นปช.” เป็นตัวละครเดียวกันซึ่งตกเป็นจำเลย แต่ถ้าเปรียบเทียบลักษณะความผิดที่ฟ้อง , พฤติการณ์ในคดี , คำพิพากษาในคดีอาญาคดีก่อการร้าย กับคดีแพ่งฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายแล้ว มีข้อแตกต่างในการพิจารณาอย่างสิ้นเชิง 1.คดีอาญามุ่งเน้นเจตนาพิเศษ กับพฤติการณ์ที่จะเป็นองค์ประกอบความผิดใน 3 ข้อ ส่วนคดีแพ่งลักษณะการละเมิดดูจากการมีส่วนร่วม ที่จะก่อให้เกิดการกระทำต่อผู้เสียหาย แม้จะไม่ใช่ทำโดยตรงแต่ถ้าฟังได้ว่า ยุยงหรือช่วยเหลือทำให้เกิดการละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 432 ก็ต้องร่วมรับผิดแล้ว 

        ดังนั้นแม้ไม่ชัดแจ้งในขณะนี้ว่าแกนนำ นปช. มีพฤติการณ์เข้าข่ายก่อการร้าย สะสมกำลัง อาวุธ ใช้กำลังประทุษร้าย แต่ที่แน่ๆ ในการนำสืบคดีแพ่งปรากฏข้อเท็จจริงให้ศาลฎีการับฟังเรื่องการใช้ถ้อยคำปราศรัยของแกนนำหลักที่ผู้ชุมนุมให้ความเชื่อมั่น แฝงนัยส่งผลให้ผู้ชุมนุมคล้อยทำตามได้ แม้จะไม่เป็นคำสั่งการโดยตรงแต่เป็นเสมือนแนวทางสร้างเงื่อนไขให้คิดตาม

     ดังนั้นแม้ “ตู่-เต้น-กี้ร์” 3 แกนนำ นปช. จะพ้นข้อกล่าวหาคดีอาญาก่อการร้ายในชั้นต้น ก็ไม่อาจปัดความรับผิดชอบทางแพ่งที่เกิดจากการปราศรัยซึ่งถ้อยคำนั้นทำให้เกิดการกระทบกระทั่งจนละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยตัวอย่างลักษณะคดีการชุมนุมทางการเมืองนอกจากกลุ่ม นปช.ถูกฟ้องคดีแพ่งชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นนั้น ก็มีกรณีของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ (พิพากษาเดือน มิ.ย.58) ให้ “13 แกนนำ พธม.” ชดใช้ร่วมกันชำระหนี้ จำนวน 522,160,947.31 บาท (คนละประมาณ 40,166,226 บาทเศษ) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 3 ธ.ค.51 ให้กับ “ทอท.” โจทก์ ที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดสนามบินปี 2551 ด้วย ขณะที่คดีอาญาฟ้องแกนนำ-แนวร่วม 98 รายนั้นคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่ผิดในคดีก่อการร้าย

       ซึ่งคดีฟ้อง “24 แกนนำ นปช.” ก่อการร้ายที่ศาลอาญายกฟ้องนั้น การตัดสินก็ยังเป็นเพียงวินิจฉัยยกแรกของศาลชั้นต้น เพราะตามกฎหมายอัยการโจทก์ยังใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดีได้อีก

      ก็แว่วๆ มาว่าฝั่งอัยการสำนักงานคดีศาลสูงที่รับผิดชอบการพิจารณายื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ กำลังตรวจดูเหตุผลทั้งในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อสรุปความเห็นจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ที่กำลังจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ 1 เดือนในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ก็ต้องตามดูบทสรุปคดีต่อไป

     ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศาลสั่ง 3 แกนนำ นปช. จ่าย 19.3 ล้านคดียุเผากรุง

                            :  แกนนำนปช. เฮ ศาลยกฟ้องคดีก่อการร้าย

                           

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ