คอลัมนิสต์

หมอลำคาร์นิวัล กับรัฐราชการไดโนเสาร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา บางปะกง 

 

 

 

          เมืองขอนแก่นมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงแหล่งพบไดโนเสาร์แห่งแรกของไทย และมีทีมฟุตบอลขอนแก่น เอฟซี ฉายา “ไดโนเสาร์พิฆาต”

 

          ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังสนั่นลั่นเมืองไดโนเสาร์เป่าแคน กรณีจังหวัดขอนแก่นและสำนักวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น จัดงาน  “หมอลำคาร์นิวัล 2562” ซึ่งใช้งบประมาณมากมายถึง 27 ล้านบาท

 

 

 


          สิ่งที่อยากจะเขียนถึงหมอลำคาร์นิวัล ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ ปีที่แล้ว 5 ล้านบาท และปีนี้ 27 ล้านบาท ก็เป็นหน้าที่การตรวจสอบของ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช.


          แนวคิด “หมอลำคาร์นิวัล” ที่จัดเลียนแบบเทศกาลรื่นเริงคาร์นิวัลของชาวคริสต์ในบราซิล ควรถูกชำแหละมาแต่ปีแรกๆ การจับเอา “หมอลำ” แต่งองค์ทรงเครื่องมาเดินบนถนนรอบเมืองขอนแก่นไม่ต่างจากขบวนแห่งานไหมขอนแก่น

 

 

 

หมอลำคาร์นิวัล กับรัฐราชการไดโนเสาร์

 


          “หมอลำคาร์นิวัล ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภูมิปัญญาหมอลำ หรือร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมอีสานที่มีมาอย่างยาวนานให้คงอยู่ตลอดกาล ไม่จางหายไป”


          รัฐราชการไทยคิดได้แค่นี้ หรือแม้แต่นักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยก็จ่อมจมอยู่กับวาทกรรม “อนุรักษ์วัฒนธรรมทางภูมิปัญญาหมอลำ”


          40-50 ปีที่ผ่านมา “หมอลำไม่เคยตาย” และไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย บรรดาศิลปินหมอลำได้เรียนรู้การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ส่งต่อกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น

 

 

 

หมอลำคาร์นิวัล กับรัฐราชการไดโนเสาร์

 


          จากหมอลำกลอนกลางลานดินสู่คณะลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน และลำซิ่ง ทุกวันนี้มีการยกคณะลำซิ่งขึ้นไปบนรถบรรทุกหกล้อ ย่อเวทีหมอลำ แสง สี เสียงไว้ในรถคันเดียวจนเกิดปรากฏการณ์ “หมอลำรถแห่”  


          นี่เป็นวัฏจักรของศิลปินหมอลำ ดุจเดียวกับสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ไม่มีวันหยุดนิ่ง


          ยกตัวอย่างเมืองขอนแก่นที่เป็นศูนย์กลางคณะลำเรื่องต่อกลอนทำนองแก่น ชาวคณะหมอลำเหล่านี้มีการปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย จึงดำรงอยู่ได้มาจนถึงวันนี้  




          แม้แต่ลำซิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลังก็มีจุดเริ่มต้นที่เมืองขอนแก่น โดยการบุกเบิกของแม่ราตรี ศรีวิไล 


          20 ปีก่อน แม่ราตรีจับมือกับบริษัทอีวีเอส ถ่ายทำการแสดงสด “คอนเสิร์ตลำซิ่ง” บันทึกไว้เป็นวิดีโอ และนำออกขาย ปราฏว่า ลำซิ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

 

 

 

หมอลำคาร์นิวัล กับรัฐราชการไดโนเสาร์

 


          สำนักวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่นที่จ้างลำเรื่องต่อกลอนคณะระเบียบวาทะศิลป์ และลำเพลินคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง มาแสดงนั้นเคยรู้บ้างมั้ยว่าพวกเขาดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดกันอย่างไร? 


          “ระเบียบวาทะศิลป์” เป็นหนึ่งในหลายสิบคณะหมอลำเรื่องทำนองขอนแก่นที่ยืนสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์


          เช่นเดียวกัน สุดยอดลำเพลิน “สาวน้อยเพชรบ้านแพง” ที่ใช้สื่อโซเชียลมาช่วยประชาสัมพันธ์และรักษาฐานเอฟซีหมอลำ จึงพอมีงานจ้างงานหา


          พ.ศ.นี้คนอีสานรุ่นใหม่ยุค “สตาร์ทอัพ” ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการสร้างธุรกิจเพลงป๊อปอีสาน พวกเขามีอายุเฉลี่ย 35 ปีเท่านั้น แต่สร้างรายได้เดือนละหลายสิบล้าน ทั้งจากยูทูบและงานโชว์


          ยกตัวอย่าง จ.อ.สุจินต์ กุลชนะรงค์ หรือ จินนี่ ภูไท นักปั้น นักเรียบเรียงดนตรี และนักแต่งเพลง จัดว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างงานเพลงป๊อปอีสาน มียอดวิว 100 ล้านวิวขึ้นไป

 

 

 

หมอลำคาร์นิวัล กับรัฐราชการไดโนเสาร์

 


          สตาร์อัพลูกทุ่งอีสานล้วนมีพื้นฐานมาจากหมอลำและดนตรีพื้นเมืองจึงประยุกต์ท่วงทำนองดนตรีอีสานให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่และถูกจริตเด็กอีสานรุ่น 15-16 ปี


          ทางที่ดีจังหวัดขอนแก่นและสำนักวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ไม่ควรมาจัดหมอลำคาร์นิวัลส่งเสริมและอนุรักษ์หมอลำอะไรหรอก เปลืองเงินเปลืองทอง แค่อีเวนท์ 3 วันไม่ได้ช่วยให้หมอลำรอดตายหรอก 


          เทศกาลงานบุญที่จะมาถึงในเดือนตุลาคมนี้ ชาวหมอลำทุกประเภทรวมถึงรถแห่หมอลำ ยังกังวลเรื่องน้ำท่วม ชาวนาไม่มีข้าวขายแล้วจะมีรายได้มาจากไหน บวกกับเศรษฐกิจรากหญ้าติดลบมาแต่ปีที่แล้ว กำลังซื้อถดถอย 


          ต่อให้ทุ่มเงิน 100 ล้าน หมอลำคาร์นิวัล 20 จังหวัดทั่วอีสาน ก็ไม่ตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน มันเป็นอีเวนท์การตลาดที่โครมคราม แล้วก็เงียบหายไป

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ