คอลัมนิสต์

โซเชียลอย่าสับสน กัญชา พ.ศ.นี้ ยังผิด กม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดความสับสนในสังคมออนไลน์หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉบับใหม่ประกาศใช้ ว่า กัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ที่จริงแล้วยังเป็นยาเสพติดอยู่

    ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

     หลังจากเกิดความสับสนในสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ถึง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉบับใหม่ล่าสุด ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ว่า กัญชาและกัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป     

        หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องออกมาชี้แจง คลายความมึนงง จากการตีความกฎหมาย ผิดไปจากข้อเท็จจริง 

        โดยเนื้อหาในประกาศกฎกระทรวง สธ. “กัญชา” หรือทุกส่วนของพืชกัญชาไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก ผล ลำต้น ยาง น้ำมัน ยังคงสถานะเป็นยาเสพติด ประเภท 5 โดยสิ่งที่ได้รับยกเว้นไม่ให้ถือเป็นยาเสพติด คือ แกนลำต้น เปลือกแห้ง สารสกัดบริสุทธิ์ที่มีสารเสพติดหรือ THC ไม่เกิน 0.01% ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่เป็นยาเสพติด 

         ส่วน “กัญชง”ที่อนุญาตปลูกเมล็ดพันธุ์ต้องได้รับการรับรองให้ THC ในช่อดอก-ใบ ไม่เกิน 0.3%

         ทั้งนี้ รายละเอียดในประกาศเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงฉบับใหม่ หรือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2562 ระบุชัดว่า กัญชา” (cannabis) และ“กัญชง” (hemp) ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่ให้ 5 สิ่ง ดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็น “กัญชา และกัญชง”

     1. เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์จากสิ่งดังกล่าว

      2. สารสกัด CBD บริสุทธิ์ร้อยละ 99 ที่ THC ผสมร้อยละ 0.01

       3. สารสกัด CBD หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่เป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และมีสาร THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.2

      4 .เมล็ดกัญชง หรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ซึ่งใช้เป็นอาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร

      5. น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งเป็นเครื่องสำอาง ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง

       ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีแรก ต้องใช้วัตถุดิบ “กัญชาหรือกัญชงที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกในประเทศไทยเท่านั้น”

     ประกาศดังกล่าว มีผลให้สารCBDบริสุทธิ์ยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดCBD ที่มี THCผสมไม่เกินร้อยละ 0.2 อาหารที่มีเมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชงผสม และเครื่องสำอางที่มีน้ำมันจากเมล็ดกัญชงหรือสารสกัด จากเมล็ดกัญชงผสม ตามเงื่อนไขข้างต้น ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 

       ขั้นตอนต่อไป กระทรวงสาธารณสุข จะต้องไปออกประกาศเกี่ยวกับยา สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง เพื่อกำหนดมาตรฐานในการนำเมล็ด น้ำมัน หรือสารสกัดดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนผสมใน ยา สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง ต่อไป

     ในส่วนของกัญชง ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 มีผลดังนี้

     1. กำหนดลักษณะของ “กัญชง” (Hemp) คือ พืชชนิดย่อยของกัญชา (Cannabis sativa L.) และมีTHC ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อน้ำหนักแห้ง

     2.กำหนดเงื่อนไขของ “เมล็ดพันธุ์รับรอง” คือ เมล็ดพันธ์กัญชง ที่จะขอให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศรับรอง เพื่อการอนุญาตให้นำไปใช้สำหรับการเพาะปลูกได้ตามกฎหมาย จะต้องมีลักษณะเป็นเมล็ดพันธุ์กัญชง (Hemp) ที่มี THC ในใบและช่อดอก เมื่อนำไปปลูก ไม่เกินร้อยละ 0.3 ต่อน้ำหนักแห้ง

     3.ลักษณะของกัญชงตามประกาศนี้ ไม่กระทบต่อ “กัญชง” ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกไปแล้ว และไม่กระทบต่อ “เมล็ดพันธุ์รับรอง” ที่ได้มีการประกาศรับรองไปก่อนหน้านี้

      4. ผลจากประกาศดังกล่าว กัญชง ต้องมีสาร THC ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อน้ำหนักแห้ง (ลดลงจากเดิมที่กำหนด ไว้ที่ร้อยละ 1 ) 

     นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาปลูกได้จะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์รับรองที่เมื่อปลูกแล้วต้องให้สาร THC ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ 0.3 

       กัญชา-กัญชง เปิดให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย และอุตสาหกรรม เท่านั้น

      นิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า ข้อยกเว้นให้สารสกัดจากพืชกัญชา หรือ CBD บริสุทธิ์ร้อยละ 99 ที่ THC ผสมร้อยละ 0.01 ไม่ถือเป็นกัญชา เพราะสารเสพติดในปริมาณดังกล่าว ไม่มีผลที่จะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ผู้ที่มีไว้ครอบครองเพื่อการรักษาทางการแพทย์สามารถพกพาติดตัวไปในสถานที่ต่างๆได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ