คอลัมนิสต์

เปิดไพ่ใบเด็ด "เสี่ยเปรมชัย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขอบวช-บริจาคเงิน- เลิกยุ่งอาวุธปืนตลอดชีวิต ก็เพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลยพินิจให้ลงโทษสถานเบา หรือรอลงอาญา

     เกศินี แตงเขียว

   เจ้าสัวเปรมชัย ยื่นคำแถลงขอบวช-บริจาคเงิน-เลิกยุ่งอาวุธปืนตลอดชีวิต ประกอบคำรับสารภาพของตนเองในฐานะจำเลยคดีครอบครองไรเฟิลทำได้ แต่โทษรอลงอาญาหรือไม่ เป็นดุลยพินิจศาล 

      จากที่ปรากฏในคดี ยื่นฟ้อง “นายเปรมชัย กรรณสูตร” ประธานบริหารอิตาเลียนไทยฯ ครอบครองอาวุธปืนไรเฟิลโดยไม่รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490      ซึ่งต่อมา “เจ้าสัวเปรมชัย” ให้การรับสารภาพ 

เปิดไพ่ใบเด็ด "เสี่ยเปรมชัย"

        แต่ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา 20 ส.ค.62 “เจ้าสัวเปรมชัย” ในฐานะจำเลย ได้มอบอำนาจให้ทนายความ ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพต่อศาล โดยระบุว่า จำเลยจะปฏิบัติ 3 ข้อ คือ 1.จำเลยจะขออุปสมบท (บวช) ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรือวัดอื่น เป็นเวลา 15 วันเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 2.จำเลยจะบริจาคเงินส่วนตัว 3 ล้านบาทเพื่อเป็นการสาธารณประโยชน์ และ 3.จำเลยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาวุธปืนอีกตลอดชีวิต 

        การยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพทั้ง 3 ข้อ ว่า ขอบวช-บริจาคเงิน- เลิกยุ่งอาวุธปืนตลอดชีวิต ของ“เจ้าสัวเปรมชัย” ก็เพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลยพินิจให้ลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษ (ที่เรียกว่ารอลงอาญา)

      ซึ่งต่อมาศาลพิจารณาคำแถลงดังกล่าวประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว จึงได้มีคำพิพากษาว่า “เจ้าสัวเปรมชัย” จำเลย มีความผิดตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ในข้อหา มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไรเฟิลไว้ในครอบครองจริง

เปิดไพ่ใบเด็ด "เสี่ยเปรมชัย"

     และเมื่อศาลพิจารณาประกอบรายงานการสืบเสาะประวัติจำเลยที่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกถึงที่สุดมาก่อน และจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ประกอบอาชีพการงานสุจริตมีความมั่นคง นิสัยความประพฤติในด้านอื่นโดยทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง 

      ประกอบกับจำเลยมีอายุมากแล้วมีโรคประจำตัวต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับประทานยาจำนวนมากทุกวัน ศาลจึงลงโทษสถานเบาจำคุก 1 ปี อันเป็นอัตราโทษขั้นต่ำสุดแล้ว ตามบทกฎหมายที่อัยการโจทก์ฟ้องซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี

        และก็ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลใช้ดุลยพินิจเห็นว่า มีเหตุบรรเทาโทษสมควรจะลดโทษให้กึ่งหนึ่งได้ จากที่จำเลยให้การรับสารภาพ ทำให้เห็นว่าจำเลยสำนึกถึงการกระทำความผิดอันเป็นการลุแก่ความผิด จึงเหลือโทษจำคุก 6 เดือน 

        แต่ศาลไม่รอลงอาญาให้ “เจ้าสัวเปรมชัย” เพราะจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก และจากประวัติของจำเลยปรากฏว่าเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว 2 คดีและยังมีคดีอื่นอีกที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ก็เป็นการใช้ดุลยพินิจของศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่เห็นว่ายังไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย

        จากคดี“เจ้าสัวเปรมชัย” ดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การทำคำแถลงประกอบคำรับสารภาพในคดีอาญาทั่วๆไป ทำได้หรือไม่ ? คำตอบ...คือ สามารถทำได้เสมอ โดยในคดีอาญาใดที่จำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยสามารถทำคำแถลงประกอบคำรับสารภาพได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นเหมือนการเขียนเหตุผลแสดงให้เห็นว่าจะลงโทษสถานเบาและถึงขั้นรอลงอาญาได้หรือไม่

       โดยการทำคำแถลงประกอบคำรับสารภาพนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจำเลยต้องทำหรือไม่ และไม่ได้มีการกำหนดว่าทำได้เฉพาะกรณีที่มีการสั่งสืบเสาะประวัติหรือไม่ แต่เป็นสิทธิของจำเลยที่จะให้ทนายช่วยร่างคำแถลงเสนอศาลให้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพก่อนจะพิพากษาคดี เพื่อให้ศาลรับรู้ถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวจำเลยโดยตรงเรื่องการศึกษา การงาน สุขภาพ ที่อยากให้มีในสำนวนอย่างครบถ้วน โดยที่จำเลยแต่ละคนจะมีเหตุผลเสนอให้ศาลดูประกอบดุลยพินิจแตกต่างกันไป ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอที่จะปฏิบัติในอนาคตอย่างที่ “เจ้าสัวเปรมชัย” ให้ทนายร่างก็เป็นได้

เปิดไพ่ใบเด็ด "เสี่ยเปรมชัย"

      แต่สุดท้าย…ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะลงโทษเท่าใดและจะให้รอการลงโทษ หรือไม่ หรือบางคดีศาลอาจใช้ดุลยพินิจโดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดแต่อาจรอการกำหนดโทษไว้ก่อนก็ได้ (ยังไม่กำหนดอัตราโทษว่าจำคุกหรือปรับเท่าใด) ทั้งนี้แล้วแต่รูปเรื่องหรือคดี 

      ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่มีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ (2) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ (3) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 5 ปีแล้วมากระทำความผิดอีกโดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ , ประวัติความประพฤติ , สติปัญญา , การศึกษาอบรม , สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย , อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัว ภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้”

        ดังนั้นเมื่อ “เจ้าสัวเปรมชัย” ยังมีโทษจำคุกในคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่ตัดสินไปแล้ว 2 คดีในศาลจังหวัดทองผาภูมิเรื่องครอบครองซากสัตว์ป่าฯ และคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 เรื่องเสนอสินบนเจ้าพนักงานกรมอุทยาน กรณีจึงไม่เข้าตามข้อกฎหมาย มาตรา 56 ที่มีบัญญัติไว้

      การใช้สิทธิยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทำได้ แต่ภายใต้กรอบกฎหมายที่บัญญัติให้ศาลใช้ดุลยพินิจนั้นก็ จะเป็นตัวกำหนดอีกอย่างหนึ่งว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเช่นไร...จะสมควรลงโทษสถานเบา หรือรอลงอาญาได้ !?!?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ